Kenzo Takada ผู้บุกเบิกเส้นทางแฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่น แบรนด์แรกในฝรั่งเศส

45 8
กว่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่นระดับโลก คงไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับแบรนด์เสื้อผ้าที่เกิดจากคนญี่ปุ่น มีชื่อเสียงและโดดเด่นได้ในห้องเสื้อปารีสยุค 1970s นั่น ใช้คำว่าลำบากกว่าหลายเท่า

"เคนโซ ทากาดะ (Kenzo Takada)" ผู้ก่อตั้ง Kenzo แบรนด์แฟชั่นระดับโลกที่เกิดขึ้นได้จากแรงบันดาลใจเพราะอ่านนิตยสารของพี่สาว แต่การทำตามความฝันในเส้นทางแฟชั่นของเขาก็ไม่ได้สดใสเหมือนลวดลายบนเสื้อผ้าเลยแม้แต่น้อย
Kenzo เปิดตัวในปี 1970 ที่มีทั้งเสื้อผ้า น้ำหอม ไอเท็มแฟชั่น ของตกแต่งบ้าน ถ้าใครรู้สึกคุ้นๆ กับแบรนด์นี้จะร้อง อ๋อ ทันทีเมื่อพูดถึงเสื้อผ้าสีสันผสมลวดลายดอกไม้ และลายหัวเสือ นกกระเรียน บนเสื้อสเวตเตอร์ รวมถึงน้ำหอมขวดโค้งที่มีดอกป็อปปี้สีแดงอยู่ด้านใน 
เขาคือหนึ่งในผู้สร้างประวิติศาสตร์วงการแฟชั่น ด้วยการเป็นคนแรกในหลายเรื่องราวที่กลายเป็นแรงบันดาลใจและผู้บุกเบิกวัฒนธรรมวงการแฟชั่นที่รวม 2 วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน จนเกิดเรื่องราวเจ๋งๆ ที่สร้างมาด้วยมพยายาม ดื้อรั้น กล้าได้กล้าเสียตลอดช่วงอายุวัยรุ่น

ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นคนแรกในปารีส


มีดีไซเนอร์เก่งๆ มากมายที่แจ้งเกิดในอาณาจักรแฟชั่นฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเจ้าถิ่น แน่นอนว่าคนเอเชียอย่างเขาแทบจะไม่มีที่ยืน และถูกจัดเป็นคนต้องห้ามในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ แต่ใครล่ะจะไม่ยอมแพ้ต่อความพยายามและใส่ใจสไตล์คนญี่ปุ่น

แต่ใครจะรู้ว่าการเดิมพันครั้งสุดท้ายของเขานั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นแรก! หลังจากที่ตระเวนนำเสนอผลงานผ่านภาพวาดในสมุดสเก็ตช์จนทั่วปารีสอยู่เป็นปี แต่ไม่มีบริษัทแฟชั่น ห้างสรรพสินค้าไหนสนใจ เขาเลยตัดสินใจเปิดบูทิคเป็นของตัวเอง เพื่อเจาะกลุ่มแฟชั่นเล็กๆ และเริ่มตีสนิทกับดีไซเนอร์คนอื่นๆ อีก 5 ปีหลังจากนั้นเขาก็ได้สร้างแบรนด์ "Jungle Jap" ขึ้นมาจากแรงบันดาลใจจากป่าฝน ด้วยสีสันสดใสและสไตล์ความเป็นญี่ปุ่นจ๋าๆ นั้น ทำให้ผลงานเขาโดดเด่นจนจนได้รับการยอมรับจากนักออกแบบอย่าง Louis Feraud และเขาคือใบเบิกทางวงการแฟชั่นญี่ปุ่นในฝรั่งเศสจนเกิดแบรนด์อื่นๆ ตามมาอย่าง UNIQLO , Comme des Garcons , Issey Miyake

ลูกชายเจ้าของโรงแรม ที่ใจรักในแฟชั่น


ดีไซเนอร์ส่วนใหญ่มักมีประวัติที่ต้องต่อสู้ ฟาดฟันกับชีวิตที่ลำบาก มีเงินอันน้อยนิดกับใจที่รักในแฟชั่นยาวนานหลายปี ถึงแม้ เคนโซ ทากาดะ จะมีแต้มต่อเรื่องฐานะทางบ้าน แต่ลูกชายคนสุดท้องเจ้าของโรงแรมที่ขัดใจพ่อแม่มาเรียนด้านแฟชั่นในยุคนั้นก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายในเส้นทางนี้

เขายอมเข้าเรียนตามเส้นทางที่พ่อแม่วางไว้ แต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะหลังจากที่พ่อของเขาเสียชีวิตได้ไม่นาน เขาก็ถอนตัวและเลือกเรียนต่อในด้านแฟชั่นที่รัก เมื่อเรียนจบและอยู่ในช่วงที่เขาทำงานในห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น เขาเคยออกแบบชุดผู้หญิงมากกว่า 40 ชุดใน 1 เดือนอีกด้วย

ไปปารีสตัวเปล่า ก็สร้างแบรนด์ระดับโลกได้


ในตอนนั้นเขาอายุ 25 ปี อพาร์ตเมนต์ของเขาโดนรื้อเพื่อการเตรียมงานโอลิมปิกในปี 1964 เขายินดีและรับเงินชดเชยก้อนนั้น ตัดสินใจบอกลาบ้านเกิด นั่งเรือข้ามทวีปจากญี่ปุ่น-ฝรั่งเศสนาน 6 สัปดาห์ เพื่อเรียนรู้เรื่องแฟชั่นด้วยตัวคนเดียว เขาเคยเล่าถึงช่วงเวลาแรกว่า “ตอนนั้นค่อนข้างลำบาก อากาศหนาวมาก ผมไม่รู้จักใคร และพูดภาษาฝรั่งเศสก็ไม่ได้ เงินก็แทบไม่มี ผมรู้สึกไม่มีความสุขเลย” 

เงินก้อนเดียวที่มีไม่มากพอกับการใช้ชีวิตในปารีส ทำให้เขาต้องวาดภาพเพื่อหาเงินเพิ่ม และนำเศษผ้าลดราคาจากตลาดมาตัดเย็บรวมสีสัน จนกลายเป็นอีกหนึ่งในซิกเนเจอร์ของแบรนด์

คนแรกที่ออกแบบชุดกิโมโนประยุกต์ให้ฝรั่งใส่


การเริ่มทำในสิ่งที่ชอบเร็วกว่าใครๆ ทำให้เขาเป็นคนแรกในหลายด้าน เขาเรียนในบุงกะ งะกุเอ็น สถาบันสอนแฟชั่นในกรุงโตเกียว และเป็นนักศึกษาชายรุ่นแรกของสถานบัน ที่ได้เรียนรู้ถึงความประณีตด้านแฟชั่นเหมือนกับผู้หญิง

หลังจากที่เขาได้เรียนลงและมาตามฝันในปารีส ขาได้สร้างความแปลกใหม่ด้วยการรวมทั้ง 2 วัฒนธรรมทางแฟชั่นเข้าด้วยกัน ลองคิดภาพชุดกิโมโนที่สวมใส่โดยนางแบบฝรั่ง ชุดถูกตัดเย็บด้วยผ้าทวีด (เนื้อผ้าที่คุ้นตาในสูทของชาแนล) รวมไปถึงการใช้ผ้าสีสันลายสก็อต ผสมลายดอกไม้สีสด ดอกเชอร์รีสีชมพูเข้ากับดอกกุหลาบสีแดงออกมาเป็นชุดกิโมโน คงเด่นและเก๋ ไม่น้อยในยุคนั้นเลย

“เคนโซคือมหัศจรรย์แห่งสีสัน” โคลด บรูเอต์ (Claude Brouet) อดีตบรรณาธิการแฟชั่นของนิตยสารแอล

“เสื้อผ้าของเขาทำให้ผู้คนมีความสุข” อิซเซ มิยาเกะ (Issey Miyake)

คำชมจากเพื่อนร่วมงานด้านแฟชั่น และผู้คนอีกมากมายนับไม่ถ้วน ที่รัก ชื่นชม และพูดไปในทางเดียวกันว่าผลงานของเขานั้นแสดงออกถึงความสดใส สีสัน ถึงแม้แฟชั่นจะมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่ความใส่ใจในรายละเอียดในแบบฉบับความเป็นญี่ปุ่นก็ยังคงมีแทรกอยู่ในแบรนด์เสมอ

​โชว์สุดท้ายก่อนวางมือ


Kenzo 1999 Collection เป็นโชว์สุดท้ายในวันครบรอบ 30 ปีของแบรนด์ ก่อนที่เขาจะขายกิจการให้กับแบรนด์ใหญ่ยักษ์อย่าง LVMH เรียกว่าเป็นการเกษียณ ที่ไม่เคยวางมือ เพราะเขายังดูแลการออกแบบของสินค้าในแบรนด์ตัวเองต่อไป ถึงแม้เขาว่าเคยพูดว่า "ยังรู้สึกแปลกๆ เวลาเดินผ่านหน้าร้านตัวเอง" ก็ตาม

"เคนโซ ทากาดะ (Kenzo Takada)"  ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Kenzo ได้เสียชีวิตด้วยอาการป่วยจาก Covid-19 ในวัย 81 ปี ที่โรงพยาบาล American Hospital of Paris ในวันที่ 4 ตุลาคม 2563

หนึ่งในผู้เขียนประวัติศาสตร์วงการแฟชั่นได้จากไป แต่เรื่องราวของเขายังคงสร้างแรงบันดาลใจต่อใครอีกหลายคน


natiprada

natiprada

FULL PROFILE