Cultural appropriation:คิดกันยังไงกับดราม่าผมเปีย ?

54 17

การฉกฉวยทางวัฒนธรรมได้กลายมาเป็นประเด็นขัดแย้งสร้างเสียงถกเถียงในสังคมออนไลน์อย่างไม่รู้จบ   ทำให้เกิดการแบ่งฝักฝ่ายด้วยอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน   นั่นคือ
 
  • กลุ่มที่ต่อต้านไม่ให้มีการใช้วัฒนธรรมต่างเชื้อชาติ และเรียกร้องให้ทุกคนศึกษาถึงความเสียหายเมื่อเกิดการฉกฉวยทางวัฒนธรรม

  • กลุ่มที่ไม่เชื่อถือเรื่องการฉกฉวยทางวัฒนธรรม  และมั่นใจว่านี่คือกลไกทางสังคมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  ไม่ใช่ปัญหาการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและสีผิวแต่อย่างใด



เพราะอะไร จึงมีการต่อต้านการฉกฉวยทางวัฒนธรรม?

มีผู้ได้แสดงเหตุผลที่ไม่พอใจเมื่อคนเชื้อชาติอื่นหันมาถักผมเหมือนกับผู้ที่มีเชื้อสายผิวดำไว้ดังนี้

  • สังคมมักมีสองมาตรฐานในเรื่องการผมเปียของคนดำในรูปแบบ cornrows, box braids และ dreadlocks มักจะพบกับอคติของคนรอบข้างที่เชื่อว่า ผมของพวกเค้าสกปรก ดูไม่เป็นระเบียบ เกะกะสายตา  ดู low class  

  • ย่ำแย่ไปกว่านั้นเปียอาจจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต เช่น พนักงาน ในงานหมวดหมู่บริการได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนทรงผม  และวิชาชีพอื่นที่หากทำผมเช่นนี้แล้วจะดูไม่professional หรือน่าเชื่อถือ

  • ในขณะที่คนเชื้อชาติอื่นเลียนแบบทรงผมแล้วกลายเป็นความโก้เก๋  ให้ความรู้สึกแตกต่างจนน่าดึงดูดใจ  ไม่ต้องถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยาม

  • คนผิวดำต้องพบกับประสบการณ์ถูกคนเชื้อชาติอื่นbully เรื่องผมหยิกฟูมาตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้ก็ยังมีดราม่าครูละเมิดเด็กด้วยการตัดผมอยู่  และยังมีโรงเรียนที่ไม่สนับสนุนทรงผมแบบคนดำจนไม่มีตัวเลือกมากนัก ทำให้ต้องรู้สึกกดดันมาโดยตลอด

  • คนเชื้อชาติอื่นสามารถสร้างประโยชน์จากทรงผมเหล่านี้  ไม่ว่าจะเป็น ดีไซน์เนอร์  นักร้อง นักแสดง   แต่พวกเค้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนดำ  จึงกล่าวหาว่าฉกฉวยไปแต่สิ่งดีๆ แล้วเมินเฉยต่อความทุกข์ของเจ้าของวัฒนธรรม


Amandla Stenberg นางเอกสาวจาก The Hunger Games ได้อธิบายไว้ว่า

" การฉกฉวยทางวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นและสื่อไปถึงแง่ที่เหยียดเชื้อชาติหรือเป็นการเหมารวมก็ต่อเมื่อกลุ่มอภิสิทธิ์ชนนำวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้อื่นมาใช้เพื่อแสดงความเป็นแฟชั่นชั้นสูง  ทันสมัย หรือดูตลกขบขัน"

"วัฒนธรรม Hip-hop ต่อยอดมาจากชีวิตที่ยากลำบาก แตกสาขาจากดนตรี Jazz และ Blue  อันเป็นดนตรีที่ชาวAfrican-Americanได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อคงความเป็นมนุษย์เอาไว้ด้วยบทเพลงถ่ายทอดความรู้สึกและเอาชีวิตรอดเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ยากที่ต้องตกเป็นทาส"



"แต่สำหรับกลุ่มคนผิวดำ ผมเปียและcornrowsไม่ใช่สไตล์ดูดีเท่านั้น แต่เป็นวิธีจัดการกับผมที่คนผิวดำจำเป็นต้องใช้เพื่อให้ผมดูเข้าที่เข้าทาง"

เธอยังทิ้งคำถามไว้ว่า

"ประเทศ Americaจะเป็นอย่างไรนะ  ถ้าผู้คนหันมารักคนดำพอๆกับรักวัฒนธรรมของพวกเรา?"





