อะไรคือนิยามของคำว่า "ศีลธรรมอันดีงาม"

43 18
ศีลธรรมอันดีงาม เป็นคำคุ้นหูที่ได้ยินกันบ่อยมาช้านาน และมักเป็นคำพูดหรือข้ออ้างในการกระทำบางอย่างที่ดูไม่สมควร เพราะขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของประเทศไทย เคยสงสัยกันไหมว่าศีลธรรมอันดีงาม จริงๆ แล้วมันคืออะไร ทำไมเราถึงขัดกับมันไม่ได้เลย?

ศีลธรรมอันดีงามคืออะไร?

ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่า ศีลธรรม คือ ความประพฤติที่ดีที่ชอบ ศีลธรรมอันดีงาม รวมแล้วก็น่าจะหมายถึง ความประพฤติที่ดีอันดีงาม หรือ ความประพฤติที่ดี๊ดี! ฟังดูยังทับซ้อนแปลกๆ เราลองมาแยกความหมายของแต่ละคำกัน

ศีล

ศีล นอกจากจะหมายถึงความประพฤติที่ดีแล้ว ยังหมายถึง ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กำหนดการปฏิบัติกายและวาจา เช่น ศีล 5 ศีล 8, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, เป็นธรรมข้อ 1 ในทศพิธราชธรรม

สรุปศีล คือ หลักการปฏิบัติกายและวาจาตามพระพุทธศาสนา ทีนี้เรามาดูแต่ละข้อว่ามีอะไรบ้าง

ศีล 8

  1. ไม่คร่าชีวิตสัตว์หรือมนุษย์
  2. ไม่ขโมยทรัพย์สินผู้อื่น
  3. ไม่ล่วงในทางเพศต่อสามีหรือภรรยาผู้อื่น รวมถึงชายหญิงต้องห้าม
  4. ไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นจริง หรือ คำโกหก
  5. ไม่ดื่มน้ำเมาหรือสารที่ทำให้เมาหรือเสพติด
  6. ไม่บริโภคอาหารในยามวิกาล (หลังเที่ยงถึงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในอีกวัน)
  7. ไม่ฟ้อนรำทำเพลง แสดงกิริยารื่นเริง รวมถึงละเว้นจากการแต่งสวยแต่งงามให้ร่างกาย
  8. ไม่นั่งหรือนอนบนที่นั่งหรือที่นอนที่ทำให้นุ่ม และสูงจากพื้น

ทศพิธราชธรรม

คุณธรรมทั้ง 10 ของผู้ปกครองบ้านเมือง
  1. ทาน-การให้ 
  2. ศีล-การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
  3. บริจาค-ความเสียสละ
  4. อาชชวะ-ความซื่อตรง
  5. มัททวะ-ความอ่อนโยน
  6. ตบะ-การข่มกิเลส
  7. อักโกธะ-ความไม่โกรธ
  8. อวิหิงสา-ความไม่เบียดเบียน
  9. ขันติ-ความอดทน
  10. อวิโรธนะ-ความไม่คลาดจากธรรม

ธรรม

ธรรม, ธรรมะ ในราชบัณฑิตฯ เองก็ได้ให้คำจำกัดความไว้ค่อนข้างหลากหลาย โดยรวมแล้ว ธรรม คือ คุณความดี หรือ คำสั่งสอนในศาสนา

ศีลธรรม

พอเห็นความหมายด้านบน เมื่อนำมารวมกัน ศีลธรรม ก็คือการประพฤติตัวให้อยู่ในหลักคำสอนของศาสนาพุทธ เช่น ใครปฏิบัติตามหลักศีล 8 หรือทศพิธราชธรรมแล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นคนมีศีลธรรม ศีลธรรมเป็นการประพฤติดีอยู่แล้ว คาดว่าการเติมคำว่าอันดีลงไปอีกก็เพื่อขยายว่า ดีจริงนะจ๊ะ ไม่จกตา ดีแบบดี๊ดีอะแกรร

สิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม

แล้วเมื่อไหร่ที่มันจะกลายเป็นเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามล่ะ? ก็ต่อเมื่อเราทำในสิ่งที่ขัดต่อแนวทางปฏิบัติตนของพุทธศาสนา หรือไม่ถือศีล 5 ฆ่าสัตว์ มีกิ๊ก แอบจิ๊กตังค์แม่ โกหก ดื่มเหล้า ก็คือไม่มีศีลธรรมอันดีงามในหัวใจแล้วนะ แต่ขัดต่อกฎหมายไหม ก็ต้องดูรายละเอียดอีกที บางเรื่องผิดศีลธรรม แต่ไม่ผิดกฎหมาย บางเรื่องก็ผิดทั้งศีลธรรมและผิดกฎหมายด้วย
อย่างที่บอกว่าศีลธรรมยึดตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา แล้วถ้าคนที่ไม่มีศาสนาหรือนับถือศาสนาอื่น ไม่ได้ปฏิบัติตัวตามคำสอนของศาสนาพุทธก็กลายเป็นคนไม่มีศีลธรรมไปเลยก็ได้ (?) เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธและมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

เคสตัวอย่าง

กรณีน้องไข่เน่าที่ถ่ายคลิปผู้ใหญ่ลง OnlyFans แล้วมีคนบอกว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ถ้าดูตามคำนิยามข้างบนก็จะเห็นได้ว่ายังไม่ผิดศีลข้อไหน เพราะเขาก็ถ่ายกับแฟนเขาไม่ได้ถ่ายกับกิ๊ก แต่ผิดต่อกฎหมายไทยที่ยังไม่ได้มีการรับรองให้การผลิตสื่อประเภทนี้ถูกกฎหมาย 

หรือถ้าน้องไข่เน่าไม่ได้ถ่ายกับแฟน แต่การทำ OnlyFans ก็คือการสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบหนึ่ง ในฐานะ Sex Creator ที่ให้ผู้ติดตามที่อายุถึงเกณฑ์เสียเงินมาเสพคอนเทนต์ ไม่ได้ลงแบบโฉ่งฉ่าง แต่ลงในแพลตฟอร์มเฉพาะ จะสร้างกับใครมันก็เป็นสิทธิ์ของครีเอเตอร์ ถึงแบนไปยังไงก็มีแนวทางช่องโหว่อื่นๆ ให้ทำและเสพกันอีกเพียบ กำจัดไปยังไงก็ไม่มีวันหมด

จะดีกว่าไหมถ้าผลักดันให้สิ่งนี้ถูกกฎหมายกันไปเลย เพราะการเรียนรู้หรือเสพความบันเทิงเรื่องเพศก็เป็นเรื่องธรรมชาติ กำหนดอายุของผู้ชมให้ถูกต้อง ปัจจุบันก็เลยมีคนออกมาเรียกร้องให้แก้ไข ป.อาญา ม.287 ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง เพื่อปลดล็อกให้สามารถสร้างคอนเทนต์ได้อย่างถูกกฎหมายกันไปเลยจบๆ

เพื่อนๆ คิดเห็นยังไงมาแชร์กันได้น้าา


sweetsong13

sweetsong13

A dreamer who loves to write
www.sweetsong13.com
sweetsong13@gmail.com

FULL PROFILE