แพ้, ระคายเคือง, อุดตัน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?

43 9
GIVEN BY BRAND / แบรนด์ฝากประชาสัมพันธ์จ้า ^^
วันก่อนแฟนผมคุณรติมาครับ เธอไปซื้อมาส์กหน้ามายี่ห้อนึงครับ คืนนั้นหลังจากมาส์กไปได้ไม่ถึง5นาที เธอก็มาบอกผมว่า ‘’นี่ๆคุณ...ทำไมใช้แล้วแสบๆ แพ้รึเปล่า" ด้วยความที่ผมเป็น Skincare Chemist ผมก็เลยไปคุ้ยถังขยะเอาซองมาส์กมาวิเคราะห์ดูส่วนผสมครับ แล้วผมก็บอกเธอไปว่า

"ผมว่ามันไม่น่าจะเรียกว่าแพ้นะครับ น่าจะเรียกว่าระคายเคืองมากกว่าครับ"

หลังจากนั้น คุณรติมาเค้าก็ถามผมว่า "แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าไม่ได้แพ้" ผมเลยตอบไปด้วยน้ำเสียงเท่ห์ๆ ครับว่า "It's my career " พร้อมกับบอกให้เธอรีบไปล้างหน้าแล้วเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง

บทสนทนาในครอบครัววันก่อน จึงเป็นที่มาของคอนเทนต์ในวันนี้ครับ "แพ้" "ระคายเคือง" "(ทำให้)อุดตัน" เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เชิญติดตามอ่านกันได้เลยครับ

แพ้ (Allergy)

เป็นกระบวนการตอบสนองของผิวต่อสารใดสารหนึ่งที่คาดว่าจะมีอันตราย (บางทีสารนั้นไม่ได้มีอันตรายจริงๆหรอกครับ ผิวเราบางทีก็เข้าใจผิดไปเอง)
โดยสารนั้นๆ ผิว "ต้องเคยเจอ" มาก่อนแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง และพอเจออีกครั้งเป็นครั้งที่สอง ผิวก็จะตอบสนองออกมาโดยมีอาการที่สำคัญคือ "แดง บวม คัน ลอก" โดยอาการนี้อาจจะเกิดในตำแหน่งที่สัมผัสกับสารก่อแพ้ หรือ บางทีก็เกิดในตำแหน่งอื่นได้ครับ

ยกตัวอย่างคล้ายๆกับการแพ้อาหาร เช่น คนแพ้กุ้ง กินกุ้งเข้าไป บางคนก็มีอาการแดง, คันรอบบริเวณปาก บางคนก็คันทั้งตัว หรือบางคนที่มีอาการมาก อาจจะเกิดการบวมของผนังทางเดินหายใจ ทำให้หายใจติดขัดได้ เป็นต้นครับ
ระยะเวลาในการเกิดการแพ้ หลังจากผิวเจอสารก่อแพ้เข้าไป อาจจะเกิดทันที หรืออาจจะเกิดช้าออกไปเป็นสัปดาห์ก็ได้ครับ เช่น ทาครีมวันนี้ไปแพ้เอาอาทิตย์หน้า แบบนี้ก็มีครับ

สารที่เป็นต้นเหตุของการแพ้นั้น "เป็นไปได้ทุกตัว" ครับ การจะระบุว่าแพ้สารตัวไหนในครีม ค่อนข้างยากมากครับ ถ้าอยากรู้จริงๆต้องไปทำเทสต์ครับ แต่จากงานวิจัยหลายๆฉบับ สรุปสารที่คนมักแพ้ง่าย (คำว่าแพ้ง่ายในที่นี้คือ ประมาณ1%เองนะครับ 100คนแพ้ซัก1คน) ออกมาเป็น 5 กลุ่มครับ

1. กลุ่มน้ำมันหอมระเหย - โดยเฉพาะตระกูล citrus พบการแพ้ได้บ่อยครับ
2. โลหะหนัก - นิกเกิล, ทอง
3. สี - ที่มักพบว่าแพ้ เช่น น้ำมันดิน (Coal tar) ซึ่งแต่ก่อนใช้ในสีย้อมผมกันมาก
4. ยางธรรมชาติ (Latex)
5. สารกันเสีย - ตัวที่พบว่าแพ้ในระดับ 1% เช่น กลุ่ม Thiazolinone, กลุ่มที่ปล่อย Formaldehyde ที่ยังพบว่ามีการใช้อยู่ เช่น DMDM Hydantoin

การที่นักวิชาการรายงานสารที่ก่อแพ้ออกมาในลักษณะนี้ ผมมองว่ามันเป็นเหมือน "ดาบสองคม" ครับ ข้อดีคือ เราได้รับรู้ว่าสารใดควรเฝ้าระวัง แต่ข้อเสียคือ ผู้บริโภคมักเกิดความเข้าใจผิดว่า สารทั้งกลุ่มนั้นทั้งหมดก่อการแพ้ได้ง่าย เช่น สารกันบูดแพ้ง่ายทุกตัว, น้ำหอมแพ้ง่ายทุกตัว หรือสารที่ไม่ใส่สีปลอดภัยกว่า เป็นต้น ซึ่งบางทีก็ไม่จริงเสมอไปครับ

ถ้าถามความเห็นผม ผมคิดว่า การแพ้ (Allergy) ต่อสารเคมีใดสารเคมีหนึ่งในสกินแคร์พบไม่มากครับ  สมมติใช้สกินแคร์แล้วมีความผิดปกติเกิดขึ้น 100 คน สาเหตุจากการแพ้น่าจะอยู่ในระดับ 1-2% หรือ 1-2 คนเท่านั้นเองครับ
อ้าว แล้วที่ใช้แล้วหน้าเห่อแดง แสบ คัน ไม่เรียกแพ้ แล้วเรียกว่าอะไร?
ส่วนใหญ่ (ผมเชื่อว่าเกิน 50%) ความผิดปกติจากการใช้สกินแคร์มาจาก "ความระคายเคือง" ครับ


ระคายเคือง (Irritation)

อาการที่พบเหมือนกับการแพ้ทุกประการครับ นั่นคือ "แดง บวม คัน ลอก" แต่จะมีข้อแตกต่างคือ ทาตรงไหนก็จะมีอาการแค่ตรงนั้นครับ อีกอย่างที่สังเกตุได้ชัดคือ อาการมักเกิดทันทีในระดับวินาที หรืออย่างช้าไม่เกินภายใน 5 นาทีครับ ขึ้นอยู่กับความหนาของหนังหน้า เอ้ยไม่ใช่ครับ ความแข็งแรงของ Skin Barrier ของแต่ละคนครับ

สาเหตุของความระคายเคือง เราแบ่งได้เป็น 2 กลไกใหญ่ๆดังนี้ครับ

กลไกที่ 1 : สารนั้นมีค่าความเป็นกรดหรือด่างที่สูงเกินไปครับ

โดยสารที่เป็นกรดจะไปละลายกาว (Desmosome) ที่เชื่อมเซลล์ corneocyte ออก ทำให้เซลล์หลุดลอกออกไปครับ ได้แก่ AHA, BHA ต่างๆ
ส่วนสารที่เป็นด่างจะไปทำลายโปรตีน (Corneoenvelope) ที่หุ้มเซลล์ Corneocyte ทำให้เซลล์แตก ในชีวิตประจำวันบางคนอาจจะเคยรู้สึกนิ้วมือลื่นๆ เวลาสัมผัสน้ำปูนใสเข้มข้น หรือ เวลาไปแช่ออนเซ็นที่ค่าความเป็นด่างสูงๆ ที่จริงผิวคุณกำลังโดนละลายอยู่น่ะครับ สารในกลุ่มนี้ เช่น Conditioning agent บางชนิดที่มักพบในครีมนวดผม เป็นต้นครับ

กลไกที่ 2 : สารนั้นมีความสามารถในการชะล้างหรือละลายเอาไขมันที่อยู่ระหว่างเซลล์ (Intercellular lipid) ออกไป โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มที่มีฤทธิ์ชำระล้าง เช่น SLS และกลุ่มที่มีฤทธิ์ละลาย เช่น Isopropylmyristate(IPM), Isododecane  รวมถึง ETHANOL เป็นต้นครับ

โดยไม่ว่าจะด้วยกลไกที่ 1 หรือ 2 ก็ตาม ผลเสียที่ได้รับคือ Skin Barrier จะถูกทำลาย ทำให้สารก่อความระคายเคืองจากภายนอก ยิ่งเข้ามาทำลายผิวได้มากขึ้น อีกทั้งผิวยังไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ทำให้ผิวแห้ง แสบ

ถ้าสัมผัสมาก หรือ เดิมที Skin barrier ไม่แข็งแรง (หรือที่มักเรียกว่า Sensitive Skin) อยู่แล้ว ก็อาจจะเกิดการอักเสบแดง บวม คัน ลอกได้มากและรุนแรงครับ


ความผิดปกติอีกชนิดที่พบได้บ่อย แต่อาการจะค่อนข้างต่างออกไปอย่างชัดเจน นั่นก็คือ Comedone ซึ่งเกิดจากสารนั้นๆมีคุณสมบติ "ทำให้" เกิดการอุดตันของรูขุมขนครับ

ที่ผมต้องเน้นคำว่า "ทำให้" ก็เพราะว่า สารที่มีฤทธิ์เป็น Comedogenic ไม่ได้ไปอุดตันรูขุมขนด้วยตัวของมันเอง แต่มันจะไปกระตุ้นให้เซลล์ผิวที่อยู่ที่ผนังด้านในของรูขุมขนแบ่งตัวเพิ่มขึ้นจนรูขุมขนแคบลงและอุดตันในที่สุด (Follicular Hyperkeratinosis)

และเมื่อการอุดตันเกิดขึ้น ไขมันจากต่อมไขมันก็จะออกมาไม่ได้ เกิดเป็นสิวเม็ดเล็กๆเรียกว่า Comedone ซึ่งมีทั้งสีขาว (ไม่มีรูเปิด) และสีดำ (มีรูเปิด) และหากมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วยก็จะพัฒนาเป็นสิวอักเสบมีหนองได้ในที่สุดครับ
ความผิดปกติชนิดนี้พบได้บ่อยเหมือนกันครับ(อันดับสองรองจากระคายเคือง) และมีข้อสังเกตคือ

1. อาการจะไม่เป็นทันที จะเกิดในระดับวันถึงสัปดาห์หลังจากได้รับสารนั้นๆติดต่อกัน
2. ไม่จำเป็นว่าสารนั้นต้องเป็นไขมัน สารบางตัวละลายน้ำได้ แต่มีฤทธิ์เป็น comedogenic ที่สูงก็มี
3. สารที่เป็นไขมันหนืดๆ ที่ดูน่าจะอุดตันแน่ๆ ที่จริงแล้วส่วนใหญ่เป็น comedogenic ต่ำครับ เพราะมันหนืดจน ลงไปในรูขุมขนไม่ได้ เลยไปกระตุ้นการแบ่งตัวภายในรูขุมขนไม่ได้นั่นเองครับ
4. ในทางกลับกัน น้ำมันที่ความหนืดต่ำๆ โมเลกุลขนาดปานกลาง กลับเป็น Comedogenic ที่สูง เนื่องจากเข้าไปในรูขุมขนได้ลึกและทำให้เกิดการแบ่งตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้รูขุมขนตีบตัน

สารที่เป็นต้นเหตุของการเกิด Comedone แบ่งออกเป็นกลุ่มๆได้ยากครับ สารกลุ่มเดียวกันบางตัวเป็น Highly comedogenic แต่บางตัวกลับเป็น Non comedogenic จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเอาสารมาทดสอบเป็นตัวๆครับ

รูปนี้เป็น Summary เปรียบเทียบทั้ง 3 ความผิดปกติว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรครับ

สุดท้ายผมอยากบอกกับทุกๆคนว่า

" ระวังได้ แต่อย่ากลัวเกินไป"

สารตัวใดตัวหนึ่งอาจจะเป็น Highly Irritative & Comedogenic ingredient แต่ไม่ได้แปลว่าการมีสารนั้นอยู่ในฉลาก ผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องเป็น Highly Irritative & Comedogenic products เสมอไป มันขึ้นอยู่กับปริมาณด้วย, ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ร่วมกับสารอื่นๆอะไรบ้าง, ลักษณะการใช้ว่าเป็นแบบทาทิ้งไว้หรือล้างออก, ขึ้นกับสภาพผิวของคนๆนั้น ณ เวลานั้นๆ และยังมีอีกมากมายหลายปัจจัยครับ

ส่วนตัวผมมีความเห็นว่าผลิตภัณฑ์หนึ่งๆในตลาด จะมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของผิวมากหรือน้อยนั้น ปัจจัยที่สำคัญคือ

"ความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้คิดค้นสูตร + ธรรมาภิบาลของผู้ประกอบการ"



แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีสูตรตำรับไหนบนโลกใบนี้ที่สามารถพูดได้ 100% ว่าจะไม่เกิดความผิดปกติแน่นอนครับ ถึงแม้บางแบรนด์จะพูดว่าใช้แล้วไม่แพ้, ผิวบอบบางก็ใช้ได้, ผ่านการตรวจสอบจากแพทย์ผิวหนัง, ไม่ก่อให้เกิดสิวหรือระคายเคืองก็ตาม

ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ หากท่านใช้แล้วเกิดความผิดปกติเกิดขึ้น ให้หยุดใช้ทันที ล้างบริเวณที่มีอาการผิดปกติด้วยน้ำสะอาดมากๆ (กรณีอาการผิดปกติเกิดทันทีหลังใช้) และหากมีอาการมากให้รีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญครับ

ผมขอขอบคุณทุกๆท่านมากครับที่อ่านจนจบ




Amata Chaikriangkrai

Amata Chaikriangkrai

สวัสดีครับ ผมชื่อฝุ่ง อมต

ประวัติการทำงาน
- 2020-Present AMT Skincare Co-founder ในฐานะผู้คิดค้นสูตรและควบคุมการผลิต
- อาจารย์พิเศษ cosmetic science คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 2018-Present Kaneda Bangkok ในฐานะ Formulator คิดค้นสูตรอยู่เบื้องหลังให้โรงงานเครื่องสำอาง Asia Pacific
- 2013-2018 Kose Coporation Japan ในฐานะ Skincare Chemist อยู่เบื้องหลังสูตรสกินแคร์ เช่น Decorte, Infinity, Sekisei, Albion และอีกมากมาย

ประวัติการศีกษา
- ปริญญาตรีเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาเภสัชเคมี
- ปริญญาโททุนรัฐบาลญี่ปุ่น Cosmetic Science, Tokyo University of Technology


รางวัลและผลงานวิชาการ
- เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Young scientist Prize 2015 จาก IFSCC หรือสมาคมนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางโลก https://ifscc.org/awards-prizes/maison-g-de-navarre-prize/
- ได้รับรางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยม จากสมาคมนักเคมี ญี่ปุ่น 2013
- งานวิจัย และสิทธิบัตร จดทะเบียนประเทศญี่ปุ่นมากมาย

FULL PROFILE