ตุ๊ด? เกย์? ฉันก็คือฉัน “อาร์ม นรวิชญ์” แก้มบ่มแดดและหมวกเบเร่ต์ ทำไมจะหล่อเท่และน่ารักพร้อมกันไม่ได้

27 13
Gay สเปกตรัม LGBTQIA+ ที่ดูเหมือนจะไม่ซับซ้อน เป็นเพศที่สังคมไทยเปิดรับ และเข้าใจตัวตนการมีอยู่ของเกย์และตุ๊ดมากกว่าเมื่อก่อนมาก แต่เกย์และตุ๊ดก็มีเส้นบางๆ คั่นอยู่ ไม่ใช่ตัวตนเดียวกันซะทีเดียว มาทำความเข้าใจความต่างของ Gay ในบริบทต่างประเทศและไทยกัน

ทำความรู้จักสเปกตรัม Gay ผ่านคุณอาร์ม

คุณอาร์ม นรวิชญ์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก "เห้ยแกฉันว่ามันสวย" กับซิกเนเจอร์ลุคสุดฉ่ำ แก้มแดงบ่มแดด พร้อมพ่วงตำแหน่งแบรนด์เลิฟเวอร์ DIOR (ดิออร์) จะแฟชั่นหรือเมคอัพก็ต้องมีดิออร์มาด้วยแทบตลอด ด้วยเอกลักษณ์และความเป็นตัวเองสุดโดดเด่น ทำให้คุณอาร์มเป็นที่จดจำของใครหลายๆ คน

ตุ๊ด? เกย์? ฉันก็คือฉัน

ถ้าถามว่าคุณอาร์มมองตัวเองเป็นสเปกตรัมไหน ก็ต้องดูที่บริบทเป็นหลัก ในภาษาอังกฤษไม่ได้มีคำเยอะเหมือนภาษาไทย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะฟันธงอัตลักษณ์ของตัวเอง คุณอาร์มก็เลยรู้สึกว่า ไม่ได้อยากจะดีไซน์ว่าตัวเองเป็นอะไร

"เราโตมา เราก็ตีกรอบว่าเราเป็นตุ๊ด แต่พอเราโตขึ้น ก็พบว่าความหลากหลายทางเพศยังมีอีกหลายสเปกตรัม ตุ๊ดก็อาจจะไม่ได้มีนิยามที่ตรงตัวกับสเปกตรัมของ LGBTQIA+ จะเป็น Gay (เกย์) ก็ไม่ใช่ คำว่าเกย์ในภาษาไทยมันจะมีความเอนเอียงไปทาง Masculine (ความเป็นผู้ชาย) มากกว่า แล้วคำว่าตุ๊ดมันอยู่ตรงไหน? กะเทยอาจจะพอตรงกับ Transgender (คนข้ามเพศ) ได้ แต่ตุ๊ดมันยากที่จะหาคำไหนในภาษาอังกฤษที่แปลได้ตรงตัว กลับกันถ้าเป็นบริบทต่างประเทศและภาษาอังกฤษ ก็มองว่าตัวเองเป็นเกย์ (Gay) หรือเควียร์ (Queer) เพราะแน่นอนว่าเราไม่ใช่เลสเบี้ยน (Lesbian), ไบเซ็กชวล (Bisexual) หรือทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) อยู่แล้ว"

เรียกตุ๊ดได้หรือเปล่า?

คำว่าตุ๊ดดูเหมือนคำธรรมดา แต่บางครั้งก็แฝงประเด็นที่อ่อนไหว ไม่ใช่ผู้ที่มีความหลากหลายทุกคนจะโอเคกับคำนี้ แต่สำหรับคุณอาร์มเองมองว่ามันอยู่ที่บริบท "คำสรรพนามต่างๆ มันอยู่ที่บริบทว่าใช้กับใคร อย่างอาร์มเพื่อนก็เรียกว่าตุ๊ด เป็นคำที่เรียกกันปกติอยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร และนอกจากบริบทแล้วก็ขึ้นอยู่กับความสนิทด้วย ไม่ใช่ว่าใครๆ จะมาเรียกเราว่าตุ๊ดแล้วจะโอเค"

กว่าจะเป็นตัวเองในแบบทุกวันนี้

คุณอาร์มเล่าว่าค้นพบตัวตนตั้งแต่ช่วงประถม "เราไม่ได้รู้สึกว่าเรากังวลกับการที่เราชอบผู้หญิง ตอนเด็กรู้สึกว่าเราโตมากับการเอาผ้าขนหนูมาห่อตัว เอามาทำเป็นผม ก็เหมือนการพบตัวตนของใครหลายๆ คน ตอนเด็กยังไม่ได้มีความรู้สึกชอบผู้ชายหรอก แค่มีกรี๊ดวี้ดว้ายเด็กผู้ชายบ้าง แต่พอเริ่มเข้ามัธยม ก็เริ่มรู้ตัวว่าเราชอบผู้ชายแล้ว และไม่ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้ชายทำกัน เช่น เขาเล่นกีฬากัน เราก็วาดรูป อ่านการ์ตูนแทน"

เธอเป็นมั้ย เป็นใช่มั้ย? คำถามยอดฮิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มักโดนถามกันมาตั้งแต่เปิดเผยตัวตน คุณอาร์มก็โดนคนรอบตัวตั้งคำถามถึงตัวตนของเขาตั้งแต่เด็กเช่นกัน

"ตัวเราเองอาจจะไม่ได้รู้สึกขนาดนั้นว่าเป็นนะ แต่คนรอบข้างเขาจะสัมผัสได้ว่าเป็น ก็จะมีโดนถามว่าเป็นรึเปล่า เราก็จะบอกว่า ไม่รู้สิ มันไม่ได้ปุบปับว่ารู้ตัวแล้ว บางทีก็ยังสงสัยกับตัวเองบ้างว่า เอ๊ะ หรือเราชอบผู้หญิงนะ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังโตเป็นวัยรุ่น" แต่พอค้นพบว่าเราเป็นแบบไหน ก็ยอมรับและเป็นตัวเอง และโชคดีที่คนรอบตัวคุณอาร์มก็คอยสนับสนุน

การอยู่กับตัวเองทำให้ค้นพบตัวตน

เห็นคุณอาร์มแต่งหน้าครีเอตลุคสวยๆ ตลอดแบบนี้ ความจริงแล้ว คุณอาร์มเพิ่งมาเริ่มแต่งหน้าจริงจังเมื่อช่วงเรียนป.โท หรือช่วงโควิด 2-3 ปีมานี้เอง "การได้เรียนป.โท ทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้เรียนรู้และค้นพบความชอบใหม่ๆ"

แต่ถ้าย้อนไปช่วงแรกที่แต่งหน้าจริงๆ ก็คือช่วงมหาลัยปี 1-2 ที่คุณอาร์มเริ่มใช้รองพื้น-คุชชั่นอย่างเดียว ถึงครอบครัวจะพอรับรู้ตัวตนของคุณอาร์ม แต่ก็ยังเกรงใจที่บ้านอยู่ "ช่วงแรกไม่กล้าแต่งแรงมาก เพราะยังไม่รู้ว่าเราจะสามารถแต่งได้ขนาดไหนและก็ยังเกรงใจที่บ้านอยู่ แต่ปัจจุบันก็คือแต่งแบบจัดเต็ม และก็กล้าบอกแล้วว่าแต่งหน้านะ"

ถ้าแต่งออกสาวน้อยกว่านี้ ก็ชอบเธอไปแล้ว

คุณอาร์มชื่นชอบการแต่งตัว สนุกกับการมิกซ์แอนด์แมตช์ เสื้อกั๊ก กางเกงขาสั้น-ยาว และการใส่หมวกเบเร่ต์ ก็เป็นสไตล์ที่แต่งแทบทุกวัน "เรารู้สึกว่าเราแต่งตัวแล้วดูน่ารัก แต่ผู้ชายที่คุยด้วยก็บอกว่าเธอแต่งแบบนี้ดูสาวมาก เธอแต่งตัวแมนแล้วดูหล่อกว่า ถ้าแมนกว่านี้นะ เราจะชอบเธอแล้ว ก็รู้สึกว่าแบบการที่เราเป็นแบบนี้ ทำให้ทุกคนจะไม่ชอบเราหรือเปล่า แต่มันก็เป็นเรื่องของเราที่จะเป็นแบบนี้ เขาไม่ได้เลี้ยงดูเราสักหน่อย คิดได้แล้วเราก็เทเขาเลย"  

การได้แต่งหน้า แต่งตัวในแบบที่ชอบไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ถ้ามีคนมาว่าก็ไม่ได้สนใจ ไม่ได้มีผลอะไรกับคุณอาร์ม “ถ้ามีผู้ชายมาว่า ในใจเราก็คงแบบเผือก! เรื่องของหล่อนจ้า มันทำให้ฉันมีความสุข เราได้เงินจากตรงนี้ด้วยซ้ำ แล้วมันทำไมหรอ มันทำให้คุณลำบากใจหรือเปล่า คนรอบข้างยังไม่มาหนักใจกับเราเลย แล้วคุณเป็นใคร ในเมื่อสิ่งที่ฉันทำมันไม่ได้ผิด ทำไมฉันต้องฟังเธอล่ะ เพื่อน คนรอบตัว ที่ทำงาน พ่อแม่ ยังไม่ว่าอะไรเลย แล้วเธอเป็นใคร!”

จมูกไม่แดง ไม่มีแรงมั่นใจ

เมคอัพลุคปัจจุบันของคุณอาร์มคือ หน้าต้องฉ่ำ แก้มต้องบ่มแดด และจมูกต้องแดง เป็นลุคซิกเนเจอร์ที่ช่วยบ่งบอกตัวตนของคุณอาร์มได้เป็นอย่างดี "ชอบละเลงแก้มบ่มแดดให้ดูมีสีและน่ารัก จมูกไม่แดงก็จะไม่มั่นใจเลย เราเป็นคนที่มีความขัดแย้งในตัวเองเบาๆ คืออยากแต่งหน้าแล้วดูน่ารักดูฉ่ำ อยากถ่ายรูปแล้วเราดูสวยให้เพื่อนชม ส่องกระจกแล้วสวย พร้อมออกจากบ้าน แต่บางทีก็ยังอยากดูหล่อ"

ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีสแตนดาร์ดถึงจะรีวิวได้

แม้คุณอาร์มจะรู้สึกว่าสื่อไม่ได้มีผลต่อการแสดงอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่บิวตี้ในสื่อกระแสหลักก็แอบกระทบกับคุณอาร์มอยู่บ้าง


"บางครั้งก็รู้สึกว่าจะทำรีวิวได้ต้องหน้าสวย หน้าเนียน หน้าเรียว ทำให้เวลามีสิวไม่ค่อยอยากรีวิว บางทีก็จะรู้สึกว่าเมคอัพสีนี้เราไม่มั่นใจบ้าง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่า การที่เราไม่แต่งหญิงแล้วจะรีวิวไม่ได้ อาจจะเพราะเราอยู่ในสังคมที่ดีด้วย สุดท้ายแล้วอยู่ที่ความมั่นใจ เพราะเรามั่นใจว่าเราสวย เราไม่ได้ตาโต ไม่ได้ผอม เรารู้สึกวันนี้แต่งหน้าสวย ก็รู้สึกอยากลงรีวิวก็ลง" 

หน้าไม่ได้มัน แต่ตั้งใจแต่งให้ฉ่ำโกลว์

และแน่นอนว่าด้วยความที่เป็นกึ่งๆ อินฟลูเอนเซอร์ ต้องโพสต์รีวิวอยู่เสมอ รวมถึงอวดลุคสวยๆ ก็โดนคอมเมนต์ที่ไม่สร้างสรรค์โจมตี "เราชอบแต่งหน้าให้ดูฉ่ำๆ แต่ก็เจอคอมเมนต์ว่าหน้ามันเหมือนหมูเลย” รู้สึกแย่มาก มันลดความมั่นใจไปเหมือนกันนะ ว่าเราแต่งหน้ายังไม่สวยหรอ หน้ามันเหมือนหมูจริงหรอ นี่เราแต่งอะไรผิดไปหรือเปล่า ก็ไม่ได้ไปตอบกลับหรือลบคอมเมนต์พวกนั้น แต่แคปแบบเบลอชื่อมาอธิบายหน้าเพจสิ่งที่เราแต่งอีกที เราอยากให้เขารู้ว่า ไม่ใช่ว่าเขาจะมาด่าอะไรใครก็ได้ อะไรที่เห็นแล้วไม่ชอบ ก็ไม่ต้องมาบอกให้คนอื่นรับรู้ด้วยก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนจะมีภูมิคุ้มกันคอมเมนต์แย่ๆ แต่ถ้ามาด่ากันในชีวิตจริง ด่ากลับแน่นอน"

เป็นตัวเองภายใต้บริบทที่เหมาะสม

แม้คุณอาร์มจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้มีคนมาตัดสินเรื่องการแต่งหน้า แต่งตัว และเป็นตัวเองได้อย่างอิสระ แต่ก็ยังต้องอยู่ในกรอบของความเหมาะสมในแต่ละบริบท "เรารู้สึกดีที่สังคมยอมรับเรา เราอยู่ในสังคมที่ทำงานที่อินเตอร์เนชั่นแนล จะแต่งหน้า แต่งตัวยังไงก็ไม่สำคัญเท่ากับผลงานที่เราทำ เราโชคดีที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ดีใจที่เราแต่งหน้าแล้ว ไม่ได้มีใครมาว่าหรือบอกเราว่าห้ามทำ เขาสนใจงานที่เราทำ ไม่ได้สนใจว่าเราจะแต่งหน้าแต่งตัวยังไง แม้จะออกไปหาพาร์ทเนอร์เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้าเป็นงานทางการ ยังไงเราก็แต่งตัวใส่สูทให้เรียบร้อยอยู่แล้ว"
บนโลกเรานี้ไม่ได้มีเพียงแค่เพศชาย-หญิง และโลกเรายังมีสิ่งที่ต้องค้นหาคำตอบอีกมากมาย ถ้าใครยังไม่ค้นพบตัวเอง หรือพบแล้วแต่โดนกีดกันการแสดงออกอัตลักษณ์ของตัวเอง คุณอาร์มก็บอกว่า

“สำหรับใครที่ยังคงค้นหาตัวตน มันต้องใช้เวลาไม่ต้องรีบร้อน และทุกอย่างต้องใช้เวลาที่ทำให้ทุกคนยอมรับ เราไม่สามารถทำให้ทุกคนมายอมรับเราได้ตั้งแต่แรก ช่วงที่เราค้นหาตัวเอง ถ้าเราเจอตัวเองแล้วโดนจำกัดสิทธิในสิ่งที่เราควรจะได้ เราก็ช่างหัวมัน เราก็ทำมันไปเลย ส่วนบริบทของครอบครัวต้องใช้เวลาพูดคุย ชาว LGBTQIA+ หลายคนก็ไม่ได้ชอบแต่งหน้า แต่งตัว ไม่ต้องตามกระแสทุกอย่างที่จะค้นหาตัวตน แค่เป็นตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขก็พอ” 

บิวตี้ไอเท็มที่คุณอาร์มขอแนะนำ

  • DIOR Backstage Rosy Glow สีไหนก็ได้สวยหมด สามารถปัดได้หลายระดับ
  • Elemis Dynamic Resurfacing Facial Pads ช่วยคลีนหน้าอีกทีหลังแต่งหน้า ผลัดเซลล์ผิว ป้องกันปัญหาสิว
  • DIOR Miss Dior EDP ฉีดได้หลายโอกาส ไปกินข้าวก็ได้ ออกงานก็ได้
ขอบคุณคุณอาร์มที่มาแชร์ประสบการณ์ และพูดคุยประเด็นความหลากหลายกับเรา จะเห็นได้ว่า ความสวยงามภายนอกและเพศสภาพ ไม่ได้มีบทบาทในการกำหนดคนที่นิยามตัวเองว่าเป็น Gay หรือตุ๊ดเลยจริงๆ นะ
อ่านบทสัมภาษณ์ชาว LGBTQIA+ เพิ่มเติม


sweetsong13

sweetsong13

A dreamer who loves to write
www.sweetsong13.com
sweetsong13@gmail.com

FULL PROFILE