เจาะความแตกต่างของเงือกน้อยหลายเวอร์ชั่น

30 13

วรรณกรรมต้นฉบับของ Little Mermaid

เมื่อได้ยินเรื่องราวของเงือกน้อยผจญภัย หลายคนจะต้องเชื่อมโยงกับผลงานนิทานของ Hans Christian Andersen ซึ่งถือเป็นต้นฉบับที่ถูกจับมาดัดแปลงเนื้อหาให้เข้ากับโลกที่สดใสของกลุ่มผู้ชมวัยเยาว์ เพราะแท้จริงแล้ว นักประพันธ์ชาว Danish ผู้โด่งดังก้องโลกนั้นขึ้นชื่อลือชาเรื่องการนำเสนอพล็อทโศกนาฏกรรมที่ชวนหดหู่ใจมากกว่าจะจุดประกายความฝันให้กับเด็กๆ จุดจบของเงือกน้อยที่ปรารถนาจะได้รับความรักจากเจ้าชายแดนมนุษย์และครอบครองจิตวิญญาณที่คงอยู่เป็นอมตะทำให้เธอต้องสละทุกอย่าง  ถูกตัดลิ้นเพื่อแลกเปลี่ยนกับการมีขาสองข้าง   น้ำยาวิเศษที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงนั้นสร้างเจ็บปวดราวกับถูกดาบทิ่มแทงยามที่ใช้ขาเคลื่อนไหว แต่เพื่อเอาอกเอาใจเจ้าชายที่ชื่นชมในท่วงท่าการเต้นรำอันพริ้วไหวของเธอ    เธอก็ต้องฝืนทนกับความเจ็บปวดเหลือคณาทุกย่างก้าว

ทั้งๆที่เสียสละตัวเองถึงเพียงนี้ ดวงใจของเธอก็แตกสลายเมื่อต้องเห็นเจ้าชายสมรักสมรสกับเจ้าหญิงต่างแดน หากต้องการจะหวนคืนสู่ท้องทะเล ก็ต้องใช้กริชวิเศษปักหัวใจเจ้าชายเพื่อใช้เลือดเปลี่ยนขาเป็นหางเหมือนเดิม แต่เธอไม่สามารถทำใจสังหารชายอันเป็นที่รักได้ ท้ายสุดก็สลายร่างกลายเป็นพรายฟองล่องลอยไปบนอากาศ ความปรารถนาที่จะได้เป็นมนุษย์อย่างแท้จริง ถูกตัดสินว่าเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่งยวด เธอต้องชดเชยด้วยการสั่งสมความดีงามจากการช่วยเหลือมนุษย์อีกสามร้อยปีจึงจะสมหวังได้





ต้นฉบับอาจจะทำให้บางคนมองว่า แทนที่จะตั้งชื่อเรื่องว่าเงือกน้อยผจญภัย ควรจะเปลี่ยนเป็น ชีวิตสุดระทมของเงือกน้อยจะเข้ากันยิ่งกว่า เพราะ message ของมันชวนสิ้นหวังมากกว่าจะสร้างแรงบันดาลใจ! เพื่อจะได้สมหวังในความรักกับเจ้าชายที่รู้จักกันเพียงใบหน้า เกิดเป็นความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะเป็นมนุษย์เต็มตัว และสามารถครอบครองจิตวิญญาณอมตะที่จะล่องลอยไปสู่สรวงสวรรค์หลังสิ้นอายุขัย ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อทำให้เจ้าชายหลงรักเธอได้สำเร็จ แม้ว่าเผ่าเงือกจะมีอายุยืนยาวกว่ามาก แต่ก็ไร้จิตวิญญาณอมตะเช่นมนุษย์ เงือกน้อยจึงยอมเสี่ยงแลกกับสิ่งสำคัญทุกอย่าง รวมถึงชีวิตอันยืนยาวมีคุณค่า และกลายเป็นว่าทุกอย่างแทบจะสูญเปล่า เธอเป็นได้เพียงสายลมเย็นที่ปัดเป่าบรรเทาร้อนให้กับผู้คนไปอีกแสนนาน



โศกนาฏกรรมของเงือกน้อยถูกวิเคราะห์ว่า อาจจะเชื่อมโยงถึงตัวตน bisexual ของ Hans Christian Andersen ซึ่งมีการถกเถียงมายาวนานถึงอัตลักษณ์ queer ของนักประพันธ์ผู้นี้  จากการเปิดเผยว่า เขาเคยเขียนจดหมายสารภาพรักที่ล้ำลึกต่อเพื่อนชาย แต่มันลงเอยด้วยความเจ็บปวดแบบรักข้างเดียว    The Little Mermaid จึงเปรียบกับการแสดงโวหารที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สามารถตีความหมายถึงความใฝ่ฝันในการแสดงตัวตนออกจากกรอบสังคม ซึ่งยากจะเป็นไปได้ในยุคนั้น  ต้องรู้สึกเปลี่ยวเหงาในโลกที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ใช่สถานที่ของตัวเอง ไม่ต่างจากเงือกน้อยที่ไม่มีความสุขกับหางและชีวิตใต้ทะเล  แต่กลับปรารถนาอย่างแน่วแน่ที่จะเลี่ยนตัวเองเป็นมนุษย์  เมื่อตายไปแล้วก็กลายเป็นวิญญาณที่โบยบินขึ้นสวรรค์  ทั้งๆที่เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่า โลกมนุษย์จะโหดร้ายเพียงใด  สวรรค์ที่เธอไม่เคยเห็นจะเติมเต็มความสุขที่แท้จริงได้จริงหรือไม่ ความรักที่ไม่ได้ลงเอยด้วย happy ending ของเงือกน้อย ก็อาจจะมาจากความรู้สึกสิ้นหวังของนักประพันธ์ที่ต้องเห็นชายผู้เป็นที่รักแต่งงานไปกับสตรีคนอื่นนั่นเอง


แรงบันดาลใจแรกในการสร้างตัวละคร Ariel
 
แม้ Little Mermaid จะเป็นผลงานสุด iconic ของ  Disney  แต่กว่ารูปร่างหน้าตาตัวละคร animation ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Ariel จะลงตัว ก็ต้องผ่านการโต้แย้งอย่างหนัก เพราะการสร้างตัวละครเจ้าหญิงผมแดงให้โด่งดังยังเป็นเรื่องท้าทายทัศนคติคนในสังคมในขณะนั้น    ด้วย stereotype เจ้าหญิงผู้เลอโฉมคือ สาวผมบลอนด์  ส่วนผู้ที่มีผมแดงกลับถูกตีตราในแง่ลบมาเนิ่นนานตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์
เป็นเพราะว่า Splash หนังนางเงือกเรื่องแรกของ Disney มีจุดขายเรื่องเงือกสาวผมบลอนด์ในปี 1984 ไปแล้ว  ทั้งเส้นเรื่องก็ดูคล้ายกัน  นำเสนอเรื่องราวของเงือกสาวผู้งดงามที่เข้าช่วยเหลือมนุษย์ชายจากอุบัติเหตุทางน้ำและช่วงแรกที่อยู่ในโลกมนุษย์ ก็ยังพูดไม่ได้เหมือนกันอีกต่างหาก   คงไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริหารบางคนมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างความแตกต่างให้กับเงือกน้อยในเวอร์ชั่นการ์ตูน  มิเช่นนั้นก็คงดูซ้ำซากเกินไป
แต่ผู้บริหารบางคนก็ยังยืนกรานกับนักสร้าง animation ว่า นางเงือกจะต้องมีผมบลอนด์เท่านั้น และยกตัวอย่าง Daryl Hannah ที่รับบทเงือกใน Splash แต่ Mark Penn และ Glen Keane หนึ่งในผู้นำทัพ animators ได้แย้งว่า ในโลกนี้ไม่มีเงือกอยู่จริงๆแต่อย่างใด พวกเงือกจะมีผมสีม่วงหรือสีอะไรก็ได้ทั้งนั้น และเขาต้องการจะสร้างรูปลักษณ์ของ Ariel ที่สะท้อนถึงตัวตนที่ร้อนแรงห้าวหาญของเธอ ผมแดงจึงเป็นตัวเลือกที่ลงตัวที่สุด






แต่การตัดสินใจครั้งนี้ก็ได้สร้างความกังขาให้กับหลายคน เนื่องจากผมแดงถูกยัดเยียดให้เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย และถูกเหมารวมว่า trait ที่แสนน่าเกลียดจนกลายเป็นปมด้อยของผู้ที่มีผมแดงส้ม พวกเค้าต้องเจ็บปวดฝังใจเมื่อถูกหยามหยันด้วยฉายาต่างๆ การใช้ภาพเจ้าหญิงผมแดงเป็นจุดขายใน animation สำหรับเยาวชนจึงดูเป็นเรื่องแหกกรอบ ถึงขั้นที่มันทำให้ผู้จัดจำหน่ายตุ๊กตาเงือกน้อยรู้สึกกังวลใจว่า ตุ๊กตาผมแดงจะขายไม่ออกและขาดทุนใหญ่โต จึงเลือกทำตุ๊กตาที่มีสีผมเฉด strawberry-blonde ซึ่งเป็นเฉดที่ผสมผสานระหว่างผมสีน้ำตาลแดงและบลอนด์ แต่มันกลับไม่ดึงดูดใจเด็กๆแต่อย่างใด เมื่อ Little Mermaid ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม (แม้รายได้จากการฉายหนังจะไม่ถึงขนาดถล่มทลาย แต่ฝั่ง home video นั้นพุ่งสูง รวมรายได้กับสินค้าที่ระลึกแล้วเข้าสู่หลักพันล้าน) ผู้ผลิตของเล่นจึงต้องรีบผลิตตุ๊กตาเงือกน้อยผมสีแดงเจิดจ้าออกวางตลาด และผลตอบรับคือโกยยอดขายแบบเกลี้ยงชั้น!



การสร้าง Ariel ให้เป็นตัวละครเจ้าหญิงในดวงใจของแฟนๆ Disney นั้นได้รวบรวมความโดดเด่นของคนดังแห่งยุค 80 ไว้ด้วยกัน  นั่นคือ

  • รูปร่างเล็กบอบบางเหมือนกับ Alyฺssa Milanoฺ  teen queen ผู้สร้างชื่อโด่งดังจากซิทคอม Who's the Boss?
  • ผมม้าหนานุ่มเหมือนกับ Christie Brinkley   supermodel แห่งยุค
  • ผมที่พริ้วไหวในน้ำดูเหมือนกับผมของนักบินอวกาศหญิง Sally Ride   ในขณะที่เธอกำลังปฏิบัติหน้าที่ในยานอวกาศ


และรูปลักษณ์อันโดดเด่นของ  Ariel นี่เองที่ได้ตรึงตราในความทรงจำวัยเยาว์ของแฟนๆทั่วโลก   หากได้ชมพาเหรดใน Disney World หรือโชว์ Disney On Ice    มันเป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งหากหากเราจะได้พบกับหญิงสาวผิวขาวผมสีแดงเพลิงและมีดวงตาสีน้ำเงินตรงกับเวอร์ชั่น animation      
แต่ทุกวันนี้   ภาพของเงือกน้อยถูกนำเสนอแตกต่างไปจากเดิม   Disney  เปิดการแสดงละครเวทีในทริปล่องเรือ The Wish ที่ไม่เพียงจะปรับเนื้อหาให้ Ariel ดู strong และเข้ากับความ modern มากขึ้น  เธอยังเป็นสาวหน้าคมผมหยิกฟู  หรือจะเป็นเวอร์ชั่น Broadway ที่ไม่ได้เห็นแต่นางเอกสาวผิวขาวรับบทนี้อีกต่อไป 
เมื่อผู้คนเติบโตมาพร้อมกับความทรงจำที่ยึดมั่นว่า  Ariel คือเจ้าหญิงเงือกน้อยที่มีรูปลักษณ์ตรงกับคนผิวขาว    การเปลี่ยนแปลงตัวละครนี้ในการสร้าง live action   จึงสร้างถกเถียงไร้ที่สิ้นสุด

ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทำลายจินตนาการในวัยเยาว์ของแฟนๆ  หรือเป็นการสร้างนิยามใหม่เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยการยอมรับความหลากหลาย?
เวอร์ชั่น Broadway

ละคร musical คือสิ่งที่ผูกพันเหนียวแน่นกับผลงาน animation ของ Disney เพราะแม้ว่า studio จะนิยมดึงตัวคนดังระดับโลกมาพากย์ตัวการ์ตูน แต่นักพากย์ที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์ในการขับร้องและ acting สุดเป๊ะจากวงการ Broadway นั้นได้เสริมพลังให้ animation ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายเรื่อง รวมถึง Little mermaid ที่ดึงตัว Jodi Benson นักพากย์ที่ผ่านประสบการณ์การแสดงและร้องเพลงมาอย่างโชกโชนจากเวที Broadway มาถ่ายทอดตัวตนของ Ariel ที่โดดเด่นยากจะลบเลือน


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  มีการนำเสนอ Little Mermaid ผ่านละคร  Broadway มาแล้วมากมายหลายครั้ง   และหนึ่งในนางเอกที่ว่ากันว่าเป็น  casting ที่เป๊ะที่สุดก็คือ Sierra Boggess    นางเอกมากความสามารถที่เคยคว้าบทนำใน  Les Misérables  และ  The Phantom of the Opera   ด้วยผมแดงที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว แม้จะเป็นการย้อมผม แต่แฟนๆมักจดจำเธอในภาพสาวผมแดงมากกว่าผมสีน้ำตาลธรรมชาติ   (แม้แต่ภาพที่ใช้แนะนำตัวในเว็บไซต์ของเธอก็เป็นผมสีแดงส้มร้อนแรง)  เธอมีเสียงหวานใสดุจระฆังแก้ว   แม้เธอจะคว้าบท Ariel  ในวัย 25 ปี  มากกว่าต้นฉบับเกือบสิบปี  แต่ก็ดูสวยใสอ่อนเยาว์ ทั้งสื่อและแฟนๆต่างก็ชื่นชมว่า เธอดูเหมือน Ariel แบบ born to be!   ผลงานที่มี  Disney Theatrical เป็นผู้  produce ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จากที่เคยเปิดแสดงที่  Denver ก็มาที่ Broadway แสดงไปมากกว่าหกร้อยรอบ และยังเดินสายไปที่รัฐอื่นอีกด้วย 
เพิ่มเติมก็คือ  เรื่อง diversity ในตัวละครนางเงือกพี่สาวและราชา Triton มีมาหลายปีแล้ว  ดูจากผลงานโพรดิวซ์ของ Disney Theatrical ที่ Sierra Boggess รับบทนางเอก พ่อและพี่สาวของเธอนั้นมีเชื้อชาติแตกต่างกัน 



เงือกน้อยเชื้อสายเอเชียนในวงการ  Broadway


เมื่อ  Diana Huey    สาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียนได้เข้าร่วมออดิชั่นบท Ariel เพื่อร่วมออกทัวร์ Broadway ทั่วประเทศ  เธอไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ไขว่คว้าไปถึงบทนางเอกแต่อย่างใด  เพียงแค่มีโอกาสได้โชว์พลังเสียงขับร้องเพลง Part Of Your World  เธอก็พอใจแล้ว     แต่เมื่อได้ค้นพบว่า  ความสามารถของเธอได้สร้างความประทับใจให้กับฝ่าย casting จนพวกเค้าเลือกให้เธอเป็นนางเอกเอเชียนคนแรกที่ได้ได้ถ่ายทอดตัวละครเจ้าหญิงเงือกสุด  iconic แห่ง Disney  เธอก็มุ่งมั่นเต็มที่เพื่อจะพิสูจน์ตัวเองจากสัญญาการออกทัวร์แสดงยาวนานข้ามปี   จากที่เคยไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะรูปลักษณ์ของเธอไม่ได้ตรงกับความคาดหวังของแฟนๆที่หลงรัก Ariel ในต้นฉบับที่เป็นสาวผิวขาว  และต้องการทำให้ทุกคนเห็นว่า ในโลกของศิลปะนั้น   ไม่ควรมีกำแพงกีดกั้นทางเชื้อชาติมาเป็นอุปสรรค

แนวคิดแบบ colour blind casting ในโลก Broadway นั้นก้าวล่วงหน้าไปก่อน Hollywood มานานเลยทีเดียว นักสร้างละครเวทีได้คัดสรรนักแสดงโดยไม่ไต้ยึดมั่นกับเชื้อชาติของต้นฉบับในความทรงจำของแฟนๆ มั นเกิดขึ้นตั้งแต่หลายปีก่อนจะเกิดกระแส representation สำหรับวงการนี้ เป็นเรื่องปกติจะได้เห็นนางเอกหลากหลายเชื้อชาติเข้ามารับบทเจ้าหญิงที่โด่งดังจาก Disney animation ไม่ได้สงวนไว้ให้สาวผิวขาวที่ตรงกับภาพของตัวการ์ตูนเท่านั้น

ซึ่งทุกวันนี้ colour blind casting ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใหญ่โตในโลกออนไลน์ว่า เป็นเรื่องดีงามที่ควรจะสนับสนุน หรือ woke จนฝืนความรู้สึก

Bill Berry ผู้กำกับด้าน producing artistic ได้เผยเหตุผลที่เลือกนางเอกสาวเอเชียนมารับบท Ariel ว่า หากเธอมีความสามารถสูง เหตุใดจะต้องมองข้ามเธอไป? พวกเค้าได้ใช้นักแสดงชาวเชื้อสายอัฟริกันมาแสดงเป็นปู Sebastian และที่จริงปูแล้วเป็นชาวอัฟริกันอย่างนั้นหรือ? การยึดติดกับภาพเดิมๆเช่นนั้นมาจากการตีความหมายผ่านตัวการ์ตูนกันเองทั้งนั้น พวกเค้าเพียงต้องการจะให้ความสำคัญกับการเปิดใจต่อความเป็นไปได้ทุกอย่าง ไม่ว่าใครที่มาชมละครเวทีก็สามารถมองเห็นตัวเองผ่านการแสดงนี้ได้




ในเวลาต่อมา  the Theater Under the Stars Production  ก็ได้เลือก Delphi Borich นางเอก Broadway ลูกครึ่งญี่ปุ่นมารับบท Ariel   ส่วนเจ้าชาย Eric รับบทโดย  Noah Ricketts   พระเอกเชื้อสายผิวดำ   และเชื่อได้ว่า มันจะเป็นภาพที่พวกเราได้เห็นกันมากขึ้นในอุตสาหกรรมหนัง  Hollywood

เวอร์ชั่น  Live Musical
ตอนที่  Auli'i Cravalho    นักแสดงสาวผู้ให้เสียง Moana  ได้สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการแสดงและขับร้องบท Ariel ใน The Wonderful World of Disney presents The Little Mermaid Live ที่ออนแอร์ผ่านช่อง ABC  นั้น ความคิดเห็นจากผู้ชมก็แตกเป็นสองฝักฝ่าย หลายคนประทับใจใน skill การขับร้องของเธอ และชื่นชมว่า  เธอได้ปลุกตัวตนของ Ariel ที่น่ารักสดใสได้อย่างลงตัว ทั้งยังดูเหมาะสมเพราะเธอมีวัยเพียง 18 ปีใกล้เคียงกับต้นฉบับ   ฉากในเพลง Part Of Your World ที่เธอใช้ sling ลอยตัวแหวกว่ายกลางอากาศก็น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ชาวเน็ทอีกไม่น้อยแสดงความรู้สึกรับไม่ได้กับ production  อย่างเช่น รูปลักษณ์ของ  Flounder  และ costume  ของ  Sebastian    

 


ดูเหมือนว่า จะไม่ได้เกิดกระแสต่อต้านเรื่องเชื้อชาติของนางเอกสาวที่เป็นลูกผสมหลากหลาย Auli'i Cravalho มีเชื้อสายชนพื้นเมือง Hawaiian, Puerto Rican, Portuguese, จีน และ Irish   ซึ่งที่ผ่านมาอาจทำให้หลายคนจินตนาการภาพเธอในลุคของ Moana แบบฉบับ Live Action แทนที่จะเป็นเงือกน้อยผมแดง  แต่รูปลักษณ์ของเธอไม่ได้ดึงดูดเสียงโจมตีนัก อาจจะมีผู้ที่ตำหนิว่าธอว่า ร้องเพลงคีย์ไม่ถึงในบางเพลง  และดูขาดประสบการณ์ในการแสดงสด ซึ่งต้องทุ่มเทพลังเกินร้อยเพื่อส่องประกายความเป็นนางเอกให้เจิดจรัสที่สุด    แต่ก็ไม่ถึงขนาดกับมีความเคลื่อนไหว #NotMyAriel  ต่อต้านเธอเหมือนที่นางเงือก live action เวอร์ชั่นล่าสุดต้องเจอ  แต่ชาวเน็ทดูจะมีปัญหากับหุ่นน้องปลา  Flounder ซะยิ่งกว่า  กลายเป็น meme ชวนฮาแบบไม่ต้องสงสัย

เวอร์ชั่นหนังฟอร์มยักษ์
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า  นี่คือหนึ่งใน casting ที่น่าจะสร้าง controversy อันดับต้นๆของ Disney     เห็นได้ชัดเจนจากกระแสสังคมออนไลน์ต่างแบ่งเป็นฝักฝ่าย  จนถูกเปรียบเทียบว่า หากไม่ปลื้ม Ariel ในเวอร์ชั่นนี้ก็เกลียดไปเลย

นับตั้งแต่ที่มีการประกาศออกมาว่า Halle Bailey นางเอกและศิลปินสาวเสียงดีจะเป็นผู้มาถ่ายทอดบทบาทเงือกน้อยเวอร์ชั่นที่มีชีวิต ก็เกิดเสียงโจมตีหนักหน่วงว่า เธอไม่มีจุดใดเลยที่สอดคล้องกับความเป็น Ariel ในความทรงจำของแฟนๆ เมื่อผู้สร้างได้นำเสนอภาพโพรโมทออกมา คนที่ไม่เห็นด้วยยิ่งมีปฏิกิริยาขัดแย้งไปใหญ่โต เกิดเป็นกล่าวหาอื้ออึงว่า ผู้สร้างกำลังลบเลือนตัวตนของเงือกน้อยต้นฉบับออกไปจนไม่เหลือชิ้นดี เพราะไม่เพียงแต่ Halle จะไม่ได้เป็นเจ้าหญิงเงือกผิวขาว ภาพผมแดงของ Ariel เวอร์ชั่นการ์ตูนที่ตราตรึงใจแฟนๆ ได้ถูกแทนที่ด้วยสีผม Copper ในเฉดเข้มกว่า และจัดแต่งด้วยทรง locs ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนดำ ซึ่งทำให้ Halle ปลาบปลื้มใจที่โพรดิวเซอร์และผู้กำกับได้สนับสนุนให้เธอนำเสนอรากเหง้าและจิตวิญญาณของผู้หญิงผิวดำผ่านภาพของ Ariel ในหนังฟอร์มยักษ์ แต่การตัดสินใจเปลี่ยนลุคก็ตามมาด้วยเสียงโอดครวญด้วยความผิดหวังของชาวเน็ท ความปรารถนาจะเห็นคลื่นผมหนานุ่มพริ้วไหวใต้น้ำราวกับมีชีวิตเหมือนใน animation ถูกพับเก็บไป

ไม่เพียงเท่านั้น  แฟนๆอีกหลายคนยังมองว่า costume ไม่ส่งให้นางเอกดูสวยงามโดดเด่นนัก  รวมถึง visual ของตัวละครสัตว์น่ารักที่เคยสร้างความประทับใจนั้นดูแข็งขัดตาไม่สมกับการทุ่มทุนสร้างมหาศาล   ทำให้พวกเค้าเหล่านั้นตัดสิน The Little Mermai ไปแล้วว่า จะเป็นผลงาน remake ที่พังที่สุดของ Disney

ฝ่ายที่ยืนหยัดสนับสนุน Ariel ในเวอร์ชั่นล่าสุดเชื่อมั่นว่า  ตัวละครนี้ถูกสร้างจากจินตนาการจากปลายยุค 80s  ด้วยยุคสมัยที่หมุนผ่านไปนานกว่าสามสิบปี คนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับภาพต้นฉบับการ์ตูน  เธอเป็นตัวละครที่ถูกสร้างจากจินตนาการที่สามารถตีความแตกต่างไปจากต้นฉบับ  ในเมื่อเธอคือเงือกน้อยผมสีแดง มีหางปลาสวยงาม  และร้องเพลงได้อย่างไพเราะสะกดใจ   สิ่งสำคัญคือการถ่ายทอดตัวตนเด็กสาวที่สดใสไร้เดียงสา แต่เต็มไปด้วย passion ที่จะไขว่คว้าหาสิ่งที่ใฝ่ฝัน   มันสมควรแก่เวลาที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง  ภาพ Ariel ยุคใหม่ที่ฉีกกรอบไปจากเจ้าหญิงเงือกผิวขาวผู้น่ารักแห่ง Disney เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ได้ทำลายความเป็นตำนานของ animation สุดคลาสสิค   แต่เปิดทางให้กับจินตนาการรูปแบบใหม่  เพราะผู้ชมจากเชื้อชาติอื่นมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงตัวละครนี้ โดยสามารถมองตัวเองผ่าน Halle  และเกิดความเชื่อมั่นได้ว่า  แม้พวกเค้าจะไม่ได้มีผิวขาว แต่ก็ฝันว่าตัวเองก็เป็นเหมือนกับ Ariel ได้   ดังที่ได้เห็นจากปฏิกิริยาตื่นเต้นดีใจของแฟนๆตัวจิ๋วเมื่อได้ชม trailer
Rob Marshall  ผู้กำกับหนังรางวัล   Oscar  ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบท่าเต้นของ Cinderella หนัง musical ยุค90s ที่สร้างความฮือฮาจากการเลือก Brandy นักร้องสาวผิวดำมารับบทนางเอก ประชันบทบาทกับ Paolo Montalban พระเอกเชื้อสาย Filipino  เขาได้รับข้อเสนอให้หวนกลับมาร่วมงานกับ Disney เพื่อสร้างสรรค์ Little Mermaid เวอร์ชั่นคนแสดง  และแน่นอนว่าจะต้องเสาะหา Ariel ที่ 'ใช่' มากที่สุด   

ทีมงานต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า Halle มีคุณสมบัติที่โดดเด่นนำหน้ากลุ่มนักแสดงที่เข้ามาร่วมออดิชั่นหลายร้อยคน  เมื่อโพรดิวเซอร์ได้เห็นเธอร้องเพลง  Part Of This World  ก็ถึงกับหลั่งน้ำตา  ฝ่ายผู้บริหาร The Walt Disney Company  Bob Iger ได้เห็นการแสดงในรอบทดสอบเพียงไม่นานก็บอกว่า  100% ยังไงต้องเป็นเธอคนนี้     แต่เมื่อได้พบกับกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ประกาศชื่อนางเอกก็ทำให้ผู้กำกับดังช็อคไปเลย

"ผมไม่คิดมาก่อนว่าการคัดเลือกผู้หญิงผิวสีมารับบทมันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต   คิดว่ามันดูเป็นการมองโลกแบบคร่ำครึ   ตอนที่มีดราม่าความขัดแย้งขึ้นมา ผมก็นึกขึ้นมาเลยว่า ว้าว  นี่มันเหมือนกับเป็นสถานการณ์ที่เกิดในศตวรรษที่แล้ว   นี่เรายังอยู่ในยุคปัจจุบันกันรึเปล่า?"
"แต่ผลลัพธ์ดีงามที่ตามมาจาก casting  ซึ่งแต่ก่อนหน้านี้ มันเป็นสิ่งผมไม่ได้สัมผัสมาก่อน นั่นก็คือความรู้สึกที่ได้เห็นเด็กชายเด็กหญิงผิวสีที่ได้จ้องมองไปที่เธอ  แล้วทำให้พวกเค้าได้คิดว่า ว้าว ตัวตนแบบที่ฉันเป็นก็ถูกนำเสนอออกมาเช่นกัน  มันเป็นสิ่งที่ทำให้ผมซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก"

"สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยการการเลือกนางเอก   มันทำให้สัมผัสถึงทัศนคติคับแคบ  และนั่นเป็นจุดมุ่งหมายของหนังเรื่องนี้  นั่นคือความไม่หวั่นใจกับใครบางคนเพียงเพราะเค้าแตกต่างไปจากเรา"

"ผมคงต้องบอกว่าดราม่ามันดูล้าสมัยมาก   ถึงตอนนี้แล้ว เรายังต้องถกประเด็นเรื่องการกีดกันทางเชื้อชาติกันอยู่?   พอพูดถึงความแตกต่าง  มันก็มาได้ถูกจังหวะพอดี  เพราะเราได้เห็นกันแล้วว่า โลกเกิดความแตกแยกมากขนาดไหน    ผมได้แต่หวังว่า เรื่องราวอันงดงามของเงือกน้อยจะย้ำเตือนให้พวกเราได้ตระหนักว่า พวกเราควรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"

John DeLuca  producer คู่ใจผู้กำกับ (และคู่ชีวิต) ได้เชิญชวนผู้คนให้เปิดใจเข้ามาชมหนัง "ทำลายกำแพงที่กีดกั้นคุณออกไป  ผมการันตีเลยว่าคุณจะประทับใจ"



เพียงเริ่มเข้าฉายรอบสื่อ ก็มีการตั้งเป้าไว้ว่า  จากการเข้าฉายกว่าสี่พันโรงในอเมริกาเหนือ  รายได้เปิดตัวของ Little Mermaid ในสี่วันแรกในช่วงวันหยุด Memorial day จะอยู่ที่ $120 ล้าน  และรายได้ทั่วโลกควรจะอยู่ที่ $180 ล้าน   แต่นี่คือหนังฟอร์มยักษ์ที่ทุ่มทุนสร้างถึง $250 ล้าน   (มากกว่า Aladdin ที่มีนักแสดงแม่เหล็กอย่าง Will Smith มาช่วยดึงดูดความนิยม) นั่นหมายความว่า  Studio จะต้องคาดหวังรายได้เกินพันล้านแน่ๆ

แต่ท่ามกลางกระแสโจมตีอย่างดุเดือดว่า Disney ได้พรากเอาความฝันในวัยเยาว์ของแฟนๆตั้งความหวังกับ Ariel ในเวอร์ชั่นการ์ตูนมีชีวิตไว้สูงลิบลิ่ว   แต่ก็มีเสียงเชียร์ด้วยความถูกอกถูกใจออกมาเช่นกัน   กระแสความคิดเห็นที่แตกต่างสวนทางกัน ทำให้ชาวเน็ทจับตามองรายได้ของหนัง remake เรื่องนี้ว่า จะปังสมกับความมั่นใจของนักสร้างหนังหรือไม่   ฝั่งที่ไม่ยอมรับนั้นเชื่อว่า มันจะเป็นอีกผลงานที่เข้าทาง  Go Woke, Go Broke  จนกลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของ  Disney ที่เลือกยัดเยียด diversity มากกว่าจะใส่ใจความรู้สึกของแฟนๆที่เฝ้ารอจะได้ชมเงือกน้อยใน live action มาเนิ่นนาน    ในตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาจะเปิดเผยรายได้ 3-4 วันแรก  แต่ก็มีนักวิจารณ์หนังคาดการณ์ไว้แล้วว่า   ตัวหนังไม่ได้มีเวทมนตร์มากพอที่จะดึงดูดเงินในกระเป๋าของผู้ชม อย่างดีที่สุด คงจะทำรายได้แบบพอไม่เจ็บตัวเท่านั้น 

ความเห็นจากนักวิจารณ์หนังจากสื่อตะวันตกต่อการแสดงของ Halle นั้นค่อนข้างดีเลยทีเดียว มีเสียงชื่นชมว่า เธอโชว์ความสามารถจนเปล่งประกายด้วยบทบาทเงือกน้อยอย่างเต็มที่ และต้องใช้เสน่ห์แบกข้อด้อยต่างๆของหนังไว้       Variety ถึงกับฟันธงไว้ว่า Halle คือเหตุผลสำคัญที่ต้องไปชมหนัง remake เรื่องนี้ แต่สำหรับรสนิยมการชมภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องนานาจิตตัง แทนที่จะโฟกัสในประเด็นรูปลักษณ์ที่ไม่ตรงต้นฉบับของนางเอก พวกนักวิจารณ์หนังดูจะมีปัญหากับวิธีการถ่ายทอดพล็อทเรื่องจำเจ ภาพ special effect และ visuals ต่างๆ ที่ถูกคาดหวังไว้ว่าจะต้องสดใสได้ใจ นักวิจารณ์บางคนก็มองว่า The Little Mermaid ก็กำลังก้าวสู่เส้นทางผลงาน live action ที่น่าผิดหวังอีกเรื่องของ Disney

สำหรับตัวเรา คงต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วล่ะว่า Ariel ในเวอร์ชั่นหนังฟอร์มยักษ์จะ flop ตามที่ถูกโจมตีติดต่อกันมาหลายเดือน หรือว่า Disney จะสร้างตำนานครั้งใหม่เรื่อง representation  ได้สำเร็จจริงๆ


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE