กูรูผู้รู้รอบด้านรังสี UV

1 5
เป็นข้อมูลให้ความรู้ล้วนๆเลยค่ะ สาวไทยควรอ่านให้ครบหน้าจะไปได้หมองคล้ำ ดำ เหี่ยวคร่า
ข้อมูลนี้ขอมาจากพี่สาวที่ทำงานบ.เครื่องสำอางแห่งหนึ่ง..ไม่ระบุชื่อนะคะ ไม่โฆษณาให้ อิอิ

รังสีจากแสงแดดตัวการทำลายผิวเราอย่างคาดไม่ถึง!

                คุณรู้หรือไม่ว่าแสงแดดนอกจากจะมีประโยชน์ในการสังเคราะห์ Vitamin D ให้กับผิวแล้ว แสงแดดก็สามารถทำลายผิวเราได้ด้วย หากได้รับรังสี UV (รังสีอัลตราไวโอเลต) ในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้ผิวหนังร้อนแดง หมองคล้ำ เกิดกระ ฝ้า และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ โดยเฉพาะแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 – 16.00 น. เป็นช่วงเวลาที่แสงแดดมีอันตรายต่อผิวมากที่สุด

จากภาพแสดงความเข้มของรังสี UV ในแต่ละภูมิภาคบนโลก

บริเวณที่มีสีเขียว   คือมีรังสี UV ต่ำ ขนาด 0-2 ซึ่งไม่มีบริเวณใดบนโลกที่มีรังสีในช่วงนี้

สีเหลือง ขนาดรังสี UV ที่ส่องถึงปานกลาง 3-5

สีส้ม        ขนาดรังสี UV ที่ส่องถึงสูง 6-7

สีแดง      ขนาดรังสี UV ที่ส่องถึงสูงมาก 8-10

สีม่วง      ขนาดรังสี UV ที่ส่องถึงสูงที่สุด มากกว่า 11

ประเทศไทยอยู่ในเขตที่มีรังสี UV 8-12 คือสูงมาก ถึงสูงที่สุด จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับอันตรายจากรังสี UV

มาดูว่ารังสี UVA และ UVB นั้นทำอันตรายกับผิวหนังเราอย่างไร

รังสี UV แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ

1.               UVA       สามารถทะลุผ่านผิวหนังชั้นนอก (Epidermis) และเข้าถึงผิวหนังชั้นใน (Dermis) ที่ระดับลึกทำให้ผิวหมองคล้ำ เกิดฝ้า กระ สร้างอนุมูลอิสระทำร้ายผิว และทำลายโครงสร้างของโปรตีนในชั้นผิว คือ คอลลาเจน (Collagen) และ อิลาสติน (Elastin) ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นเกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร

2.               UVB       สามารถทะลุผ่านผิวหนังชั้นนอก (Epidermis) และผิวหนังชั้นในระดับบนเท่านั้น ทำให้ผิวหนังเกิดอาการแสบร้อน แดง     ไหม้แดด แห้ง กร้าน ถ้าได้รับในปริมาณมาก ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

3.               UVC       จะถูกกรองด้วยชั้นโอโซน

UVA จะมีปริมาณมากกว่า UVB ในอัตราส่วน 95:5 เรามีโอกาสสัมผัส UVA ได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งต่างกับ UVB จะมีในช่วง

9.00 – 15.00 น. และที่สำคัญรังสี UVA มีความสามารถทะลุทะลวงสูง สามารถผ่านกระจกหรือเสื้อผ้าบางๆได้อีกด้วย รวมทั้งวันที่มีเมฆจัดไม่มีแสงแดด หรือเวลาที่นั่งทำงานข้างกระจกก็สามารถทำให้ผิวคล้ำหรือเกิดฝ้า กระ ได้เช่นกัน

                ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะหน้าร้อนเท่านั้น เนื่องจากรังสี UV สามารถมีได้ทุกฤดูกาลที่ทำให้ผิวหมองคล้ำ

ค่าการปกป้องผิวจากแสงแดด

SPF (Sun Protection Factor)

คือ การวัดความสามารถของผลิตภัณฑ์กันแดดในการป้องกันรังสี UVB ซึ่งทำให้เกิดการไหม้แดด (Sunburn) แสบร้อนผิว

เช่น ค่า SPF 50 หมายถึง ความสามารถในการป้องกันการไหม้แดดของผิวหนัง เมื่อทาผลิตภัณฑ์กันแดดได้มากกว่าเมื่อไม่ทาผลิตภัณฑ์กันแดด 50 เท่า

นอกจากค่า SPF แล้วค่าที่สำคัญอีกค่าหนึ่งคือ PA (Protection UVA) เป็นค่าที่แสดงถึงระดับการป้องกันรังสี UVA ประสิทธิภาพของการป้องกันจะระบุด้วยเครื่องหมาย +  โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ

                                PA+                        สามารถป้องกัน UVA ได้

                                PA++                      สามารถป้องกัน UVA ได้ดี

                                PA+++                    สามารถป้องกัน UVA ได้ดีมาก

 

ชนิดของสารกันแดดที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์กันแดด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

1.               Mineral Sunscreen (Physical Sunscreen) ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะใช้สารทึบแสงทำให้เกิดการสะท้อนและหักเหแสงออกจากผิวหนัง สารที่ใช้มีทั้ง ไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) สามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB ใช้แล้วไม่ค่อยเกิดอาการแพ้แต่ทาแล้วหน้าอาจขาวโพลนไม่เป็นธรรมชาติและเหนียวเหนอะหนะ

2.               Chemical Sunscreen ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ใช้สารเคมี เมื่อทาแล้วจะทำให้เกิดฟิล์มบางๆปกคลุมผิวหนังชั้นนอกสุด ทำให้สามารถดูดซับรังสี UV แล้วสลายรังสีในรูปพลังงานความร้อน ส่วนตัวสารก็สลายหมดไปด้วยกลไกปกติของร่างกาย ไม่ได้ทิ้งสารตกค้าง บางชนิดป้องกันได้ทั้งรังสี UVA  และ UVB บางชนิดเฉพาะรังสี UVB  แต่บางคนอาจเกิดการแพ้ได้

ดังนั้นผลิตภัณฑ์กันแดดที่ดีควรจะสามารถป้องกันรังสีได้อย่างแท้จริง ผสานกลไกทั้งสะท้อน หักเห และดูดซับรังสีสลายไป

ปัจจุบันได้มีการนำสารกันแดดทั้ง 2 ประเภทมาใช้ร่วมกัน เรียกว่า Combination sunscreen ซึ่งเป็นสูตรที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปกป้องรังสี และให้ความรู้สึกที่เบาสบายไม่เหนอะผิว

ผลิตภัณฑ์กันแดดแบบกันน้ำ

                ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เคยได้ยินนอกจากค่า SPF ค่า PA แล้วยังมีผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นสูตรกันน้ำที่เรียกว่า Water Proof หรือ Water Resistant ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้

Water Proof         คือผลิตภัณฑ์กันแดดที่ยังคงสภาพค่า SPF ที่กำหนด หลังจากทาผลิตภัณฑ์นี้ และอยู่ในนํ้าเป็นเวลา 80 นาที 

Water Resistant  คือผลิตภัณฑ์กันแดดที่ยังคงสภาพค่า SPF ที่กำหนด หลังจากทาผลิตภัณฑ์นี้ และอยู่ในนํ้าเป็นเวลา 40 นาที

แต่ถึงแม้จะใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นสูตร Water Proof หรือ Water Resistant แต่มีข้อควรระวังว่า ถ้าทาผลิตภัณฑ์กันแดดแม้เวลาผ่านไปไม่นาน หากเหงื่อออกและมีการเช็ดเหงื่อ หรือว่ายน้ำเป็นเวลานาน จะมีผลิตภัณฑ์กันแดดบางส่วนหลุดออกไปด้วย ควรทาซ้ำเพื่อประสิทธิภาพที่ดี

วิตามินและส่วนผสมอื่นๆในผลิตภัณฑ์กันแดดให้ประโยชน์อย่างไร

                มักจะพบว่าผลิตภัณฑ์กันแดดหลายชนิดผสมวิตามินบางชนิดในครีมกันแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินอี วิตามินซี ซึ่งมีงานวิจัยกล่าวถึงการใช้วิตามินอี และวิตามินซี ร่วมกับผลิตภัณฑ์กันแดด ว่าวิตามินทั้งสองชนิดมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยทำหน้าที่ทำลายอนุมูลอิสระที่เกิดจากแสงแดดบริเวณผิว

                นอกจากนี้ยังช่วยเสริมฤทธิ์ให้กับผลิตภัณฑ์กันแดดในการปกป้องผิวจากรังสี UV ในแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ข้อแนะนำในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด

1.               การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF แตกต่างกันขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ ต้องใช้ค่า SPF ตั้งแต่ 30 สำหรับการออกแดดปกติ หากออกแดดจัดต้องใช้ SPF ไม่ต่ำกว่า 50 หากมีกิจกรรมหรือกีฬากลางแจ้ง ว่ายน้ำควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นสูตร Water Proof หรือ Water Resistant

2.               เลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่สามารถปกป้องได้ทั้ง UVA และ UVB

3.               เพื่อการปกป้องผิวที่ดี ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดด ก่อนออกจากบ้านอย่างน้อย 15 – 30 นาที

4.               เพื่อการปกป้องผิวจากแสงแดดอย่างได้ผล ควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดทาให้ทั่วทุกส่วนของร่างกาย

5.               หากต้องเผชิญกับแสงแดดเป็นเวลานานๆ เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดทุกๆ 2 ชั่วโมง

อันตรายของแสงแดด สามารถส่งผลต่อผิวในลักษณะต่าง ๆ เช่น
 1. เกิดการไหม้แดด (Sunburn) เกิดจากผิวหนังได้รับปริมาณแสงแดดมากเกินไป มักเกิดภายใน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะภายใน 2-6 ชั่วโมงแรก

หลังจากถูกแดด ทำให้เกิดอาการแดง อาจมีอาการปวดแสบร้อน และการลอกของผิวหนังตามมา การไหม้แดด เป็นผลมาจากรังสี UVB

ต่อผิวหนังในผิวหนังชั้นนอก (ชั้นหนังกำพร้า) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ และในระยะยาวอาจเกิดมะเร็งผิวหนังได้

 

2. สีผิวคล้ำขึ้น (Tanning) เกิดจากการผลิตและกระจายของเม็ดสีมากขึ้น ซึ่งเป็นกลไกของร่างกาย ในการป้องกันอันตรายจากแสงแดด

ทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอ เป็นฝ้า และกระได้
3. ในผู้ป่วยโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรค SLE ผิวหนังจะมีความไวต่อแสงแดดมากกว่าคนปกติ จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงแสงแดด และใช้

ผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นประจำ
4. แสง UV ทำให้ภูมิคุ้มกันของผิวหนังลดลง เชื่อว่าแสง UV เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยทั่วไปลดลงหลังจากถูกแสงแดด

มากเกินไป
5. ทำให้ดูแก่ก่อนวัย (Photo aging) การได้รับรังสี UV ในระยะยาว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แก่ก่อนวัย โดยรังสี UV  มีผลทำให้ผิวหนัง หยาบกร้าน

 มีรอยย่นก่อนวัย สีผิวไม่สม่ำเสมอ อาจมีเส้นเลือดฝอย หรือเกิดจ้ำเลือดได้ง่าย

6. เป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง แม้ว่ามะเร็งผิวหนังเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง แต่ในปัจจุบันเชื่อว่า ผิวหนังที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการ

 สะสมของการได้รับแสง UV ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

7. UVB มีอันตรายต่อดวงตาถ้าได้รับมากเกินไป

           หากเราทราบถึงอันตราย ปัญหา การหลีกเลี่ยงและวิธีป้องกันผิวเราจากแสงแดดอย่างถูกวิธี เราคงไม่ต้องกังวลกับผิวเสียอีกต่อไปคะ


    



kuroyume

kuroyume

FULL PROFILE