สะท้อนด้านมืดของสังคมเกาหลีผ่าน Squid Game

50 18

ในโลกตะวันออก พวกเราต่างคุ้นเคยกับซีรีส์เกาหลี ด้วยพล็อทน่าสนใจให้เลือกเสพความบันเทิงกันอย่างหลากหลาย  ทั้งรูปลักษณ์สวยงามของนักแสดงที่มาพร้อมกับทักษะการแสดงสร้างความดึงดูดใจมากขึ้นไปอีก   คุณสมบัติพวกนี้เรียกว่าถูกจริตกลุ่มเป้าหมายในเอเชียเป็นยิ่งนัก   แต่มาถึงวันนี้   อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีก็สามารถพิสูจน์แล้วว่า  พวกเค้าไปได้ถึงระดับโลกได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่อยู่ในแวดวงของ award showหรือเทศกาลหนังเท่านั้น   แต่เป็นความสำเร็จระดับ fever ไปทั่วโลก   นั่นยังหมายถึงเส้นทางอันรุ่งโรจน์ที่ปูต่อไปในอนาคตของ K-Drama



ฮวัง ดงฮย็อค ผู้กำกับเปิดเผยเกับ Variety ว่าได้สร้างแรงบันดาลใจจากมังกะและอนิเมะเป็นเวลาหลายหลายปี ช่วงเริ่มต้นอาชีพ สถานะการทางเงินของเขาฝืดเคืองจนต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการอ่านการ์ตูนในคาเฟ่ รวมไปถึงการ์ตูนดังแนว survival gameอย่าง Battle Royale และ Liar Game และทำให้จินตนาการว่า หากได้เข้าไปร่วมในเกมเหล่านั้นแล้วจะเกิดความรู้สึกเช่นไร แต่มันดูเป็นเกมที่ดูซับซ้อนเข้าถึงยาก เขาจึงสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมาด้วยการใช้เกมแบบเด็กๆที่มีกติกาง่ายๆนั่นเอง


มีการตั้งข้อสังเกตว่า  หนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของซีรีส์เกาหลีคือถ่ายทอดภาพจากอุดมในคติ ผลงานเรื่องแล้วเรื่องเล่าได้โฟกัสถึงเรื่องราวชีวิตอภิสิทธิ์ชน  ตัวละครนำที่ดูสมบูรณ์แบบ  ไม่ว่าจะเป็น profileการศึกษา รูปร่างหน้าตา ฐานะทางการเงินและlifestyle เลิศเลอจนน่าอิจฉา   หรือถ้าเป็นตัวละครที่มาจากชนชั้นคนทำหามากินธรรมดา ในที่สุดก็สามารถไต่เต้าไปสู่ความสำเร็จได้อย่างงดงาม    อีกหนึ่งพล็อทที่เห็นกันได้บ่อยครั้ง คือการต่อสู้กับอำนาจมืดของกลุ่มธุรกิจและข้าราชการคอร์รัปชั่น      เหล่าผู้พิทักษ์ความยุติธรรมจำต้องใช้ความสามารถในระดับอัจฉริยะรวมไปถึงพลังเหนือธรรมชาติโค่นตัวร้ายให้พินาศ     การสื่อให้เห็นถึง 'ความพิเศษ' เหล่านี้ปรากฏให้เห็นบ่อยซะจนน่าจะเรียกได้ว่าเป็น trademark ของซีรีส์เกาหลี  เมื่อไล่เรียงถึงซีรีส์เรตติ้งสูงลิบลิ่วทั้งในเกาหลีและประเทศอื่นๆในเอเชีย  จะพบได้ว่า  จะขาดภาพในอุดมคติเช่นนี้ไปไม่ได้เลย

แม้จะมีผู้สร้างผลงานหลากหลายที่ฉีกแนวออกมา  รวมถึงละครดราม่าที่เผยถึงชีวิตชนชั้นคนทำมาหากินที่แต่มักจะมาในรูปแบบของ
 'มัคจัง' หรือละครพล็อทน้ำเน่าเหนือจริงโกยเรตติ้งจากผู้ชมวัยผู้ใหญ่    แต่นั่นก็ดูห่างไกลกับยุทธวิธีตีตลาดในโลกตะวันตกเหมือนกับ K-Pop เคยทำสำเร็จมาแล้ว       

พวกเราอาจเคยลุ้นสุดตัวกับผลงาน Horror บีบหัวใจให้สั่นสะท้านจากผลงานหนัง-ซีรีส์เกาหลีมาแล้วหลายครั้ง การใช้เทคนิคแบบ cliffhanger หรือฉากเลือดสาดก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ Squid Game มีเสน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดใจจนสามารถก้าวขึ้นแท่นอันดับ1 ของ Netflix สร้างปรากฏการณ์ความคลั่งไคล้ข้ามทวีป ตัวละครนำส่วนใหญ่อยู่วัยกลางคน ไม่focusเรื่อง beauty standards อันขึ้นชื่อลือชาของสังคมเกาหลี เรียกว่าซูมให้เห็นทุกรูขุมขนและริ้วรอยความเหนื่อยล้า แต่รูปลักษณ์ของนักแสดงไม่ได้ข้องเกี่ยวกับเสน่ห์ของซีรีส์แต่อย่างใด

 จากสถิติที่ผ่านมา ซีรีส์ที่กวาดเรตติ้งจนเข้าไปอยู่top10 จะเป็นซีรีส์ภาษาอังกฤษ มีเพียง Money Heist จากสเปนและ Lupin จากฝรั่งเศสเที่เข้าไปฟาดฟันกับผลงานจากฝั่ง Hollywood ได้  แต่ก็เป็นผลงานจากโลกตะวันตกอยู่ดี   แต่ความสำเร็จชั่วข้ามคืนของซีรีส์เกมเลือดสาดได้สร้างความสั่นสะเทือนไปหลายวงการ  สถิติการเข้าชมเกินร้อยล้านในระยะเวลาเพียงสั้นๆ ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมั่นใจว่า เกาหลีได้ก้าวข้ามคำปรามาสว่าเป็น 'ม้ามืด' จากนักวิจารณ์ในโลกตะวันตกได้อย่างเต็มภาคภูมิ พิสูจน์ได้จากรายงานการลงทุนของ Netflix ที่ตั้งเป้าอัดฉีดจำนวนเงินถึง 500 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างคอนเทนท์เกาหลีออกมากอบโกยความสำเร็จในอนาคต



แม้ชาวเอเชียนอย่างเราจะคุ้นเคยกับกระแสความนิยมเกาหลีหรือ Hallyu กันมานาน แต่กระแสอันร้อนแรงของซีรีส์เรื่องนี้ที่ทำให้ตัวเลขผู้สมัครลงเรียนภาษาเกาหลีพุ่งสูงปรี๊ดในอเมริกาและอังกฤษ คงไม่ต้องบรรยายมากมายกับการแสดงออกอย่างคลั่งไคล้สารพัดรูปแบบของชาวเน็ท แม้แต่ในประเทศจีนที่ไม่อนุญาตให้ผู้คนเข้าชม Netflix ก็ยังมีผู้เสาะหาช่องทางเข้าถึงซีรีส์ดัง สินค้าต่างๆที่เกี่ยวกับ Squid Game เริ่มขายดิบขายดีเหมือนกับประเทศอื่น


สำหรับชาวเกาหลี ภาพการละเล่นแบบดั้งเดิมทำได้สะท้อนช่วงเวลาวัยเด็กและหันกลับไปสัมผัสความทรงจำนั้นด้วยการจับจ่ายซื้อหาสินค้าที่ปรากฏในซีรีส์ แต่สำหรับชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะ generation ที่ยึดติดกับเทคโนโลยีใหม่ๆและsocial media นี่คือสิ่งที่แปลกใหม่สร้างความประทับใจจนบางคนเปรียบเทียบว่า ดูไม่ต่างจากกระแสความนิยมstyle ยุค90sในหมู่ Gen Z ทำให้บรรดา content creator รีบค้นคว้าหาความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้เกมต่างๆมานำเสนอให้เข้ากับกระแสอันร้อนแรง ไม่น่าประหลาดใจว่า ชาวเกาหลีจำนวนมากจะรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อได้เห็นชาวต่างชาติได้ร่วมชื่นชมวัฒนธรรมของพวกเค้าจนกลายเป็นเทรนด์ดังกระหึ่ม


Squid Game ตีแผ่ถึงด้านมืดของสังคมเกาหลีไม่ต่างจาก Parasite  


ปรากฏการณ์ความสำเร็จของซีรีส์เรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกันกับ Parasite หนังเกาหลีได้ก้าวไปถึงรางวัลOscar และทำให้ผู้กำกับได้รับการเชิดชูในฐานะสมบัติของชาติที่ได้สร้างความภาคภูมิใจให้ชนชาติเกาหลี แต่ท่ามกลางกระแสความปลาบปลื้ม ก็ยังมีการแสดงความอึดอัดคับข้องใจที่โลกได้ประจักษ์ถึงความแตกต่างทางชนชั้นและภาพที่'ดิบ'ในแง่ของความเสื่อมเสีย สื่อตะวันตกหลายเจ้าเข้ามาทำ scoop เพื่อตีแผ่ชีวิตจริงอันขัดสนของชนชั้นแรงงานท จนทำให้ผู้ที่แนวคิดแบบหัวเก่าติว่า ไม่ต่างจากการประจานตัวเอง

แต่หลายคนการเห็นพ้องต้องกันว่า การนำเสนอแง่มุมที่บิดเบี้ยวไปจากจินตนาการอันสวยงามในอุดมคติแบบนี้เองที่ทำให้ Squid Game ก้าวข้ามความสำเร็จในฝั่งเอเชียไปสู่ความ main stream ระดับโลก เห็นได้จากซีรีส์ดังจาก Hollywood หลายเรื่อง
ที่ตีแผ่ปัญหาสังคมโดยไม่ใส่ใจกับภาพลักษณ์อันสวยงามน่าชื่นชม




Cedarbough Saeji นักวิชาการสาวชาวจากแคนาดาที่ศึกษาวัฒนธรรมเกาหลีและทำหน้าที่ผู้ช่วยศาตราจารย์ Pusan National University ได้ให้ความเห็นต่อ NBC ไว้ว่า

"มีความย้อนแย้งเกิดขึ้นมา เมื่อซีรีส์เกาหลีได้สร้างความสำเร็จถล่มทลายไปทั่วโลกได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวเกาหลี แต่การเปิดโปงสังคมเกาหลีผ่านซีรีส์ก็สร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ"

"ชาวเกาหลีชื่นชอบที่ได้เป็นเบอร์หนึ่ง  แต่ถ้าเป็นเบอร์หนึ่งจากการตีแผ่เรื่องราวที่น่าละอายมันก็เป็นอีกเรื่อง"



ภาวะหนี้สินของคนเกาหลี



มีการวิเคราะห์ว่า ความโหดร้ายของมนุษย์ที่สะท้อนผ่านซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ฉากเลือดสาดของผู้คนที่ต้องฟาดฟันกันเองเพื่อคว้าเงินเป็นพันล้าน แต่ยังสะท้อนภาพอันไม่โสภาของสังคมอย่างไม่อ้อมค้อม จากตัวละครนำที่ถูกสังคมกำหนดให้เป็น'ขี้แพ้' ใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวังไปวันๆด้วยการกู้หนี้ยืมสินจนถูกไล่ล่าให้จนตรอก แต่คนยากจนที่ปรากฏในซีรีส์ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวที่ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินรัดตัว แม้แต่ผู้ที่มีหน้าที่การงานมั่นคงและใดูภายนอกเป็นผู้ใช้ชีวิตใน lifestyle ที่หรูหราก็อาจจะตกอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่จนไร้ทางออกเช่นเดียวกัน

สื่อได้ขอสัมภาษณ์นายLee คนงานในบริษัทรถยนต์Ssangyong Motors ที่ถูกเลิกจ้างพร้อมกับพนักงานกว่าสองพันคน เพื่อบรรยายความรู้สึกหลังจากได้ชม Squid Game ว่า บางฉากก็ทำให้รู้สึกหนักจนเต็มกลืน จากที่ได้เห็นชีวิตของตัวละครนำที่ตกต่ำจากการถูก lay off จากบริษัทรถยนต์(แม้แต่ชื่อของบริษัทในซีรีส์ก็จงใจตั้งว่ามังกรเหมือนกัน)  เขาต้องพบวิกฤติทางการเงินจนต้องยื่นขอเป็นบุคคลล้มละลาย แม้จะร่วมใจต่อสู้ด้วยการประท้วงติดต่อกันหลายปีจนได้งานกลับคืนมา แต่ก็ยังฝังใจกับความทุกข์ทนจากการดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เพื่อนบางคนก็สิ้นหวังจนเจ็บป่วยทางจิตใจและฆ่าตัวตายเพื่อหนีทุกข์


นายเซ วุงกู ผู้ก่อตั้ง Koreaexpose.com ได้วิจารณ์ว่า

"เกาหลีดูเป็นประเทศร่ำรวย แต่ปัญหาหนี้สินของผู้คนในชีวิตจริงนั้นย่ำแย่กว่าที่ได้เห็นจากในจอซะอีก หนี้สินครัวเรือนของเกาหลีมีตัวเลขพอๆกับ GDP"

เขายังเล่าถึงเพื่อนชาวเกาหลีที่ทำงานออฟฟิศบริษัทโด่งดังว่า ใช้ชีวิตด้วยรายได้แบบเดือนชนเดือน ทั้งๆที่ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเลิศหรู มีบ้านมีรถและพาครอบครัวท่องเที่ยวบ้าง แต่ก็ยอมรับว่ากู้เงินมาใช้จ่ายเพื่อสิ่งเหล่านี้ และไม่สามารถหาเงินมาเคลียร์หนี้ได้ หากมีเรื่องฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินก้อน ก็ต้องกู้มาเพิ่ม ส่วนคนที่กู้จนไม่สามารถกู้ในระบบได้แล้ว ก็ต้องบากหน้าไปหาแกงค์เงินกู้นอกระบบซึ่งเปรียบเหมือนกับดัดอกเบี้ยที่สูงไม่สามารถผ่อนคืนได้ และต้องเผชิญกับระบบการทวงสุดโหดจนไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใด ตัวละครใน Squid Game จึงยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อจะแข่งขันเพื่อเงินมหาศาล


ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ


คิม เซจอง ทนายความเกาหลีที่ประจำในต่างประเทศได้บรรยายในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Seoul Shinmunไว้ว่า มีชาวต่างชาติเข้ามาทักทายเธอพร้อมกับบอกเล่าถึงความปลาบปลื้มต่อ Squid Game  พวกเค้ายังยิงคำถามแทงใจว่า เรื่องราวของแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบแบบอาลีได้เกิดขึ้นประเทศที่ร่ำรวยและมีระเบียบอย่างเกาหลีใต้จริงหรือ แต่เธอไม่สามารถหาคำตอบมาอธิบายได้เลย


คำว่าแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ลงทะเบียนฟังดูเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาสำหรับหลายคน จากความเช่อว่า แรงงานที่ลักลอบเจ้าเมืองอย่างผิดกฏหมายนำมาแต่ปัญหา ทั้งยังเพิ่มอุปสรรคต่อชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางไปสู่เกาหลีใต้ แต่ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธ เพราะไม่เชื่อถือว่าเป็นการเดินทางมาท่องเที่ยวหรือทำกิจธุระ แต่ลักลอบเข้ามาใช้แรงงานหรือทำอาชีพสีเทา




ปัญหาของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ลงทะเบียนตามกฎหมายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายเท่านั้น CedarBough T. Saeji ได้อธิบายผ่าน NBC ว่า แรงงานที่เดินทางเข้ามาไขว่คว้่าโอกาสในการสร้างรายได้ส่งกลับไปจุนเจือครอบครัวต้องพบกับการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งจ่ายค่าจ้างไว้ต่ำแตกต่างจากตัวเลขที่รับรู้ผ่านนายหน้า บางคนหัวหมอจัดถึงขั้นยึดพาสปอร์ตและไม่ยอมจ่ายค่าแรงให้เลย จากข้อจำกัดของวีซ่าที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทที่จ้างมา ทั้งยังไม่ชำนาญภาษามากพอจะขอความช่วยเหลือหรือแจ้งความ แรงงานหลายคนต้องตกอยู่ในภาพไร้ทางเลือก กินอยู่อย่างแออัด และต้องเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ความหวังใหม่ที่จะหลุดพ้นต่อความยากลำบากคือการย้ายสถานที่ทำงาน แต่กลีบพลว่า ตัวเองต้องกลายเป็นแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนเพราะข้อจำกัดทางวีซ่า เมื่อคนรอบข้างรับรู้ ยิ่งถูกด้อยค่าลงไปอีก

ปัญหาสังคมดังกล่าวคือคำอธิบายว่า เหตุใดชายหนุ่มต่างชาติผิวเข้มที่เข้าร่วม Squid Game จึงใช้คำพูดยกย่องคนอื่นด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัว เพียงแค่มีคนที่ปฏิบัติกับเขาอย่างเท่าเทียมเหมือนเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ก็ฉายความรู้สึกซาบซึ้งออกมาจนทำให้ผู้ชมใจอ่อนยวบ

เรื่องราวของแรงงานต่างด้าวที่ถูกนายจ้างคดโกงไม่จ่ายค่าแรงและยังพิการจากอุบัติเหตุระหว่างการทำงานไม่ได้เป็นพล็อทดราม่าเรียกน้ำตาเท่านั้น ผู้สร้าง Squid Game ได้ใช้เรื่องราวของอาลีสะท้อนถึงความเป็นจริงอันโหดร้ายที่ยังเกิดขึ้นในสังคมเกาหลี ทำให้หลายคนตั้งความหวังว่า ปรากฏการณ์ของซีรีส์เรื่องดังจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในอนาคต



เชเคียร์ ข่าน แรงงานชาวอินเดียในโรงงานของเกาหลีได้ถ่ายทอดประสบการณ์กับ indianexpress.com ว่า  การติดตามอาลีใน Squid Game ก็ทำให้รู้สึกว่ากำลังดูเรื่องราวของตัวเองอยู่  เพื่อนของข่านเสียนิ้วมือไปถึง 4 นิ้วระหว่างการทำงาน โดยที่ไม่ได้รับค่าชดเชยด้วยซ้ำไป  ในฤดูหนาว เขาจะได้ยินข่าวคราวแรงงานหนาวตาย   ที่อยู่อาศัยของผู้ใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากไม่แตกต่างจากภาพความเป็นอยู่ของอาลี   พวกเค้าต้องอาศัยภายในไซต์ที่นายจ้างเตรียมตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงเป็นห้องพักเล็กๆ   บางแห่ง ฮีทเทอร์ก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะต่อสู้กับความหนาวเย็นได้   หลายเดือนที่ผ่านมา การเสียชีวิตกลางฟาร์มของแรงงานหญิงชาวกัมพูชาก็ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาแรงงานที่ถูกนายจ้างบีบคั้นให้ทำงานในสภาพแวดล้อมย่ำแย่จนมีข่าวแรงงานเสียชีวิตทุกปี  รัฐบาลจึงประกาศแผนปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน และการเข้าถึงบริการสาธารณสุข  



ชีวิตที่ยากลำบากในบ้านเกิด ทำให้ยังมีแรงงานอีกมากมายก้มหน้าก้มตาทำงานที่ถูกจัดในประเภท 3D (difficult, dangerous และdirty) แม้จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและใช้ชีวิตในเกาหลีแบบอยู่เกินกำหนดวีซ่า เปิดโอกาสให้ฝ่ายนายจ้างเอารัดเอาเปรียบโดยไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด แต่หลายคนยืนกรานจะทำงานต่อไป จากเหตุผลว่าฝ่าฟันอุปสรรคจนอยู่รอดมาได้แล้วถึงขนาดนี้ จึงไม่สามารถถอยหลังกลับไปเริ่มนับศูนย์ที่บ้านเกิดอันแร้นแค้นได้



ความทุกข์ของผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือ

คัง แซบยอก ไม่ได้เป็นตัวละครที่แกร่งที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่เธอเปล่งประกายจนก้าวอยู่ในกลุ่มตัวละครยอดนิยมแห่ง Squid Game รูปลักษณ์ที่ดูอ่อนเยาว์นั้นดูลึกลับและเต็มไปด้วยร่องรอยของมรสุมชีวิต จากที่เสี่ยงชีวิตหลบหนีความทุกข์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการในบ้านเกิดเกาหลีเหนือ ความฝันที่จะเริ่มต้นใหม่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวต้องพังลงไป มีเพียงเธอและน้องชายที่ข้ามฝั่งมาได้อย่างปลอดภัย

แต่แม้ว่าผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในเบื้องต้นเพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมสรีนิยมให้ได้ แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นผู้แปรพักตร์จากสังคมที่แตกต่างกันสิ้นเชิง ชีวิตใหม่อาจจะไม่สวยงามดังที่วาดหวังไว้ ชาวเกาหลีเหนือที่ปรับตัวได้ดีอาจจะเข้าสู่ระบบการทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองได้เร็วขึ้น โดยเริ่มต้นจากงานบริการหรือใช้แรงงานที่ไม่จำเป็นต้องมีทักษะมาก หากตั้งใจศึกษาต่อในระดับสูง ก็สามารถเปิดโอกาสให้เข้าถึงอาชีพที่มั่นคง แต่สำหรับผู้ลี้ภัยที่ไม่เคยรู้จักกับคำว่างานพาร์ทไทม์หรือไม่เคยผ่านประสบการณ์สัมภาษณ์งานมาก่อน ก็ยิ่งเพิ่มข้อจำกัดไปอีก  บางคนยอมรับว่า เพียงแค่ได้ยินสำเนียงเกาหลีเหนือ  นายจ้างก็ตัดบทซะแล้ว

สำหรับคัง แซบยอก การทำงานสุจริตอย่างเสิร์ฟอาหารหรืองานครัวเหมือนกับหญิงลี้ภัยเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ไม่เพียงพอต่อเป้าหมายสำคัญที่สุดในงชีวิต เธอมุ่งมั่นรวบรวมเงินจากการฉกชิงวิ่งราวเพื่อพาแม่ที่ถูกจับตัวที่เกาหลีเหนือและน้องชายในสถานเลี้ยงเด็กมาใช้ชีวิตด้วยกันอย่างมีความสุข


คำพูดเย้ยหยันจากชายร้ายกาจที่เรียกเธอว่านังสายสืบคอมมิวนิสต์อาจจะไม่ได้สะท้อนความคิดของคนในเกาหลีทั้งหมด แต่ก็ผลสำรวจของ National Human Rights Commission of Korea พบว่า ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือต้องพบกับประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติ แม้จะมีหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ และมีผู้ลี้ภัยที่พลิกชีวิตจนประสบความสำเร็จทางอาชีพการงาน แต่ยังมีอีกมากที่ต้องอยู่อย่างขัดสนกับค่าแรงขั้นต่ำ เด็กๆจะถูกจัดให้เข้าเรียนสำหรับผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ หากเข้าโรงเรียนทั่วไปในเกาหลีก็เสี่ยงจะถูก bully จากเด็กๆคนอื่น

ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาทางจิตใจจากความเจ็บปวดที่ต้องแยกจากครอบครัวโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีวันได้เจอกันอีกหรือไม่ หลายคนต้องรู้สึกผิดเพราะถูกหล่อหลอมให้เชื่อฟังตามการปกครองของทรราชมาแบบไร้ข้อโต้แย้งมาทั้งชีวิต background ที่แตกต่างก่อให้เกิดความแปลกแยกโดดเดี่ยวจนทำให้รู้สึกว่าเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่สังคมไม่ยอมรับโดยไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะผู้ที่ยังพูดติดสำเนียงเกาหลีเหนือและใช้วิธีการพูดแบบเกาหลีเหนือที่คนเกาหลีใต้ไม่เข้าใจ นั่นเป็นเหตุผลที่คัง แซบยอกพยายามซ่อนสำเนียงเกาหลีเหนือของตัวเองไว้ ภาพลักษณ์ที่ลึกลับไม่เปิดใจให้ใครเข้าถึงก็อาจจะมาจากประสบการณ์สุดรันทดดังกล่าวนั่นเอง




Tad Sarandos ผู้ดำรงตำแหน่งChief Content Officer แห่ง Netflixได้เปิดใจถึงความสำเร็จชั่วข้ามคืนของ Squid Game ว่า  แม้ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่า นี่จะเป็นผลงานที่เป็นอันโดดเด่นเป็น signatureจากเกาหลี แต่ไม่ได้คาดฝันถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกเช่นนี้ หลายคนเชื่อว่าแนวโน้มในการสร้างภาคต่อดูจะสดใส เพราะ Bela Bajaria ผู้บริหารฝ่าย global TV ได้เกริ่นออกมาแล้วว่า ผู้กำกับ Squid Game มี project อื่นๆรออยู่ จึงต้องหารือกันเพื่อแผนการจัดการที่ลงตัวสำหรับเขา

เมื่อสำรวจซีรีส์ยอดนิยมของ Netflix ในสิบอันดับแรก แทบทุกเรื่องยกเว้น The Queen’s Gambit ได้กำหนดสร้างภาคต่อ ซึ่งการต่อยอดความสำเร็จเช่นนี้ดูเป็นเรื่องปกติอย่างที่สุด ยิ่งเป็นซีรีส์ที่สร้างกระแสถล่มทลายถึงเพียงนี้ ก็ยิ่งสร้างความคาดหวังจะได้เห็นการประกาศสร้าง Squid Game ซีซัน2 อย่างเป็นทางการ

แล้วคุณล่ะ อยากจะเห็นการกลับมาของเกมตีแผ่ความเป็นมนุษย์ที่ดิบจนกระชากหัวใจกันอีกครั้งหรือเปล่า?


The End




candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE