ยาลดน้ำหนัก ยาอันตราย 1

0 5
ยาลดน้ำหนัก ยาอันตราย 1
ถ้าพูดคำว่า “ยาลดน้ำหนัก” เชื่อว่าทั้งคนที่กำลังมีปัญหาเรื่องน้ำหนัก หรือคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนัก ต่างก็รู้จักคำๆนี้เป็นอย่างดี แต่จะมีซักกี่คนที่รู้จัก “อันตราย” ของมันจริงๆ บางคนอาจจะไม่รู้เลย บางคนอาจจะรู้มาบ้างแต่ไม่กล้าค้นรายละเอียดเพิ่มเติมเพราะกลัวความจริง บางคนรู้โดยไม่ต้องค้นหาข้อมูลเพราะเกิดขึ้นกับตนเอง แล้วก็มีคนจำนวนหนึ่งในสังคมที่ทราบอันตรายดี และตั้งใจว่าจะลดน้ำหนักยังไงก็ได้แต่ขอไม่ใช้ยาลดน้ำหนัก
แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเป็นอย่างมาก ทั้งๆที่ปัจจุบันความรู้เรื่องอันตรายของยาลดน้ำหนัก ค่อนข้างจะเป็นที่แพร่หลาย แต่กลับมีคนจำนวนมาก ที่ยังคงเลือกที่จะลดน้ำหนักด้วยการทานยาลดน้ำหนักโดยมีมูลค่ารวมกันนับพันล้านบาท อาจจะเป็นเพราะว่ามันง่าย ราคาไม่แพง หรือบางคนอาจจะควบคุมตัวเองไม่ได้ ต้องให้ยามาช่วยควบคุม แต่เชื่อเถอะว่า ไม่มีอะไรที่ง่าย ราคาถูก แล้วยังได้ผลดีโดยไม่มีผลข้างเคียงอะไร
 
ไม่ว่าจะเคยรู้จักหรือไม่ วันนี้เรามาทำความรู้จัก “ยาลดน้ำหนัก” กัน โดยจะไม่เน้นคำศัพท์วิชาการ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายขึ้น ทราบไหมว่า โดยทั่วไปแล้ว ยาลดน้ำหนัก ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เราทานกันอย่างแพร่หลาย ทั้งโรงพยาบาล คลินิก และสามารถเข้าถึงได้ทุกคนแบบที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะใช้เพื่อเป็นยารักษาในกรณีที่บางคนมีน้ำหนักตัวเยอะมากและเริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ “เท่านั้น” และการทานยานั้นจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่าง “ใกล้ชิด ” เนื่องจากยาบางตัวที่ทานนั้น “มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ” แม้ในปัจจุบันและในอนาคตอาจจะมีการพัฒนายาลดน้ำหนักให้มีคุณสมบัติบางอย่างเปลี่ยนไป แต่ก็คงจะไม่แตกต่างจากที่เคยเป็นมา อันตรายจากยาลดน้ำหนักจึงไม่มีทางลดน้อยลง เรามาทำความรู้จักยาลดน้ำหนักกลุ่มหลักๆกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
 
1. กลุ่มยาลดความหิว(ที่ต้องเรียกเป็นกลุ่มเพราะมีหลายตัว ตามแต่คุณหมอแต่ละคนจะสั่งให้เรา)
ยาบางตัวดัดแปลงมาจากยาบ้า ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อควบคุมความหิว เวลาที่เราทานเข้าไปแล้วเราจะไม่หิว เพราะระบบประสาทถูกกดเอาไว้ เราจึงทานน้อยลง (น้ำหนักตัวเราก็ต้องลดลงเพราะเราทานน้อยลง) ยากลุ่มนี้แหละที่เวลาทานแล้วจะเกิดผลข้างเคียงแบบที่เจอบ่อยๆ ก็คือ กระสับกระส่าย ปวดหัว หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ คลื่นไส้ เบลอๆ ซึมเศร้า ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เหงื่อออก ท้องผูก อาการเหล่านี้เกิดจากการที่ระบบประสาทถูกกดเอาไว้นั่นเอง ดูอาการแต่ละอย่างเราจะเห็นเลยว่า มีผลต่อส่วนสำคัญของร่างกายทั้งนั้น สมอง หัวใจ ความดันโลหิต ระบบขับถ่าย น่ากลัวมากๆ
ที่สำคัญยาในกลุ่มนี้หลายๆตัวได้ห้ามการจำหน่ายแล้ว เนื่องจากจะทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว และยาส่วนใหญ่ไม่แนะนำให้ทานติดต่อกันเกิน 12 สัปดาห์ เพราะจะเป็นอันตรายได้ และแม้ว่าเราจะทราบว่ายาอะไรที่ห้ามจำหน่าย แต่ลองนึกดูว่า เวลาเราได้รับยาจากหมอ เราไม่มีทางทราบได้เลยว่ายานั้นคือยาอะไร หากหมอบอกว่าไม่ใช่ยาที่ห้ามจำหน่ายเราก็ต้องเชื่อตาม พอจะจินตนาการออกแล้วใช่ไหมว่าหากเราทานยาลดน้ำหนัก เราเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงแค่ไหน แต่ยังไม่หมด เพราะยังมียาอีกหลายกลุ่ม
 
2. กลุ่มยาเร่งการเผาผลาญ
ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทที่มีบทบาทในการควบคุมการใช้พลังงาน(การเผาผลาญ)ในร่างกายเรา เมื่อทานเข้าไปแล้วจะไปกระตุ้นให้ร่างกายเรามีการเผาผลาญมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ร่างกายเรามีการเผาผาญไขมันมากขึ้นนั่นเอง ผลข้างเคียงจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนต่อหัวใจของเรา นั่นคือหัวใจเราจะเต้นผิดจังหวะ และน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ช็อกได้ และผลข้างเคียงระยะยาวคือ อาจจะทำให้มีไขมันลดลงแต่กล้ามเนื้อขนาดใหญ่ขึ้น(ซึ่งคนที่เป็นผู้หญิงคงไม่ต้องการแน่ๆ)
 
3. กลุ่มยาขับน้ำ(ขับปัสสาวะ)
ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ตรงตัว คือช่วยให้ร่างกายขับน้ำออกจากร่างกายมากขึ้น ซึ่งปกติจะใช้บ่อยกับนักมวยที่ต้องการลดน้ำหนักเร่งด่วน ฉะนั้นพอเราทานน้ำหนักเราก็จะลดลงเร็วเนื่องจากเสียน้ำ แต่เมื่อเราทานน้ำมากขึ้นน้ำหนักก็จะกลับมาใหม่ ยาในกลุ่มนี้ไม่สามารถช่วยอะไรเราได้เลย จะมีแต่ผลเสีย ร่างกายจะสูญเสียน้ำ และสูญเสียเกลือแร่ไปด้วย จะทำให้มีอาการเพลีย และหากใช้นานอาจทำให้ไตพิการได้
 
4. ยากลุ่มที่ช่วยยับยั้งการดูดซึมไขมัน
ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ที่ระบบทางเดินอาหาร ด้วยการยับยั้งเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะช่วยยับยั้งการดูดซึมไขมัน ยาในกลุ่มนี้ไม่มีผลต่อระบบประสาทจึงไม่มีอาการผลข้างเคียงออกมาให้เห็นมากนัก แต่อาจจะเห็นได้จากการที่อุจจาระออกมาจะเป็นเมือกมันๆ
 
5. กลุ่มยาลดผลข้างเคียง
ยาในกลุ่มนี้หมายถึง ยาที่พยายามลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับร่างกายเราให้น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น หากท้องผูกก็เพิ่มยาระบาย หากน้ำตาลในเลือดสูงก็เพิ่มยาลดน้ำตาล หากมีซึมเศร้าก็เพิ่มยาลดอาหารซึมเศร้า ฟังแล้วดูน่าเศร้ามากกว่าดูดี เพราะเราต้องทานยาเพิ่ม เพราะผลข้างเคียงจากยาลดน้ำหนักที่เราทาน(แล้วเราจะทานมันไปทำไม)
ที่สำคัญคืออย่าคิดว่าผลข้างเคียงเหล่านี้จะเกิดขึ้นเฉพาะตอนเราทานยา เพราะยาเหล่านี้มีโอกาสตกค้างในร่างกายได้ แม้ว่าเราหยุดทานแล้วผลข้างเคียงต่อระบบประสาท หัวใจ ตับ ไต ฯลฯ ยังคงอยู่ในร่างกายเรา เพียงแต่ว่าอาจจะยังไม่ถึงเวลาแสดงอาการออกมาเท่านั้นเอง แล้ววันหนึ่งเมื่อสิ่งที่ตกค้างในร่างกายแสดงออกมา เราก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคตับ มะเร็ง ฯลฯ ก็อาจจะเกิดเรื่องเศร้าขึ้นกับเราได้ เหมือนข่าวที่หลายคนเคยได้ยินมา เช่น(ขออนุญาต สงวนชื่อและนามสกุล)
 
-          16 ธันวาคม 2545 หญิงสาวอายุ 27 ปีเสียชีวิตที่จังหวัดอ่างทอง เพราะทานยาลดน้ำหนัก จาก 100 กว่ากิโล ลดเหลือ 60กิโล โดยทานติดต่อกันนาน สุดท้ายหลังจากหยุดทานมาปีกว่าก็เสียชีวิต(จาก ข่าวสด 17 ธ.ค. 2545)
-          12 ธันวาคม 2548 หนุ่มหัวหน้าสถานีอนามัย อายุ 30 ปี ต้องการลดเพียง 6-7 กิโล ทานยาลดความอ้วนพร้อมเครื่องดื่มบำรุงกำลัง หัวใจวายตายที่จังหวัดราชบุรี(คมชัดลึก 13 ธค 2548)
-          ธันวาคม 2548 หญิงสาวอายุ 26ปี ทานยาลดความอ้วน ที่จ่ายโดยคลีนิคในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพ จนสูญเสียความทรงจำไปนานถึง 3 ปี(คมชัดลึก 18 ธค 2548)
-          26 มีนาคม 2550 นักเรียนหญิง ม.4 อายุ 16 ปี ชาวนครราชสีมา เสียชีวิตเพราะทานยาลดน้ำหนัก แล้วไตวายเฉียบพลัน(คมชัดลึก 30 มีค 2550)
-          20 สิงหาคม 2550 หญิงสาวอายุ 36 ปี ชาวกรุงเทพ ทานยาลดน้ำหนัก จนคลุ้มคลั่งขังลูกไว้ในรถ เพราะประสาทหลอนว่าจะมีคนมาทำร้าย(คมชัดลึก 21 สค 2550)
 
และอีกมากมายทั้งที่เป็นข่าว และไม่เป็นข่าว สิ่งเหล่านี้พร้อมจะเกิดขึ้นกับทุกๆคน โดยเฉพาะคนที่คิดว่าไม่เป็นอะไร การที่เราเห็นคนนั้นไปทาน คนนี้ไปทานแล้วเขาไม่เป็นไร ไม่ได้แปลว่าเมื่อเราไปทานแล้วจะไม่เป็นอะไร เพราะว่าร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน เห็นไหมว่าคนที่ทานยาลดน้ำหนักเหมือนใช้ชีวิตอยู่บนเส้นด้าย ไม่รู้ว่าหวยจะออกที่เราหรือเปล่า…
 
วิเคราะห์-วิจารณ์
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงทำให้หลายคนสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่า เราควรจะทานยาลดน้ำหนักหรือไม่ แต่ถ้าให้มั่นใจ 1000% มีวิธีหาคำตอบง่ายๆก็คือ
1. ให้ถามหมอที่จ่ายยาว่า ถ้าหมออ้วน หมอจะทานยาลดน้ำหนักที่หมอจ่ายให้คนอื่นทานไหม
2. ให้ถามหมออีกว่า ถ้าพ่อแม่ แฟน ลูก ญาติ ของคุณหมออ้วน คุณหมอจะจ่ายยาลดน้ำหนักให้ทานไหม
 
เชื่อไหมว่ามั่นใจได้ 1000% เลยว่า คำตอบของทั้ง 2 ข้อก็คือ “ไม่ ” คำถามคือทำไมหมอถึงไม่ทำแบบนั้น หากเราถามหมอก็จะได้คำอธิบายว่า เพราะหมอรู้ถึงอันตรายของยาดี หมอไม่กล้าทานแล้วเราจะไปทานทำไม สำหรับใครที่กำลังทานอยู่ก็หวังว่าหลังจากอ่านจบ คงตัดสินใจได้ และหากเรามีคนรู้จักที่กำลังทานหรือคิดจะทานอยู่ อย่าลืมแนะนำเขาให้อ่านบทความนี้ เพราะเรื่องร้ายๆที่จะเกิดขึ้นกับคนรอบข้างเราสามารถป้องกันได้วันนี้
 
ขอบคุณบทความจาก
 


magichappen

magichappen

test

FULL PROFILE