Barbie (2023) : แม้เราจะแต่งชุดสีชมพูสวยๆ ไปวันๆ เราก็ยังมีคุณค่าเสมอ

22 13
ตั้งแต่หนัง Barbie (2023) เข้าโรงเมื่อสัปดาห์ก่อน เทรนด์ "บาร์บี้" ก็กลับมาฮิตอีกครั้ง มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนใส่เสื้อผ้าสีชมพูจี๊ดจ๊าด แม้แต่เราเองก็ยังนัดแต่งธีมบาร์บี้กับเพื่อนที่ออฟฟิศ (และยังแต่งไปดูหนังคู่แข่งอย่าง Oppenheimer อีกด้วย)
ตอนเด็กๆ เราจำได้ว่ามีตุ๊กตาบาร์บี้เยอะมาก ยิ่งตัวไหนแต่งตัวสวยๆ เปรี้ยวๆ ก็ยิ่งชอบ ได้แรงบันดาลใจการแต่งหน้า แต่งตัว มาจากบาร์บี้นี่แหละ แต่พอโตขึ้นก็ไม่ได้แต่งแบบนั้นเท่าไหร่ เพราะยิ่งแต่งเต็มก็ยิ่งโดนล้อว่าแปลกบ้าง เว่อร์บ้าง จนทุกวันนี้แต่งตัวธีม Oppenheimer แทน

ในโลกของบาร์บี้ ผู้หญิงทุกคนคือคนสำคัญ

ใครดูหนังแล้วจะเห็นว่าในโลกของบาร์บี้ บาร์บี้ทุกตัว (ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นผู้หญิง) มีตำแหน่งสำคัญ ทั้งประธานาธิบดี นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ นักข่าว ผู้พิพากษา ถึงแม้บาร์บี้รุ่นพื้นฐาน ที่หน้าตาสวยหวาน และไม่ได้มีหน้าที่อะไรเป็นพิเศษ (รับบทโดยมาร์โกต์ ร็อบบี้) ก็ยังเป็นที่ต้อนรับในโลกของบาร์บี้
ที่น่าสนใจคือ ทุกคนแต่งตัวได้บาร์บี้มาก!! ทั้งสีสันสดใส เสื้อผ้าหน้าผมจัดเต็มสุดๆ ถ้าเป็นประธานาธิบดีผู้หญิงแต่งตัวแบบนี้ในชีวิตจริงคงโดนด่าเละ 

เมื่อบาร์บี้กลายเป็นหนามยอกอกของ "ชายแท้"

"Barbie is everything. He's just Ken."

สโลแกนหนังเจ้าปัญหาที่เป็นเรื่องที่ประเทศเกาหลีก่อนหนังฉาย เมื่อทางทีมโปรโมตเกาหลีเปลี่ยนประโยคนี้ให้กลายเป็น "Barbie is just Barbie. Ken is just Ken." จนโดนด่าว่าชายเป็นใหญ่ถึงขั้นรับไม่ได้ เปลี่ยนข้อความจนทำให้สารของหนังผิดเพี้ยน
นอกจากนี้ นักวิจารณ์ผู้ชายหลายคนที่ดูบาร์บี้ถึงกับบอกว่า "รับไม่ได้" ที่ทำให้ตัวละคร เคน ดูย่ำแย่ และให้บทบาทของผู้หญิงดูดีกว่าความเป็นจริง ทั้งยังกระสับกระส่ายที่ต้องทนดูหนังกว่า 2 ชั่วโมง นักวิจารณ์อเมริกันท่านหนึ่งถึงกับต้องทำคลิปยูทูบเผาตุ๊กตาบาร์บี้ทิ้ง

ถึงชายแท้จะยี้ แต่ผู้หญิงชอบมาก

คนดูผู้หญิง และ not all ชายแท้กลับชอบหนังเรื่องนี้มาก เพราะเมื่อบาร์บี้ทะลุออกจากบาร์บี้แลนด์มายังโลกแห่งความจริง สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือสถานการณ์ที่ผู้หญิงต้องเจออยู่ทุกวัน ทั้งสายตาแทะโลมจากผู้ชาย ถูกมองเป็นแค่วัตถุทางเพศ โดนกดดันจากสังคมจนไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองดีพอ
แม้นักวิจารณ์หลายคนจะบอกว่าหนังเรื่องนี้เล่า “ตรงไปตรงมา” “ไม่มีชั้นเชิง” ไปนิด แต่ในฐานะผู้หญิงที่เจอเรื่องแบบนี้ทุกวัน เราดีใจมากๆ ที่เกรต้า เกอร์วิก (ผู้กำกับ) เลือกเล่าอย่างตรงไปตรงมา นี่แหละสิ่งที่เราต้องเจอแค่เพราะเกิดมาเป็นผู้หญิง
อีกประเด็นหนึ่งที่เราชอบมากคือการออกแบบตัวละคร เคน ให้ดูช๊ายยยชาย (ชายแท้) ที่นักวิจารณ์หนังท่านหนึ่งบอกว่า "ผู้กำกับไม่เข้าใจผู้ชายเอาซะเลย" ก็ในเมื่อเรามี Dumb Blonde Girl (ผู้หญิงผมบลอนด์โง่ๆ) Femme Fatale (หญิงร้ายสายแซ่บ เจอบ่อยๆ ในหนังฟิล์มนัวร์) Dragon Lady (ผู้หญิงจีนที่บู๊เก่ง) และการนำเสนอผู้หญิงในรูปแบบอื่นๆ ที่ผิดเพี้ยนไปมากบนจอหนังตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา พอเราเห็นตัวละครชายแท้แบบนี้ก็รู้สึกดีเหมือนกัน

เป็นผู้หญิงมันเหนื่อยนะโว้ย

ถึงชีวิตในบาร์บี้แลนด์จะเพอร์เฟกต์ แต่บาร์บี้กลับรู้สึกไม่มั่นใจเลย แม้จะสวยมากๆ บาร์บี้ก็กลัวว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่สวยพออยู่ดี เหมือนชีวิตจริงที่ผู้หญิงสวยๆ หลายคน ที่เราคิดว่าเขาเพอร์เฟกต์ แต่ลึกๆ ทุกคนก็รู้สึกไม่ดีพอสำหรับสังคม
ซีนหนึ่งที่ตอกย้ำความเหนื่อยของผู้หญิงคือโมโนล็อกของคุณแม่กลอเรีย (รับบทโดย อเมริกัน เฟอร์เรรา) ขอยกตัวอย่างสั้นๆ 
"...เธอต้องผอม แต่ห้ามผอมจนเกินไป แต่บ่นว่าอยากผอมไม่ได้นะ ต้องพูดว่าอยากสุขภาพดี เธอต้องมีเงิน แต่ห้ามขอเงินเพราะมันดูไม่เหมาะสม เธอต้องเป็นหัวหน้า แต่ห้ามใจร้าย เธอต้องเป็นผู้นำ แต่ห้ามทุบไอเดียคนอื่น...เธอต้องเข้าใจพฤติกรรมแย่ๆ ของผู้ชาย แต่ถ้าแย้งขึ้นมาจะกลายเป็นบ่นทันที..."  (อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่)
เป็นหนึ่งในซีนที่ดีที่สุดของเรื่อง และทำเอาผู้หญิงหลายคนเสียน้ำตา นี่แหละคือความในใจของผู้หญิง

ค่านิยม "ชายเป็นใหญ่" ก็ทำร้ายผู้ชายด้วยเหมือนกัน

ตัวละคร เคน คือตัวแทนความเป็นชายที่รับไอเดียชายเป็นใหญ่ แล้วเปลี่ยนโลกบาร์บี้ให้เป็นปิตาธิปไตยจนกลายเป็นฝันร้ายของบาร์บี้ แต่เมื่อเคนกลายเป็นผู้ปกครองโลกบาร์บี้แล้ว เคนกลับทนทุกข์ที่ต้องดูแมน ดูเข้มแข็งตลอดเวลา
ที่ผ่านมา เคนรู้สึกว่าตัวเองมีค่าเมื่อบาร์บี้มองมาเท่านั้น จนเคนออกไปโลกแห่งความจริง เคนก็ได้รู้จักแนวคิดชายเป็นใหญ่ ที่ทำให้เคนรู้สึกมีคุณค่า มีตัวตน แต่การมีตัวตนของผู้ชายนำมาสู่การด้อยค่าบาร์บี้คนอื่นๆ ให้เป็นแค่วัตถุทางเพศ คอยเสิร์ฟเบียร์ให้เคน นอกจากจะลดคุณค่าบาร์บี้แล้ว เคนก็รู้สึกกดดันเหมือนกัน สุดท้ายเคนได้เรียนรู้ว่า แนวคิดชายเป็นใหญ่ไม่ใช่คำตอบ และเขามีคุณค่าในตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งบาร์บี้
นอกจากเคนแล้ว ยังมีตัวละครที่น่าสนใจคือ อัลเลน ตัวแทนผู้ชายที่อึดอัดกับสังคมชายเป็นใหญ่ และช่วยบาร์บี้กอบกู้โลก ล้มระบบชายแท้ในตอนสุดท้าย

คนธรรมดาก็มีคุณค่าในตัวเอง

โลกของบาร์บี้เต็มไปด้วยเวิร์กกิ้งวูเมน เช่น ประธานาธิบดี นักเขียน นักฟิสิกส์ นักข่าว หมอ มีบ้านอยู่ มีรถขับ มีชุดสวยๆ จนเกิดคำถามว่า บาร์บี้เพอร์เฟกต์เกินไปจนสร้างค่านิยมผิดๆ ให้เด็กรึเปล่า แล้วคนธรรมดาจะเป็นบาร์บี้ได้มั้ย
หนังนำเสนอคำตอบในตอนท้ายของเรื่อง โดยให้กลอเรียเสนอกับผู้บริหาร Mattel (บริษัทผลิตบาร์บี้) ว่าบริษัทควรผลิต บาร์บี้คนธรรมดา ที่ไม่จำเป็นต้องสวยเป๊ะหรือประสบความสำเร็จ เพื่อให้คนธรรมดามีที่ยืนบ้าง
ว่าก็ว่า หนังเรื่องบาร์บี้กำลังสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิงเก่ง ผู้หญิงธรรมดา ผู้ชาย แค่เป็นตัวเองก็มีคุณค่าแล้ว
น่าเสียดายที่ทีมโปรโมตเกาหลีตัดสินใจเปลี่ยนคำแบบนั้น เพราะเมื่อดูหนังจบแล้ว ประโยคที่ว่า Barbie is everything. He is just Ken. ไม่ใช่คำด่าซะหน่อย และยังเป็นการส่งสารดีๆ ให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงอีกด้วย
สุดท้าย ดีใจมากๆ ที่หนังเรื่องบาร์บี้ทำให้คนแต่งตัวสีชมพูได้อย่างจัดเต็มอีกครั้งโดยไม่โดนเหยียด อย่างน้อยหนังก็ทำงานแล้ว :)
#Review


Alice Kerdplanant

Alice Kerdplanant

Alice (she/her)

- Lipstick Lover
- Coffee Lover
- Feminist

FULL PROFILE