ELLE   อีกหนึ่งสื่อเจาะลึกรากของผมเปียที่เป็นเอกลักษณ์ของคนดำและสาเหตุที่ทำให้เกิดการต่อต้านการฉกฉวยทางวัฒนธรรม

สารคดีของELLE ได้ชี้ถึงความสองมาตรฐานไว้ว่า

"ผู้หญิงผิวดำในAmericaถักเปียกันมาตั้งแต่ก้าวเข้ามาอาศัยในAmerica  แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้ววัฒนธรรมmain stream มักเยาะเย้ยถากถางหรือเมินเฉยทรงผมแบบนี้"

 "เมื่อผู้หญิงผิวขาวถักเปียแบบเดียวกัน กลับถูกยกให้เป็นผู้นำเทรนด์ที่ทำให้ทุกคนยอมรับสไตล์"




Ayana Byrd ผู้ประพันธ์หนังสือ  Hair Story: Untangling the Roots of Black Hair in America ได้บอกกับ ELLE ว่า    เมื่อหลายสิบปีก่อนที่สังคมจะยอมรับผมเปียได้เหมือนทุกวันนี้  ผู้หญิงผิวดำใน Americaจะถูกบีบให้รู้สึกต่ำต้อยกับผมแบบธรรมชาติ จนต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการยืดผมหรือใส่วิกผมตรงเพื่อให้เข้ากับ  beauty standard ของAmerica


ในปี 1979 Bo Derek คือผู้ที่ทำให้ผมเปียแบบคนดำกลายมาเป็นเทรนด์ฮ็อตฮิตจนสาวๆผิวขาวต้องจองคิวเข้าซาลอนเพื่อถักเปียที่ได้รับการตั้งชื่อตามผู้นำเทรนด์ จากภาพสาวบลอนด์ในชุดว่ายน้ำที่ทำทรงผมcornrows ประดับลูกปัดในหนังเรื่อง10 สร้างความนิยมระดับ mainstream โดยมีต้นแบบมาจากแดนเซอร์ของ Ann Margret เธอบอกในภายหลังว่าทำผมนี้ตามไอเดียของสามี ไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง

Bo ได้เล่าถึงประสบการณ์หลังจากสร้างปรากฏการณ์ผมเปียว่า

"มีผู้หญิงAfrican American หลายคนเข้ามาบอกกับฉันว่า ต้องขอบคุณฉันเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ เจ้านายที่ธนาคารไม่อนุญาตให้ทำผมทรงนี้มาทำงาน แต่ตอนนี้ทำได้แล้ว"





ผ่านไปหลายทศวรรษ Bo Derek ถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระแสโจมนขัดแย้งนี้ตีการฉกฉวยทางวัฒนธรรม เมื่อ Kim Kardashian ย้อมผมบลอนด์และถัก cornrows ตามมาด้วยการยกให้ Bo Braids เป็นต้นแบบของลุคนี้ หลายคนคงนึกภาพออกว่า social media แทบจะลุกเป็นไฟ ทั้งชาวเน็ทและสื่อบางเจ้าตำหนิ Kim ว่า นอกจากจะเลียนแบบวัฒนธรรมคนดำมาแล้วหลายครั้ง ก็ยังให้เครดิตกับผู้หญิงผิวขาว ทั้งๆที่ผู้หญิงผิวดำทำทรงผมนี้มาเนิ่นนานก่อนจะมีเทรนด์ ฺBo Braids นอกจากจะเรียกว่า cornrows ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ Fulani braids ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานจากชาวเผ่า Fulani ที่ถูกขายมาเป็นทาส ทำให้มีอีกชื่อว่าเปียแบบชนเผ่า


เมื่อถูกไถ่ถามความเห็นต่อประเด็นขัดแย้งนี้  Bo Derek  ได้ออกตัวชัดเจนว่าไม่ข้องใจในเรื่องฉกฉวยวัฒนธรรม เพราะมันเป็นเพียงแค่ทรงผมเท่านั้น   เธอชี้ว่า Kim เลียนแบบทรงผมของเธอจากหนังเรื่อง 10   ส่วนเธอก็เลียนแบบมาจากแดนเซอร์    และทุกคนก็คงเลียนทรงผมของราชินี Ahmose-Nefertari แห่ง Egypt นับพันๆปีก่อน และทิ้งท้ายไว้ด้วยมุกตลกร้ายว่า "หวังว่าองค์ราชินีจะรู้สึกปลาบปลื้ม"  (ที่มีคนมากมายเลียนแบบทรงผม)




ผู้ไม่เห็นด้วยโต้ "คนดำสามารถทำผมแบบคนขาวได้โดยไม่ต้องถูกจับผิด"

ชาวเน็ทผู้หนึ่งวิจารณ์เรื่องการฉกฉวยทางวัฒนธรรมอย่างเผ็ดร้อนว่า

"ลองนึกภาพ Taylor Swift เขียนข้อความใต้ภาพ Beyonce ว่า  นี่เธอทำผมแบบผู้หญิงผิวขาวอยู่นะ ทำไมเธอไม่ให้ความสำคัญในเรื่องปัญหาความลำบากของคนผิวขาวบ้างล่ะ ถ้าเกิดขึ้นจริงรับรองดราม่ากันโกลาหลแน่ๆ"



นั่นยังรวมถึงคอมเมนท์จากคนหลากหลายเชื้อชาติ (รวมถึงคนผิวดำ)ที่เห็นพ้องต้องกันว่า  ในสังคมของเสรีชน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือสีผิวใด  ก็เลือกทรงผมตามที่ต้องการได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างความขัดแย้งขึ้นมา     แต่การจ้องจับผิดกันต่างหากที่ยิ่งจะสร้างความแตกแยกจนกลายเป็นกำแพงอคติที่ยากจะก้าวข้ามไปได้


วงการบันเทิงเกาหลีกับการ call out  เรื่องการฉกฉวยทางวัฒนธรรม

ทรงผม box braids: สาเหตุที่Lisaถูกโจมตี
 วัฒนธรรม hip hop คือต้นแบบสำคัญของดนตรี K-Pop  ไม่ว่าจะเป็นดนตรี การแร็พ สไตลการเต้น และแฟชั่น    ไม่น่าแปลกใจที่จะมีนักเขียนเพลงและโพรดิวเซอร์เชื้อสายผิวดำร่วมอยู่ในทีมผู้เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของศิลปิล K-Popด้วย


เหล่าไอดอลอาจแร็พเป็นไฟ โชว์ทักษะการเต้นแบบ hip hop จนแฟนๆทั่วโลกปลาบปลื้ม แต่เมื่อใดก็ตามที่โชว์ทรงผมที่ได้รับอิทธิพลมาจากAfrican American ดราม่าก็บังเกิด


Lisa เป็นหนึ่งในไอดอลที่ต้องพบกับข้อกล่าวหาเรื่องฉกฉวยทางวัฒนธรรม เนื่องมาจากทรงผม box braids ในวีดีโอเพลง Money 


ยืนยัน "ไม่มีเจตนาร้าย'' ตามด้วยคำขอโทษและรับปากจะศึกษาประเด็นcultural appropriation ให้เข้าใจ


เมื่อLisaได้รับรู้ถึงความวิตกกังกังวลจากแฟนคนหนึ่งที่ได้อ่านจดหมายชี้แจงประเด็นฉกฉวยวัฒนธรรมจากลุคผมเปียดังกล่าว เธอได้ขยายเวลาพูดคุยจากนาทีครึ่งไปเป็น 6 นาที เธอยืนยันว่าไม่รู้มาก่อน คิดแต่เพียงว่าทรงผมนี้ดูเจ๋งมากและไม่ได้มีเจตนาไม่ดี ขออภัยกับผู้ที่เสียความรู้สึกจากเรื่องนี้

Lisa ยังได้รับปากว่าจะเพิ่มความระมัดระวังด้วยการตรวจตราทุกอย่างซ้ำให้แน่ใจ และขอบคุณแฟนที่บอกกล่าวให้เธอรู้ตัว และเราคาดว่า คงไม่ได้เห็นน้องตะลิซถักbox braid อีกแล้วล่ะ




แฟนๆจำนวนมากชื่นชมที่ Lisa ขอโทษอย่างความจริงใจและรับฟังแฟนๆเพื่อเปลี่ยนแปลง  แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ก็ยังมีชาวเน็ทที่แสดงความกังขาต่อผู้รับผิดชอบเรื่องเสื้อผ้าทรงผมของไอดอล   เพราะผมเปียเป็นต้นเหตุที่ทำให้ไอดอลถูกแฟนๆต่างชาติโจมตีซ้ำซาก นั่นยังรวมไปถึงเหล่าhaterที่รอซ้ำเติมอีกด้วย   ซึ่งสวนทางกับแนวทางของไอดอลที่ต้องวางตัวสมบูรณ์แบบเพื่อปราศจากความมัวหมอง  จนทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่า  แม้จะมีตัวอย่างให้เห็นชัดเจน เมื่อใดก็ตามที่ไอดอลทรงผมสไตล์นี้ก็จะตกเป็นเป้าหมายโจมตี  ทั้งที่พวกเค้าอาจจะไม่ได้มีอำนาจการตัดสินใจเลือกทรงผมได้เอง  แต่เป็นทีมงานที่ดีไซน์ให้  แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายเบื้องหลังไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นฉกฉวยทางวัฒนธรรมแต่อย่างใด




ผู้สร้างซีรีส์เกาหลีชื่อดังเผชิญแรงกดดันจากข้อหา ลอกเลียน-ล้อเลียน-ไม่ให้เกียรติ-เหยียดเชื้อชาติ

Penthouse ถูกยกให้เป็นซีรีส์ที่มาพร้อมกับพล็อทหักมุมจนปวดตับจนทำให้รู้สึกว่า นักเขียนอาจจะรู้สึกฟินที่ทำให้ผู้ชมอึ้งกับความเหนือเมฆของบทและตัวละคร  และหนึ่งในนั้นคือบท Alex  ที่ปรากฏตัวใน season 3   ที่ถ้ามองแบบผ่านๆอาจจะคิดว่าเป็นแร็พเพอร์จาก America เข้าร่วมแสดงซีรีส์เกาหลี
พัค อึนซอก พระเอกที่รับบทนี้ย่อมเลี่ยงเสียงโจมตีไปไม่พ้น  เพราะมาแบบจัดเต็มจากหัวจรดเท้า ไม่ได้มีเพียงทรงผมเหมือนกับดราม่าไอดอล  และยังมีท่าทาง+สำเนียงทำให้ถูกกล่าวหาว่าจงใจใช้ stereotype ของAfrican American มาล้อเลียน   หนักไปกว่านั้น ผู้สร้างซีรีส์และพระเอกผู้นี้ถูกกล่าวหาว่าเหยียดผิวจนเขาต้องประกาศขออภัย และยืนยันว่า ไม่ได้จงใจล้อเลียนหรือดูหมิ่น black community  แต่เป็นความชื่นชมในวัฒนธรรม เขายอมรับว่า ควรจะตระหนักในประเด็นนี้ให้ดีกว่าที่เป็น  และขอโอกาสจากแฟนๆเพื่อจะเรียนรู้สร้างความเข้าใจในประเด็นฉกฉวยวัฒนธรรมให้ถ่องแท้


Rihanna ยังไม่รอด  เหตุจับคนดังnon-blackมาทำผมเปียใน Savage X Fenty show 


หากคิดว่ามีเพียงแต่คนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่คนผิวดำถูกโจมตีเพราะผมเปีย  มันก็ไม่ถูกต้องสักทีเดียว   เพราะแม้คุณจะเป็น icon ของสาวผิวดำแบบ Rihanna   แต่ถ้านำเสนอนางแบบที่ถักcornrows ขึ้นfashion show  ก็มีเสียงต่อว่ากระหึ่มโลก internet   เพราะนางแบบดังกล่าวไม่ได้มีเชื้อสายผิวดำนั่นเอง
 แม้ว่าตลอดช่วงเวลาที่ Rihanna ก่อตั้งธุรกิจจนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี เธอจะได้รับคำชื่นชมจากการสนับสนุนความหลากหลายทางเชื้อชาติและสร้างความมั่นใจเรื่องรูปร่าง   แต่ภาพของ Emily Ratajkowski และ Vanessa Hudgens  สองสาวคนดังเข้าร่วมเดินแบบให้กับ Savage X Fenty fashion show ได้กลายมาเป็นประเด็นร้อนถึงขั้นที่เจ้าของแบรนด์ถูกตราหน้าว่า  ถูกเงินเป็นพันล้านบังตาจนไม่สนความรู้สึกของ black community   


แม้จะเกิดดราม่ารายวัน  แต่ไม่ใช่ black community ทั้งหมดจะต่อต้านเรื่องนี้

Justin Bieber เป็น superstar อีกคนที่พบเจอกับแรงกดดันจากทรงผมมาแล้ว  เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ เขาเปิดตัวผม dreadlocks แบบสั้น   ชาวเน็ทหลายคนตำหนิว่านี่เป็นการแสดงออกที่ดูหมิ่นเจ้าของวัฒนธรรม และเรียกร้องให้เขาเปลี่ยนทรงผมและขอโทษ black community ที่รู้สึกกระทบกระเทือนใจ

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนผิวดำชี้   ทรงผมdreadlocks ของ Justin Bieber ไม่ใช่สิ่งชวนขุ่นเคืองใจ
Tamika Mallory นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนที่โฟกัสกับการเรียกร้องสิทธิสตรีและBlack Lives Matter  ไม่ได้กล่าวหา Justin Bieber อย่างรุนแรง และแสดงความเห็นแบบกลางๆว่า  

"ฉันว่ามันไม่เป็นไรค่ะ ตราบใดที่Justin Bieberรับรู้ที่มาของ dreadlocksและประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งยาวนานของมัน"


"ฉันไม่คิดว่าเราควรไปบังคับคนอื่นเรื่องการแต่งกาย แต่ฉันว่า เราควรจะย้ำเตือนให้คนเหล่านั้นว่าไม่ควรแสดงออกเหมือนเค้าเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมาเอง เพราะdreadlocksมีความผูกพันกับวัฒนธรรมAfricanอันล้ำลึก"


แล้วหากเจ้าของวัฒนธรรมเต็มใจสนับสนุนให้คนต่างเชื้อชาติได้สัมผัสวัฒนธรรมล่ะ?


คุณผู้อ่านคงยังไม่ลืมดราม่าAdele ที่แต่งตัวเฉลิมฉลองเทศกาล Notting Hill Carnival* โดยเพื่อนๆเชื้อสาย Jamaicanของเธอช่วยเนรมิตทรงผม Bantu knots และประดับประดาขนนกแบบนักเต้น Carnival  จากลุคนี้ทำให้superstar ผู้ขึ้นชื่อว่าครองภาพลักษณ์อันดีงามมาโดยตลอดต้องถูกรุมโจมตีว่าลอกเลียนวัฒนธรรมอย่างหน้าไม่อาย

แต่แม้ว่า Adele จะถูกตราหน้าว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจนเสื่อมศรัทธา แต่ยังมีชาวเน็ทจากประเทศJamaica อีกหลายคนที่ชี้ว่า ไม่รู้สึกว่าทรงผมและชุดของAdele จะเป็นเรื่องย่ำแย่ และยังรู้สึกปลื้มใจที่คนดังระดับโลกชื่นชมวัฒนธรรมแบบ Caribbean รวมไปถึงเพื่อนร่วมวงการอย่าง Naomi Campbell ที่มีแม่เป็นนักเต้นชาวJamaican และ Alexandra Burke นักร้องสาว British เชื้อสายJamaicanที่ออกโรงปกป้องAdele ว่า เธอเติบโตขึ้นมาท่ามกลางวัฒนธรรมคนดำในย่าน Tottenham จึงไม่ใช่เรื่องต้องมาโจมตีกันแต่อย่างใด





* การเฉลิมฉลองของผู้คนที่สืบทอดเชื้อสายหมู่เกาะCaribbean ได้เข้าร่วมพาเหรดและเต้นรำแบบ Carnival ใน London (ลองนึกภาพ Rihanna ใน Carnival ที่ Barbados)   ซึ่งปีที่แล้ว ต้องยกเลิกงานไปเพราะเกิดวิกฤติโรค COVIDระบาด


Twitter user บางคนสันนิษฐานว่า ภาพชุดฉลอง carnival ของ Adeleได้ลุกลายกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงเพราะ ชาว woke จาก USA ที่ไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมอันหลากหลายใน London โดยเฉพาะย่านที่อยู่ที่ Adele เติบโตขึ้นมานั้นมีชุมชนชาว Jamaican ขนาดใหญ่รวมตัวอาศัยร่วมกับผู้คนเชื้อชาติอื่นๆ สำหรับ Notting Hill Carnival ก็ไม่ได้จำกัดให้แต่คนผิวดำเชื้อสาย Caribbean ให้มาสนุกกันในงาน แต่เปิดต้อนรับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเพื่อร่วมกันเฉลิมฉลองวัฒนธรรมของCaribbeanต่างหาก

 


Gwen Stefani ชี้  "เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนที่เกิดจากความชื่นชมในวัฒนธรรม"

เธอถูกยกให้เป็นfashion icon นับตั้งแต่ยุค90s แต่ออีกด้านหนึ่ง เธอก็มักจะถูกโยงกับเรื่องการลอกเลียนวัฒนธรรม    บางคนทุบหนักว่า  Gwen น่าจะถูก cancel ไปตั้งนานแล้ว  เพราะมั่นใจว่า เธอสร้างรายได้เข้ากระเป๋าตัวเองมากมายจากการใช้วัฒนธรรมของคนอื่นมาหากิน
เมื่อปี2003 การสร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นจนทำให้อัลบั้ม Love. Angel. Music. Baby มียอดขายหลายล้านนั้นไม่ได้สร้างเสียงวิจารณ์ออกไปกว้างขวางนัก   อาจจะเป็นเพราะว่า social media ยังไม่ได้เป็นplatformทรงอิทธิพลต่อผู้คนในสังคม  แม้เธอจะถูกกล่าวหาว่า นำแดนเซอร์สาวญี่ปุ่นติดตามออกงานไปด้วยเพื่อโพรโมทงานดนตรีและแฟชั่นไลน์ราวกับว่าพวกเธอเป็นaccessory  แต่ก็ดูเหมือนว่าแฟนๆจะไม่ได้ใส่ใจมากนัก  จนเมื่อปีหลังๆนี้เองที่มีผู้ขุดคุ้ยภาพในอดีตของ Gwen ที่แต่งหน้าด้วยBindiแบบIndia   ทำทรงผมเหมือนกับคนดำ   แต่งตัวแบบสไตล์Chola เหมือนคนMexican-American และยังเคยเลียนแบบสไตล์ของชนเผ่าพื้นเมืองใน America

เมื่อสองปีที่แล้ว เธอได้ให้สัมภาษณ์กับ Billboard ถึงประเด็นนี้ว่า

"ฉันจะรู้สึกต่อต้านหน่อยๆตอนที่มีคนบอกว่ามันเป็นการฉกฉวยทางวัฒนธรรม  เพราะถ้าเราไม่ยอมให้มีการแบ่งปันวัฒนธรรม  เราจะกลายไปเป็นอะไรไปล่ะ?"

"คุณสร้างความภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเองและมีขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ และคุณก็สามารถแบ่งปันให้กับผู้อื่นเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมา"






แต่ผ่านมาถึงปี 2021  Gwen ก็ยังต้องชี้แจงเรื่องประสบการณ์ที่ได้ใช้วัฒนธรรมอื่นเพื่อถ่ายทอดผลงานของตัวเอง  เธออธิบายกับ Paper magazine ว่า  ยิ่งขีดเส้นแบ่งไม่ให้แตะต้อง ก็ยิ่งสร้างความแตกแยก

"หากเราไม่ได้มีการซื้อขายและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ก็คงไม่มีสิ่งสวยๆงามๆแบบทุกวันนี้ รู้มั้ย   เราเรียนรู้จากกันและกันและแบ่งปันให้กันและกันและเติบโตไปด้วยกัน   กฎเกณฑ์เหล่านี้ยิ่งจะทำให้พวกเราถูกแบ่งแยก"

"ฉันได้เติบโตขึ้นมาช่วงเวลาที่เราไม่ได้มีฎอะไรมากมายนัก  เราไม่จำเป็นต้องคอยทำตัวตามแนวทางที่ social mediaกำกับไว้ พวกเรามีอิสระเสรีกว่าตอนนี้เยอะเลยค่ะ"





คุณเห็นด้วยกับ Gwen Stefani หรือเชื่อมั่นว่าเราควรจะต้องขีดเส้นแบ่งให้เห็นชัดเจนว่ามีสิ่งใดที่ไม่ควรไปแตะต้อง   ลองมาแชร์ความคิดกับเราสิคะ 

The End


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE