วิธีค้นหาอาชีพหรืองานสไตล์ที่ใช่สำหรับตัวเอง

8 2

สวัสดีค่ะ ขอแนะนำตัวก่อนนะคะชื่อติวเตอร์ค่ะ นี่เป็นกระทู้แรกเลยค่ะที่มาเขียนที่ Jeban

ยังไงช่วยเป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ

คุณเคยอยู่ในภาวะแบบนี้ไหม?

ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วตัวเองชอบอะไร ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสิ่งที่เราทำอยู่ มันใช่เราจริงๆไหม?

Post นี้ติวจะขอพูดถึงการเลือกสไตล์ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะงานที่เป็นแฟชั่น

รวมถึงการหาตัวเองทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสายงาน หรือการทำงานอดิเรก

ติวเคยอยู่ในสภาวะแบบนี้มาก่อนค่ะ ความรู้สึกที่ว่าจู่ๆความสนุกก็หายไป

ความกระหายเหือดแห้ง ตื่นมาทำงานประจำด้วยความรู้สึกที่ว่า "อีกแล้วหรอ?"

พอรู้สึกแบบนี้เยอะขึ้นทุกวันๆ เราก็เลยรู้สึกว่ามันผิดปกติละล่ะ และสุดท้ายกว่าจะเจอสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ เวลาก็ผ่านไปตั้ง 2 ปี แต่วันที่เราเจอแล้วว่าเราน่าจะชอบอะไรเนี่ย ติวใช้เวลาคุยกับตัวเองแค่ 2 วันเองค่ะ

และอยากแบ่งปันประสบการณ์ในการหาตัวเองมาให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาอ่าน และเจอปัญหาเหล่านี้อยู่เหมือนกัน และจะได้ไม่ต้องเสียเวลานานในการหาตัวเองนะคะ

วิธีหา Style ของตัวเองให้เจอมีดังนี้

1. List รายการสิ่งที่ตัวเองชอบ และ ไม่ชอบแล้วทำ Mind map

ในขั้นแรกให้ทำตารางเปรียบความชอบและไม่ชอบของตัวเองค่ะ แบ่งตารางเป็นซ้าย ขวา โดยที่ให้ด้านซ้ายเป็นสิ่งที่เราชอบ และด้านขวาเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ และนอกจากนี้คุณยังสามารถแบ่งเป็นหัวข้อย่อยลงไปได้อีกค่ะ

ยกตัวอย่างหัวข้อย่อยที่น่าสนใจ เช่น เรื่องการงาน,เรื่องสุขภาพ,เรื่องการเงิน,เรื่องครอบครัว สามารถหาคำตอบได้ด้วยวิธีนี้เหมือนกันนะคะ

(แต่ใน post นี้ติวจะขอยกตัวอย่างเจาะเฉพาะแค่เรื่องงาน และการเลือกงานอดิเรกนะคะ)

Q : ทำไมถึงต้องทำ 2 ช่องด้วยล่ะ? ช่องเดียวก็น่าจะรู้เรื่องแล้วรึเปล่า

A : สาเหตุที่ให้ทำ 2 ช่องเพราะว่า ในบางครั้งพอพูดถึงสิ่งที่เราชอบอาจจะนึกออกไม่หมด ถ้านึกไม่ออกให้ลองนึกจากสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบก่อนค่ะ เช่น

ถ้าไม่ชอบตากแดด = งานทำในที่ร่ม,การออกกำลังดูแลสุขภาพในที่ร่ม

ถ้าไม่ชอบอะไรเรียบๆ = อาจจะเกี่ยวข้องกับงานที่มีดีเทล , สิ่งที่มีสีสัน , เรื่องของ Texture หรือเปล่า

ถ้ายังนึกไม่ออกลองดูตารางข้างล่างได้เลยค่ะ

จะเห็นได้ว่าจากที่เราเริ่มทำตารางมาแล้ว เราจะได้ Keywords มากมายจากช่องของสิ่งที่เราชอบค่ะ

เมื่อเราได้ Keywords มาแล้ว ให้เราเลือก Keywords ที่ตรงกับเราจริงๆ มีผลกับเราจริงๆมากกว่า 50%

ทำไมถึงต้องเลือกเอาแค่ Keywords บางตัว เพื่อเป็นการย่นระยะเวลาให้คุณได้กรองข้อมูลที่เกี่ยวข้องจริงๆแทนที่จะดึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณแค่ 10% ค่ะ

เมื่อได้ Keywords แล้วให้เราเอาKeywords ที่หามาได้มาดึงข้อมูลเชิงลึกต่อค่ะ วิธีดึงข้อมูลเชิงลึกในที่นี้ก็คือ Mind Map ค่ะ

ให้เราเขียนสิ่งที่เรานึกได้จากการคิด Keywords แต่ละคำออกมาแตกข้อมูลย่อย จากนั้นก็หาตัว Keywords ที่แท้จริงค่ะ

ดูตัวอย่างการทำ Mind Map ข้างล่างเลยนะจ๊ะ

ทีนี้เราจะได้ข้อมูลที่เราแตกออกมาแล้วค่ะ ให้เรานำข้อมูลเหล่านี้มาจัดหมวดหมู่ ทำการวิเคราะห์ และทำการสรุปเพื่อเอาข้อมูลนี้มาคุยกับตัวเองว่า มันใช่เราไหม และของข้อมูลที่ติวนำมาสรุปและวิเคราะห์จะได้ดังนี้ค่ะ

นี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่พอจะเป็นแนวทางช่วยให้คุณคุยกับตัวเองเพื่อหาตัวเองได้ง่ายขึ้นนะคะ

จริงๆแล้วตอนแรกที่ติวลองทำเนี่ย Fantasy Scifi ยังไม่มาเลยด้วยซ้ำ (และตอนนี้สิ่งที่เกิดมาใหม่แบบงงๆคือ เราชอบแนว Graffiti ด้วยเหรอ?)

ตอนที่ติวหาตัวเองผลออกมาคือออกแบบแฟชั่น และ เล่นดนตรี ตอนนั้นติวไม่รู้เลยค่ะว่าจริงๆแล้วเนี่ยอันไหนมันเหมาะกับเรากว่า มันจะเข้าท่าไหม แต่เกิดคำถามลังเลแบบนี้แล้วไม่ไปต่อก็ไม่ได้ละล่ะ เพราะกลับไปนั่งทำงานเดิมติวรู้สึกเหมือนเราเป็น Robot ไปแล้ว รู้สึกว่าทุกวันเรารอการโดนป้อนข้อมูลเพื่อทำให้ชิ้นงานออกมาโดยแทบไม่ได้ใช้กระบวนการคิด เราไม่ได้ออกแบบอะไรเลยมันไม่สนุกเลย ไปดูหน้างานก็รู้สึกเบื่อ สรุปคือเบื่อไปหมด

"วิธีแก้ปัญหาหลังจากเลือกไม่ได้ว่าอันไหนดีกว่าคือ… ลงมือทำมันทั้งคู่"

ตอนนั้นติวไม่แน่ใจค่ะว่าเลือกทางไหนจะดีกว่า ตัดสินใจที่จะ ตัดทางถอย

ติวไปลงเรียนแฟชั่นและกีต้าร์พร้อมๆกัน จริงๆคือ มันสนุกอะสนุกมาก ทั้งคู่เลย

ทีนี้ก็มาวิเคราะห์ว่าเราให้ % ทางไหนมากกว่ากัน ผลของติวคือติวตัดสินใจให้%ทางแฟชั่นเยอะกว่า

และไปลงเรียนการทำแฟชั่นทุกกระบวนการเป็นเวลา 2 ปี แต่มีโอกาสก็ทักจะเอากีต้าร์มาเล่นเสมอๆ

2.ตามหา IDOL/INSPIRATION PEOPLE

ผ่านวิธีแรกไปแล้ว หากยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่แน่ใจ จริงๆแล้วเราชอบอะไร สไตล์ไหนเหมาะกับเรากันนะ

วิธีนี่ก็น่าจะช่วยคุณได้ค่ะ คือ

ตามหา Idol ที่คุณสนใจและชอบความเป็นตัวตนของเขาเหล่านั้น

อย่าง Idol ของติวจะมี 3 คนค่ะ

1.Zaha Hadid : คนนี้เป็นสถาปนิกและนักออกแบบชาวอิรัก-อังกฤษ สิ่งที่ติวประทับใจก็คือ ผลงานของเธอที่ดูแล้วเป็นโลกอนาคต ความเป็น Free form งานที่หลุดออกจากความเป็นจริงที่ว่าหลายๆสิ่งที่เป็น function จะอยู่ในรูปแบบที่เป็น geometric วิธีคิดและการสร้างสรรค์งานของ Zaha Hadid นี่ที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆค่ะ สำหรับติวที่คลั่งงานแนวนี้อยู่แล้วพอเห็นงานของเธอทีไร ใจเต้นทุกทีเลยค่ะ รู้สึกว่านี่แหละ ใช่มากๆ

2. คุณบัณฑิต อึ้งรังษี : คนนี้เป็นคนไทยที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆค่ะ เป็น Conductor ไทยที่คุมวงฝรั่ง เป็นคนที่มีแรงขับเคลื่อนในการดำรงชีวิตมากๆ แค่ได้ฟัง ได้อยู่ใกล้ก็รู้สึกถึงพลังเต็มเปี่ยม และนอกจากด้านดนตรีแล้ว คุณบัณฑิตยัง เป็นผู้ขับเคลื่อนคนให้ชีวิตสำเร็จในชีวิตอีกด้วยค่ะ

3. Lee Mcqueen : ผลงานของ Lee Mcqueen ยังคงติดตรึงอยู่ในความรู้สึกของติวมาตลอดค่ะถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม สิ่งที่ติวประทับใจในตัวเขาก็คือ วิธีการคิด Concept งานแต่ละงานของเขา มันไม่ธรรมดา เขาสามารถส่งผ่านความรู้สึกในงานถึงผู้ชม Fashion Show ของเขาได้แบบกินขาดมากๆ มีการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกหลายๆครั้งทีได้ดูโชว์ของ Alexander Mcqueen งานของเขาจะมีลักษณะที่เป็น Romantic + Art เอกลักษณ์ของงานเขายังเป็นเรื่องของดีเทล งานปริ้นกราฟฟิคลงบนผ้าและการนำเสนอที่ยิ่งใหญ่และฉีกอารมณ์

สรุปสิ่งที่ประทับใจในตัว Idol ทั้ง 3 คน

- Zaha hadid : ความเป็น Post modern , การคิด form ที่หลุดจากเดิม, ความเป็นscifi , การฉีกกฏเกณฑ์เดิมๆ

- คุณบัณฑิต อึ้งรังษี : ความเก่ง,ความมุ่งมั่น,การที่ส่งพลังขับเคลื่อนให้แก่ผู้อื่น,การใช้ชีวิตให้คุ้มและมีแรงบันดาลใจ,ความเป็น Family man

- Lee Mcqueen : ความเป็นศิลปะในการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่กระบวนการคิด ระบบการทำงาน ชิ้นงาน การนำเสนอ , ความเป็น romantic – fantasy , ความแปลกใหม่ของดีเทลในงานแฟชั่น ถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้วแต่ก็ได้สร้างแบรนด์ Alexander Mcqueen ที่ยังคงครองใจผู้คนได้มากมายอยู่ดี

3. การหาจังหวะการซ้ำกันของสิ่งที่ชอบ (เหมาะกับการหาสไตล์ตัวเอง)

อีกหนึ่งวิธีที่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ตามหาสไตล์ของตัวเองก็คือ การหาจุดที่ซ้ำกัน

วิธีการมีดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : หาภาพสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างละ 20 ภาพ โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ

ในขั้นตอนนี้ให้แยกหมวดหมู่ตามอาชีพที่ตัวเองต้องการจะค้นหาสไตล์ที่แน่ชัด เช่น อยากรู้สไตล์แฟชั่นที่เราชอบ ก็ให้เราหารูปแฟชั่นที่เราชอบมา 20 รูป , อยากรู้สไตล์งานอาคารและโครงสร้างสถาปัตกรรม ให้หารูปงานสถาปัตกรรมมา20 , อยากรู้งานอดิเรกที่เราสนใจจริงๆก็หารูปที่เราชอบมา 20 รูป

ขั้นตอนที่ 2 : หา keywords ที่รูปภาพแสดงซ้ำกันมากที่สุด

นี่เป็นตัวอย่างการหาภาพมาภาพแล้วจัดการหา Keywords ติวลงให้ดูเป็นตัวอย่างแต่ที่ติวเอามาให้ดูอาจจะไม่ครบ 20 ภาพนะคะ จากภาพจะสรุป keywords ได้คือ

– ภาพที่มีดีเทลเยอะ = 17

– ภาพที่สีสด = 10

– ภาพที่ออกทางแฟนตาซี = 7 รูป

– ภาพที่ดูแล้วให้อารมณ์ sci fi = 5

จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์แล้วลองถามตัวเองว่า เหล่านี้ใช่เราไหม? และเพื่อความมั่นใจว่าใช่จริงๆ ให้ลองลงมือทำมันเลยค่ะ การปฏิบัติจริงๆจะทำให้เรารู้ เมื่อเราลงไปสัมผัสกับมันจริงๆแล้วเรายังชอบอยู่ไหม หรือเป็นแค่สิ่งที่เราคิดว่าชอบ คิดว่าใช่

สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้อ่านว่า

" การทำงานสำเร็จเป็นสิ่งที่ดี

แต่สิ่งที่ดีมากๆคือสำเร็จในสิ่งที่เรารัก

เพราะเราจะได้ทำสิ่งที่เรารักอยู่ตลอดเวลา "

สุดท้ายนี้แล้ว หากโพสวันนี้ติวผิดพลาดตรงไหนต้องขอโทษและขอคำแนะนำจากเพื่อนๆพี่ๆ น้องๆด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ


Cervozy Tewz

Cervozy Tewz

Name : ติวเตอร์ค่ะ

งานหลัก : นักออกแบบอิสระ / Infopreneur
งานอดิเรก : เล่นดนตรี

http://www.pattidas.com
fb : Cervozypassion
fb (guitar) : Cervozyguitar

FULL PROFILE