เจาะความเคลื่อนไหวAnti Feminist ในสังคมเกาหลีใต้

44 12
เมื่อเอ่ยคำว่า feminist  ภาพปรากฏในความคิดของคุณเป็นเช่นไร?   

บางคนอาจจะนึกถึงกลุ่มผู้หญิงที่รวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม ต่อต้านแนวคิดชายเป็นใหญ่ด้วยวิธีต่างๆ

หรือคุณอาจจะระลึกถึงกรณีคนดังระดับโลกอย่าง Jennifer Lawrence ที่ออกมาประกาศว่าจะไม่ยอมให้นายทุนกดค่าตัวเธอให้ต่ำกว่านักแสดงชายในหนังเรื่องเดียวกัน

หรือจะเป็นวินาทีที่ Scarlett Johansson call out สื่อที่เอาแต่เจาะจงถามเรือนร่างของเธอ ในขณะที่เพื่อนักแสดงชายในหนังตระกูล Superhero ได้รับคำถามเกี่ยวกับหนังที่สร้างสรรค์

แม้กระทั่งพระเอกดังอย่างBenedict Cumberbatch ,Joseph Gordon-Lewitt และTom Hiddleston ก็ประกาศตัวว่าเป็นfeminist



คุณคงไม่แปลกใจ เมื่อได้เห็น feminist จากประเทศที่พัฒนาแล้วใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการแสดงอุดมการณ์  และในทางกลับกัน   หากบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมไม่ได้ใช้ platform ของตัวเองเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ  ก็อาจจะพบกับแรงกดดันจากสังคม และอาจถูกกล่าวหาจนภาพลักษณ์เสียหาย



แต่ที่มุมหนึ่งของโลก ประเทศที่ผงาดสร้างชื่อเสียงให้ขจรไปไกล จากเทคโนโลยีก้าวหน้า อุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงการกีฬาที่สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ กลับมีดราม่าที่ทำให้ชาวโลกต้องเลิกคิ้วด้วยความข้องใจ

เมื่ออัน ซาน นักยิงธนูหญิงผู้มีความสามารถในระดับอัจฉริยะได้แสดงผลงานให้โลกได้ประจักษ์ด้วยการคว้าถึง 3 เหรียญทอง Olympic ต้องถูกลากเข้าสู่ดราม่า anti - feminist เพราะเธอตัดผมสั้นกุด ทำให้ชาวเน็ทที่ตั้งข้อรังเกียจ feminist ไล่ให้เธอคืนเหรียญทองไปซะ

จะบอกฉาวโฉ่ไปทั่วโลกก็ว่าได้ แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าใจเรื่องว่านี่คือสถานการณ์ 'ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง' เพราะมีชาวเกาหลีใต้จำนวนมากที่ยกย่องให้อัน ซาน เปรียบเหมือนกับสมบัติของชาติ ในการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับโลกที่ผ่านมา เกาหลีใต้คว้า 6 เหรียญทอง เพียงเธอคนเดียวเป็นเจ้าของเหรียญทองไปครึ่งหนึ่งแล้ว แต่กระแสโจมตีเธอเพราะทรงผมอาจจะทำให้หลายคนมองสังคมเกาหลีใต้ในมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะพวกเค้าต่างเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นทรงผมสั้นหรือยาว มีรสนิยมทางเพศแบบใด หรือว่าจะเป็น feminist หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่จุดอ่อนที่สร้างความมัวหมองให้กับความสำเร็จของเธอแม้แต่น้อย




ไม่ได้มีเพียงแต่ An San เท่านั้นที่ถูกสายตาที่เต็มไปด้วยอคติพิพากษาเพราะตัดผมสั้น
หัวข้อโพสต์ '90%ของผู้หญิงที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสตรีและตัดผมสั้นเป็น feminist' จากชุมชนออนไลน์ที่เต็มไปด้วยสมาชิกผู้ชาย ได้บรรยายว่า  ผู้หญิงสมัยนี้ไม่ตัดผมสั้นกันเพราะพวกเธอไม่อยากถูกเหมารวมว่าเป็นพวก feminist  รวมถึงชาวเน็ทที่แสดงความเห็นอย่างสนุกปากว่า ต้องหลีกเลี่ยงพวกผู้หญิงผมสั้น และทำใจให้อภัยอัน ซานได้เพราะเธอเป็นทีมชาติเกาหลีใต้ถูกลบออกไปไม่นานหลังจากที่ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและสายตาชาวโลก  ( แน่นอนว่ามีผู้ capture ไว้แล้ว)  และมีผู้ยืนยันว่า ไม่ใช่นักธนูสาวผู้เก่งกาจเท่านั้นที่ถูกด้อยค่าเพราะทรงผม   นักศึกษามหาวิทยาลัยรายหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับ Korea JoonGang Daily ว่า  เธอตัดผมสั้นหลังจากเลิกรากับแฟนและอยากจะเพิ่มกำลังใจในการเริ่มต้นใหม่ด้วยการเปลี่ยนแปลง  แต่ถูกนักศึกษาชายรายหนึ่งดึงตัวมาถามว่า ตัดผมสั้นแบบนี้ เป็น feminist รึไง?   ซึ่งในขณะนั้น เธอไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าเพราะอะไรจึงถูกถามแบบนี้ จนมารู้เรื่องกระแส anti-feminist ในภายหลัง





ชาวเน็ทจุดกระแสปกป้องผมสั้น ต่อต้านแนวคิดชายเป็นใหญ่  แต่เสียง call out จากวงการบันเทิงกลับเงียบกว่าวงการอื่น

ผู้คนหลายฝ่ายได้ออกตัวปกป้องอัน ซาน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ ตัวแทนจากองค์กรเพื่อสิทธิสตรี รวมถึงชาวเน็ทที่ร่วมแคมเปญหั่นผมสั้นเพื่อแสดงพลังสนับสนุนให้ทุกคนได้รู้ว่า ไม่ว่าทรงผมของนักยิงธนูสาวจะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใคราพรากความสำเร็จที่เธอได้ทุ่มเทฝึกฝนจนสามารถแสดงฝีมือให้ทั่วโลกประจักษ์ไปได้


แต่บางคนน่าจะสัมผัสได้ว่า การ call out จากคนบันเทิงเกาหลีกลับเงียบเชียบไป ทั้งๆที่เป็น topic ที่แม้แต่คนต่างชาติยังรู้สึกเจ็บใจแทน และมีคำอธิบายตามมาว่า ไม่ใช่ว่าคนดังเกาหลีจะไม่ต้องการแตะต้อง social issue แต่อิสระในการแสดงความคิดเห็นในเชิง political นั้นหมดสิ้นไปทั้งแต่ที่พวกเขาเซ็นสัญญาเข้าสังกัดไปแล้ว ส่วนคนดังที่สามารถแสดงความคิดเห็นโจมตีต่อความไม่เป็นธรรมในสังคมก็มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า 'วางตัวไม่เป็นกลาง'หรือ 'เรียกร้องความสนใจ' และอาจจะส่งผลกระทบต่อโอกาสที่จะได้รับว่าจ้างให้โลดแล่นในวงการ เพราะแม้เกาหลีใต้จะมีชื่อเลื่องลือเรื่องความคาดหวังให้คนดังวางตัวให้สมบูรณ์แบบที่สุด แต่ความสมบูรณ์แบบที่ว่ายังรวมไปถึงการวางเฉยต่อประเด็นที่สร้างเสียงขัดแย้งในสังคม ไม่ต้องพูดถึงการออกมา call out กลุ่มคนที่ต่อต้านอัน ซาน เพราะเชื่อว่าเธอเป็น feminist แม้แต่การประกาศว่าอ่านหนังสือที่ตีแผ่เรื่องราวการกดขี่ทางเพศ ก็อาจจะทำให้คนดังถูกประนามว่าเป็น feminist ผู้ร้ายกาจ รวมถึงมีการเรียกร้องให้ boycott  ไปเลย




หรือจะให้ยกตัวอย่างชัดเจนกว่านั้น คงหนีไม่พ้นกรณีของซอลลี่ ไอดอลสาวที่ยืนหยัดเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ถูกหยามหยันว่าเธอเรียกร้องความสนใจจากการกระทำแหวกแนวค่านยมสังคม หรือร้ายไปกว่านั้นคือการกล่าวหาว่าเธอเสียสติไปแล้ว แม้แต่ผู้หญิงด้วยกันก็ยังเหยียบย่ำเธอย่างไร้ความเห็นใจ

และโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นซอลลี่ ก็น่าจะพิสูจน์แล้วว่า ปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมแห่งนี้มีความรุนแรงเพียงใด
คุณอาจจะสงสัยว่า  เหตุใด คนดังเกาหลีจึงสามารถเข้าร่วมการเคลื่อนไหว Black Lives Matter  หรือ call out  อาชญากรรมทางเพศจาก Nth room สุดฉาวโฉ่ได้       แต่เมื่อเป็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ  กลับถูกบีบให้นิ่งเงียบ    ทั้งๆที่มีรายงานออกมาว่า   รายได้ของไอดอลหญิงนั้นห่างจากไอดอลชายอย่างน่าใจหาย   ส่วนในวงการแสดงนั้น    แม้พระเอกหลายคนจะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า  แต่ก็ขึ้นอยู่กับดีกรีความโด่งดังของแต่ละฝ่าย  ซึ่งอาจถ้าเป็นนางเอกระดับตัวแม่ ก็อาจจะทำให้ช่องว่างความห่างของรายได้แคบเข้ามา   อย่างไรก็ตาม Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ได้ระบุว่า   เกาหลีใต้มีตัวเลขความแตกต่างของค่าตอบแทนชายหญิงสูงลิบลิ่วคือ31.5% เมื่อปี 2020 นำหน้าชาติอื่นๆมายาวนานหลายปี        



แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เห็นศิลปินระดับแถวหน้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่อง equal pay เหมือนกับ Jennifer Lawrence หรือเรื่องที่สื่อบีบให้นายทุนเพิ่มค่าตอบแทนให้กับนางเอกเหมือนกับกรณีนิตยสาร Variety เปิดโปงเรื่องค่าตัวของ Claire Foy จาก The Crown ที่น้อยกว่า Matt Smith มาก แม้ว่าเธอจะคือราชินีของซีรีส์และคว้ารางวัลจากบทนี้มาหลายตัว จนทำให้ producer ของซีรีส์ดังประกาศขอโทษ Claire และพยายามกู้สถานการณ์ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนให้เธอสมควรจะได้รับเพิ่มเติมในเวลาต่อมา



อาจารย์อี กยู-แทก จากคณะมนุษยวิทยาวัฒนธรรม มหาวิทยาลัย George Mason Korea ได้แสดงความเห็นกับ The Korea Times ว่า K-pop คือวัฒนธรรมระดับ mainstream ที่ผู้คนมากมายยึดมั่น ดังนั้น เหล่าศิลปินจึงต้องหลีกเลี่ยความเสี่ยงที่จำสร้างผลกระทบด้านลบในตัวพวกเค้าทุกเส้นทาง หากศิลปินออกตัวว่าเป็นพวกเดียวกับแนวคิดทางสังคมหรือแสดงอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในประเทศหรือนานาชาติ พวกเค้าอาจต้องเผชิญกระแสโจมตีจากผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม และตกเป็นเหยื่อของเหล่าโทรลในโลกออนไลน์ และมันเกิดขึ้นเป็นกรณีตัวอย่างมาแล้ว

The Korea Times ได้ยกชื่อนักแสดงตลก คิม เจดงที่สร้างความโด่งดังด้วยฉายา 'politainer' ( politician+ entertainer) จากการแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองและฟาดฟันกับประเด็นที่สร้างความขัดแย้งในสังคม แต่ก็รับมือกับกระแสกดดันสังคมที่มองว่าเขา'เอียงข้าง' โดยเฉพาะความไม่พอใจจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ได้เห็นเขาเป็นที่สนใจในสังคมด้วยการแสดงออกว่าเป็นฝ่ายเสรีนิยมอย่างไม่หวั่นเกรง ในที่สุดเขาก็ถูกถอดออกจากหน้าที่พิธีกรรายการTV ดัง


หลายสังคมประชาธิปไตยอาจจะเชิดชูเรื่องfree speech และสนับสนุนความเท่าเทียม แต่แนวคิดอนุรักษ์นิยมที่กดผู้หญิงไว้ไม่ให้มีสิทธิ์มีเสียงที่ปลูกฝังหยั่งรากลึกมายาวนานนั้นทำให้เกิดความเคลื่อนไหวต่อต้าน feminist ที่เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังกรณีไอดอลสาวที่อ่านหนังสือfeminist แล้วถูกด่าว่าให้เสียหาย แม้แต่ฮีโร่ Olympic ก็ยังไม่รอด แต่นี่กลับเป็นสิ่งที่หลายคนเลือกจะหลีกเลี่ยงเมินเฉยเพราะไม่ต้องการจะตกเป็นเป้าหมายไปด้วย







Anti-Feminist   หรือ  Misogynist ?
หลังจากดราม่าผมสั้นของอัน ซานกลายเป็นกระเด็นร้อนในวงการสื่อนานาชาติ ก็มีผู้สร้างเว็บไซต์  Check Femi เพื่อแดงรายชื่อคนดังผู้มี'ความเป็นไปได้' ที่จะเป็น feminist อันแสนน่าเกลียดน่ากลัว  เช่น

  • ประธานาธิบดีมุน แจอิน และ RM แห่ง BTS ที่เคยเล่าเคยอ่านนิยาย feminist ชื่อดัง  
  •  แบ ซูจีที่เคยเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ influencer ที่กล่าวหา studio ถ่ายภาพเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ  และต้องออกมาขอโทษและชดเชยค่าเสียหายให้กับ studio เพราะแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจนทำให้อีกฝ่ายเสียชื่อเสียง   สิ่งน่าช็อคที่ตามมาคือ ด้วยเหตุนี้ มีการเรียกร้องต่อรัฐประหารซูจีจากชาวเน็ทถึง 1600 รายชื่อ!  
  • ผู้ประกาศข่าวลิม ฮยอนจู ที่'ฝ่าฝืนข้อบังคับห้ามไม่ให้ผู้ประกาศข่าวหญิงใส่แว่นในขณะรายงานข่าวหน้ากล้อง ในขณะที่ผู้ประกาศชายสามารถใส่แว่นได้ไร้ปัญหา เธอสร้างความฮือฮาและรับเสียงชื่นชมในความกล้าหาญที่จะสร้างความเท่าเทียมทางเพศ  แต่ก็มีกลิ่นอายความไม่พอใจจากคนบางกลุ่มตามมา

และยังมีผู้มีชื่อเสียงจากหลายวงการที่ผู้สร้างเว็บไซต์ตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นพวกที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และให้เหตุผลในการทำรายชื่อเหล่านี้ออกมาว่า เป็นตัวช่วยให้ผู้คนตัดสินใจได้ว่า จะติดตามคนดังกลุ่มนี้ต่อไปหรือไม่ และมี user ที่แสดงความขอบคุณที่ช่วยแจ้งกันให้รู้ตัว เพื่อจะได้เลิกติดตามสนับสนุน พวก คนดังfeminist

เว็บไซต์นี้ถูกลบออกไปหลังจากตกเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์


เพียงแสดงท่าทีว่าสนับสนุนพลังหญิง ก็อาจจะทำให้สูญเสียการงานได้

ไม่ว่านักพากย์สาว คิม จายอน  จะตั้งใจประกาศสนับสนุนสิทธิสตรีหรือไม่  แต่การโพสต์ภาพตอนใส่เสื้อยืดสโลแกน  Girls do not  need a prince. เธอกลับถูกเหล่าเกมเมอร์โจมตีอย่างหนักจนทำให้ถูกบริษัทถอดเธอจากงานพากย์เสียงเกมชื่อดัง โดยที่ส่งแถลงการณ์ออกมาว่า  บริษัท 'รับฟัง' ความเห็นของชุมชนเกมเมอร์     นี่อาจจะไม่ใช่ข่าวที่ถูกตีแผ่มากเท่ากับดราม่าผมสั้นของอัน ซาน  แต่สื่อหลายเจ้าก็ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน  เพราะผู้คนจากสังคมอื่นอาจจะไม่คาดคิดว่า ผู้หญิงในประเทศนี้จะสูญเสียงานเพียงเพราะเพราะใส่เสื้อยืดที่โชว์ feminist theme แบบไร้ความรุนนแรงหรือสุดโต่งใดๆ ที่จริงแล้วมันคือ fact สำหรับผู้หญิงจำนวนมากมายที่พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องแสงหาความช่วยเหลือจากเจ้าชายที่ไหน

คุณอาจจะเห็นการวิเคราะห์สาเหตุว่า เหตุใดผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชายจึงตั้งแง่รังเกียจ feminist และเคยพบเห็นการถกเถียงข้อขัดแย้งเรื่องนี้ผ่าซีรีส์มาก่อน หากจะลองยกตัวอย่างความคิดของกลุ่ม anti เนื้อเพลงแร็พ Feminist ของศิลปินซาน อี ที่ว่า

"คุณก็คงจะอ้างสถิติจากประเทศ OECD ว่าเกาหลีมีความแตกต่างทางรายได้ของชายหญิงสูงสุด  นั่นโคตรมั่ว ถ้าอยากให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมมากนักล่ะก็  ทำไมผู้หญิงไม่เข้ากรมทหารบ้างล่ะ   มาทำเป็นพูดว่าไม่อยากได้เจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือ  งั้นแต่งงานแล้วลองหารค่าใช้จ่ายค่ากินอยู่ในครอบครัวแบบครึ่งต่อครึ่งสิ"

ความเห็นดุดันเหล่านี้ทำให้ซาน อีถูกโจมตีอย่างหนักจนต้องเปลี่ยนน้ำเสียงมาอธิบายความหมายของเนื้อเพลงซึ่งไม่ได้มาตัวตนที่แท้จริงของเขา แต่เป็นการเล่าเรื่อง ไม่ได้ต่อต้านสิทธิความเท่าเทียมทางเพศไปหมด แต่ต้องการจะวิจารณ์พวกfeministตัวปลอมที่มีเชื่อมั่นอะไรผิดๆ แต่หลังจากนั้น เขาไม่ได้ลดละความก้าวร้าวลงไป ประกาศกลางคอนเสิร์ตว่า

" feministเหรอ ไม่ใช่แล้วล่ะ คุณเป็นโรคประสาทไปแล้วต่างหาก"   

ซาน อีประกาศว่า จะสนับสนุนเฉพาะผู้หญิงสติดีเท่านั้น และยังท้าทายว่า ไม่สนใจกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ผู้ชมจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่พอใจร้องโห่ไล่   กลับกลายเป็น CEO จากต้นสังกัดที่ต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการโค้งขออภัยผู้ชมจากบนเวทีในภายหลัง   แม้ว่าจะมีกลุ่มคนที่ปกป้องซาน อีว่ามีสิทธิ์จะออกความเห็นตามหลักการ free speech  แต่ความโกรธเกรี้ยวจากสังคมนั้นรุนแรงจนทำให้ต้นสังกัดตัดสินใจยุติสัญญากับแร็พเพอร์ผู้อื้อฉาว   







บทบาทของเพศชายในสังคมเกาหลีที่ถูกกำหนดจากผู้มีอำนาจในการปกครองให้เข้ากรมเพื่อรับการฝึกเป็นทหารนั้นได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความคับแค้นใจถึงความ 'เสียเปรียบ' ดังที่ได้เห็นจากสื่อต่างๆ ที่มีการหยิบยกเรื่อง 'อภิสิทธิ์'ของผู้หญิงที่ไม่ต้องเข้ากรมมาถากถางผู้ที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยความเชื่อว่า เมื่อถูกบีบบังคับให้ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในกรมยาวนานสองปี เพศที่ได้รับการยกเว้นจึงไม่มีสิทธิ์มีเสียงเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมใดๆทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาได้รับความคาดหวังให้แบกรับเรื่องการหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวเพียงฝ่ายเดียว




ซาน อีไม่ต้องเข้ากรมรับใช้ชาติเพราะย้ายไปอาศัยในอเมริกาในวัยประถมและได้รับสัญชาติอเมริกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี หรืออเมริกา  หากศิลปินออกตัวแรงว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อความเท่าเทียมทางเพศ กระแส cancel ย่อมตามมาเล่นงาน    แต่แร็พเพอร์ผู้นี้กลับมีความมาดมั่นมากพอที่จะว่งข้อความผ่าน background ระหว่างแสดงคอนเสิร์ตว่า " ผมชอบ Spycam" ที่เปรียบเหมือนกับการเหยียบย่ำความเจ็บปวดของผู้หญิงเกาหลีที่ต้องหวาดหวั่นว่าจะถูกแอบถ่าย  พวกเธอจะต้องเช็คอยู่เสมอว่ามีกล้องซุกซ่อนในห้องสุขาหรือไม่  รวมไปถึงผู้หญิงที่ถูกแฟนหนุ่มลักลอบถ่ายวีดีโอตอนที่กำลังมีความสัมพันธ์ทางเพศกัน  การเรียกร้องต่อต้านอาชญากรรมทางเพศผ่าน digital ของพวกเธอทำให้หน่วยงานรัฐเริ่มหันมาสนใจสอดส่องดูแลมากขึ้น  แต่ผู้หญิงจำนวนมากก็ต้องใช้ชีวิตไปพร้อมกับความหวาดระแวงว่าจะถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่รู้ตัว


อี จุนซอก อีกหนึ่งตัวอย่างของชายหนุ่มเกาหลีที่ใช้การโจมตี feminist หัวรุนแรงสร้างความฮือฮาให้กับสังคม เขาเป็นนักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านที่เชิดชูแนวอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมถูกเปรียบเทียบกับ Donald Trump มีการวิเคราะห์ว่า เส้นทางการเมืองของผู้ชายวัย36 ผู้นี้ได้รับการจับตามองเนื่องจากเขาสามารถดึงดูดเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ที่ผิดหวังต่อประธานาธิบดีมุน แจอิน ผู้ที่เคยให้คำมั่นเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและเรียกตัวเองว่าเป็นประธานาธิบดีfeminist แต่อี จุนซอกผู้อยู่ฝั่งตรงข้ามได้ตราหน้าว่า พฤติกรรมของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีหัวรุนแรงที่จ้องทำลายผู้ชายนั้นไม่ต่างจากการก่อการร้าย 9 11 จากการข่มขู่สังคมด้วยพิสูจน์แนวคิดสุดป่วยจนสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น

จอง ฮันวูล นักวิจัยจาก Hankook Research Company ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลวิจัยของเขาในปี 2019 พบว่าชายหนุ่มในช่วงวัยยี่สิบเกือบ60 % ต่อต้านเรื่องสิทธิสตรี ไม่เชือว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ถูกกดขี่จากแนวคิดชายเป็นใหญ่ แต่เป็นชายต่างหากที่กลายเป็นเหยื่อที่ถูกโจมตีรุนแรง และได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม




เมื่อจะค้นหาคำตอบว่า  เหตุใดผู้ชายเกาหลี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จึงต่อต้านการรณรงค์เรียกร้องสิทธิสตรี   การวิเคราะห์ค้นหาคำตอบที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่เรื่องการเปรียบเทียบว่า ผู้หญิงหรือผู้ชายเป็นฝ่ายเสียสละมากกว่ากัน  หรือใครเป็นเหยื่อที่ถูกกดขี่ตัวจริง  แต่มองลึกถึงวัฒนธรรมที่เติบโตกับความเชื่อแบบลัทธิขงจื๊อใหม่ที่ผูกพันกันแน่นเเหนียวจนแยกไม่ออก     การพัฒนาวัตถุทางอาจจะก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง   แม้จะเป็นกลุ่มหนุ่มสาวผู้ถูกคาดหวังให้ขับเคลื่อนสังคมให้เปลี่ยนแปลงสู่ความพัฒนา  แต่หลายคนยังถูกปลูกฝังให้มองภาพการใช้ชีวิตร่วมกันโดยกำหนดบทบาทของหญิง-ชายแยกจากกัน และรู้สึกหวาดหวั่น หากผู้หญิงจะเกินออกจากกรอบข้อปฏิบัติตามกันมาหลายชั่วคน



ความขัดแย้งลุกลามกลายเป็นศึกระหว่างชาย-หญิง

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน  สังคมเกาหลีก็ต้องแบ่งฝักฝ่ายจากประเด็นขัดแย้งร้อนแรงอีกครั้ง  เมื่อคนกลุ่มหนึ่งได้กล่าวหาหลายแบรนด์สินค้าว่า จงใจใช้สัญลักษณ์มือที่สื่อถึงการล้อเลียนขนาดอวัยวะเพศของชายเกาหลีว่ามีขนาดเล็กจิ๋ว  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เดียวกับกลุ่ม feminist ที่เรียกตัวเองว่า Megalia นำมาใช้    ทำให้หลายคนมั่นใจว่า เป็นการแสดงนัยยะดูถูกดูแคลนผู้ชาย กลายเป็นกระแสต่อต้านสินค้าเหล่านี้ จนแบรนด์ต้องออกมาชี้แจงว่ามิได้เป็นความตั้งใจเหยียดเพศชาย และถอดโฆษณาออกไป

แม้ว่าในกลุ่มคนมีชื่อเสียง  การประกาศตัวว่าเป็นfeminist อาจจะเป็นเรื่องต้องห้ามเพราะการเปิดเผยอุดมการณ์อย่างชัดเจนว่าต้องการความเท่าเทียมอาจจะถูกจับผิดด้วยสายตาอันมีอคติ และถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกโกรธเกรี้ยวประสาทเสีย   แต่ยังมีผู้คนมากมายที่พยายามปลดแอกตัวจากแนวคิดปิตาธิปไตยที่กดขี่ให้ทุกข์ทน   ในวันนี้พวกเค้าอาจจะถูกยัดเบียดบทตัวร้าย  แต่อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในอนาคต



คุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ได้ยินการยกเหตุผลมาหักล้างว่า เหล่าfeminist เต็มไปด้วยความพยาบาทและเกลียดชังผู้ชายอย่างไร้เหตุผล แค่เอ่ยคำว่าสิทธิสตรี ก็อาจจะถูกสวนกลับว่า feminist หัวรุนแรง เกรี้ยวกราด ไม่ปล่อยวาง ถ่วงความเจริญ
 แต่สิทธิที่เท่าเทียมทางเพศเป็นพิษร้ายที่กัดกินสังคมให้พังทลายจริงหรือ?      หากพิจารณาถึงประเทศที่พยายามก้าวจากแนวคิดเหยียดเพศในอดีตเพื่อเข้าสู่สังคมในอุดมคติ ที่ไม่ว่าจะมีเพศสภาพเช่นใดก็ได้รับการปฏิบัติด้วยความนับถือ ไม่ถูกแบ่งแยกกีดกันเพราะเพศที่แตกต่างกัน    กลุ่มประเทศเหล่านั้นกลับได้รับเสียงชื่นชมปนอิจฉาว่าช่างน่าอยู่    ถ้าคุณสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตในสังคมแบบใด   เราเชื่อว่าคำตอบของคนจำนวนมากก็น่าจะตรงกัน


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE