แนวคิดอนุรักษ์นิยมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในวงการ K Pop

37 8

เชื่อหรือไม่ว่าการทำผมสีบลอนด์ของไอดอลเคยเป็น stigma ถึงขนาดรายการดนตรีในเกาหลีไม่ยอมรับ
สีผมที่สวยเป๊ะดูจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับไอดอล K-Pop มาตั้งแต่ไหนแต่ไร  สำหรับบางคน มันถือเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว หากปล่อยผมกลับคืนสีธรรมชาติของพวกเค้า แฟนๆอาจจะรู้สึกไม่ชินซะด้วยซ้ำ จากคำบอกเล่าของ Taeyong แห่ง NCT ทั้งสีผม, เมคอัพและเสื้อผ้าที่เข้ากับตัวตนของเขาคือ elements สำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและมีอิทธิพลต่อการแสดงบนเวที  เขาเปลี่ยนสีผมหลากหลายเฉดที่เข้ากับ comeback concept ไม่ต่างจากไอดอลชื่อดังอีกหลายคนที่ขยันเปลี่ยนลุคและเติมสีผมสวยน่าทึ่ง  ถึงขั้นที่ว่า มันทำให้แฟนๆส่งความเป็นห่วงเป็นใยเรื่องสุขภาพผมและหนังศีรษะ   แต่เมื่อย้อนไปในยุคบุกเบิกของ K-Pop สีผมสวยจัดจ้านนี้กลับขัดกับแนวคิดหัวเก่าจนเป็นอุปสรรคต่อการโพรโมทผลงานของไอดอลชื่อดังมาแล้ว


ย้อนไปในช่วงคาบเกี่ยว Y2K  อุตสาหกรรม K-Pop ยังไม่ได้สร้างความสำเร็จส่งอิทธิพลกว้างไกลในระดับ global ในขณะนั้นวัฒนธรรมสาว Gal หรือ Gyaru จากญี่ปุ่นได้พุ่งสู่กระแสความนิยม  ภาพของ Ayumi Hamasaki ราชินี J Pop และไอดอลโด่งดังจากวง  Morning Musume จุดประกายให้สาวกแฟชั่นหันมาเปลี่ยนแปลงลุคด้วยการฟอกสีผมเป็นสีบลอนด์คล้ายกับชาวตะวันตก   แต่สำหรับเกาหลีที่อยู่ใกล้เคียงกัน   สถานีโทรทัศน์ยังแน่วแน่กับการรักษากฏ censorship อันเคร่งครัด ช่องยักษ์ใหญ่บางช่องไม่ยอมเปิดใจยอมรับพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งของแฟชั่น ถึงขนาดกีดกันไม่ให้ไอดอลขึ้นเวทีแสดงในรายการดนตรี หรือจะยินยอมให้ขึ้นเวทีแสดงได้ก็ต่อเมื่อเก็บผมบลอนด์ไว้ในหมวก ต้นสังกัดจึงต้องลุกขึ้นมา fight เพื่อผลักดันให้ไอดอลมีอิสระในการถ่ายทอดด้านความงามที่สร้างสรรค์
S.E.S.   เกิร์ลกรุ๊ปที่ขึ้นชื่อว่าประสบความสำเร็จที่สุดในช่วง Y2K เคยตกเป็นข่าวใหญ่โต เมื่อพวกเธอมาพร้อมกับ concept ใหม่เพื่อโพรโมทผลงาน LOVE   จากที่สร้างชื่อจากภาพลักษณ์ของสาวใสที่ดูบริสุทธิ์ดุจนางฟ้า  พวกเธอมาในลุคที่ฟอกสีเป็นสีบลอนด์โดดเด่น แต่กลับไม่เป็นที่ต้อนรับจากรายการดนตรีช่อง  KBS และ SBS  แต่ต้นสังกัดและตัวศิลปินได้ยืนหยัดเพื่อเสรีในการแสดงออกทางแฟชั่น  ในเวลาต่อมา สถานียักษ์ใหญ่ก็ตกลงใจไฟเขียวให้ไอดอลผมบลอนด์เข้าร่วมถ่ายทำรายการเพื่อแสดงความสามารถทางดนตรี

 ดูเหมือนกันว่า การใช้กฏเกณฑ์จำกัดให้ไอดอลแสดงออกภายใต้กรอบแนวคิดหัวเก่านั้นจะไม่ได้ส่งผลเสียต่อสาวๆวงนี้แม้แต่น้อย   concept ใหม่นี้ได้พาพวกเธอให้ประสบความสำเร็จ ขายอัลบั้มไปได้ถึง 760,475 แผ่น  ซึ่งในขณะนั้น K-Pop ยังไม่ได้โด่งดังในระดับ global  จากจำนวนประชากรก็คำนวณออกมาได้ว่า พวกเธอนับเป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่ขายดีสุดๆแห่งยุคนั้น  แม้จะมีคนมองผมสีบลอนด์ของไอดอลอย่างไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่ามันสื่อถึงพฤติกรรมใจแตกและก้าวร้าวไม่ยอมรักษาวินัยในกรอบความเหมาะสมตามที่ผู้ใหญ่อบรมสั่งสอน  แต่ความสำเร็จของพวกเธอได้ก่อให้เกิด normalization การทำสีผมแปลกใหม่จนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวงการ K- Beauty มาจนถึงปัจจุบัน
การนำเสนอ concept ที่แปลกใหม่และแตกต่างน่าจะเป็นพลังส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรีดนตรีในช่วงที่กำลังก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ให้ก้าวไกลกว่าเดิม  แต่การทำสีผมบลอนด์กลับถูกพิพากษาว่าเป็นตัวอย่างย่ำแย่ต่อเยาวชน  หากพบเห็นวัยรุ่นผมทอง หลายคนอาจจะสรุปแล้วว่า นี่คือสัญลักษณ์ของเด็กเกเรที่ไม่ชวนคบหาสมาคม  รวมถึงข้อกล่าวหาว่าคอยลอกเลียนแบบฝรั่งมังค่า  ไม่ยึดมั่นกับความเป็นชาตินิยม แต่จุดเริ่มต้นของความเฟื่องฟูของดนตรี K-Pop นั้นเกิดจากการผสมผสานดนตรีโมเดิร์นจากฝั่งตะวันตกกับดนตรีที่ถูกจริตชาวเกาหลีในยุค 90s ซึ่งเป็นกลไกแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไร้พรมแดนที่ทำให้เกิดความพัฒนา

ยังมีคนเกาหลีบางคนที่เกิดทันยุค S.E.S. ยอมรับว่า เสียดายที่ตัวเองไม่ได้เปลี่ยนสีผมเหมือนกับไอดอลคนโปรดเพราะกังวลกับสายตาอคติจากรอบข้าง หากพวกเค้าสามารถปลดแอกตัวเองความคิดนัั้นได้และทดลองทำในสิ่งที่ต้องการ มันคงกลายเป็นความทรงจำวัยรุ่นที่ชวนรำลึกถึง


 David Yi  คอลัมนิสต์เชื้อสายเกาหลีอธิบายถึงความเป็นมาของสีผมไอดอล K-Pop กับนิตยสาร Allureว่ า

"เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ลักษณะสังคมแบบเชื้อชาติเดียวสูงมาก ไม่ว่าจะมองไปทางใดผู้คนก็ดูจะแสดงถึงรสนิยมที่คล้ายกันไปหมด แต่สำหรับไอดอลที่มีสไตลิสต์และช่างต่างหน้าคนเดียวกัน มันเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความโดดเด่นสะดุดตาขึ้นมาท่ามกลางผู้คน สีผมแรงๆอย่างสีชมพูหรือสีม่วงก็ทำให้ไอดอลดูแตกต่างขึ้นมาจากไอดอลคนอื่นๆ"

"ช่อง SBS และ KBS บอกว่าการทำสีผมเช่นนี้คือตัวอย่างไม่ดีต่อวัยรุ่น เพราะฉะนั้นใครที่ทำสีผมมาจึงถูกมองว่าเป็นพวกที่ชวนขัดหูขัดตาและไม่สมควรมาออกรายการ TV มันเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อเพราะเพิ่งจะเกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานเท่าไรนัก ทุกวันนี้ ทั้งหญิงชายสามารถเลือกใช้ความงามเพื่อถ่ายทอดตัวตน กรุง Seoul กลายเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งความงามที่ก้าวหน้ามากที่สุดของโลก"



เมื่อศิลปินสามารถสามารถทำลายกำแพงอคติได้สำเร็จ พวกเค้าจึงได้รับการยกย่องให้เป็น trendsetter ทรงอิทธิพลของหนุ่มสาวเกาหลี ถึงทุกวันนี้ หากใครจะทำผมสีเฉดสีรุ้งก็ไม่ใช่การแสดงออกที่ดูแรงจนสื่อดังรับไม่ได้อีกต่อไป เมื่อจับไอดอลมากมายหลายคนมายืนเรียงกันในอีเวนท์และรายการ TV สีผมเข้มตามธรรมชาติของชาวเอเชียนบวกกับการแต่งตัว match กันตาม concept อาจจะทำให้ดูกลมกลืนกันไปหมดจนยากจะแยกออก สีผมที่สะดุดเป็น gimmick ที่ไม่ซับซ้อน แต่ดึงดูดความสนใจได้เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนสีและทรงผมของไอดอลยังถูกมองว่าเป็นการส่งสารให้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ project ใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนๆ

หากมองไปฝั่งวงการดนตรีตะวันตกเอง พวกเราก็ได้เห็นการ transform ด้วยสีผมและทรงผมไก๋ไก๋กันชินตา มันไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ย้อมสีผมจากแตกต่างจากสีผมตามธรรมชาติอย่างสุดขั้วต้องการจะเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้เหมือนคนเชื้อชาติอื่นหรือลืมรากเหง้าของตัวเอง แต่เป็นการทดลองสิ่งใหม่ๆจนเกิดเป็นพัฒนาการทางแฟชั่น  ในปัจจุบันนี้ เกาหลีใต้สามารถต่อยอดความสำเร็จด้วยการส่งออกธุรกิจทั้งผลิตภัณฑ์สำหรับผมและ beauty salon จนโด่งดังในต่างประเทศ   หากมองย้อนกลับไป บางคนก็คงคิดตรงกันว่า การ ban ไอดอลผมบลอนด์ในรายการดนตรีเป็นเรื่องที่เสียเวลาไปเปล่าๆ

Taboo เรื่องรอยสัก

เมื่อปีที่แล้ว ภาพของ Nana อดีตสมาชิกวง After School ระหว่างโพรโมทผลงาน Confession ร่วมกับนักแสดงชั้นนำ So Jisub และ Kim Yunjin ก็ได้จุดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เธอเฉิดฉายใน little black dress เกาะอกที่เผยรูปร่างที่ถูกยกย่องว่างามไร้ที่ติ และปรากฏรอยสักหลายแห่งบนผิวเรียบเนียน ทำให้ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามเธอถึงที่มาของรอยสักเหล่านั้นทันที เธอไม่ได้ให้คำตอบชัดเจน เพียงแต่อธิบายว่าเป็นรอยสักที่เข้ากับบทบาทและเป็นลวดลายที่ตรงใจเธอ และหากมีโอกาสจะบอกเล่าในภายหลังที่มาของมันในภายหลัง จนเกิดคำถามตามมาว่า รอยสักของเธอเป็นของจริงที่คงอยู่ถาวรหรือเป็นรอยสักชั่วคราวจากการวาดเฮนน่าและสติ๊กเกอร์ และฟันธงว่า รอยสักเหล่านี้จะกระทบต่ออาชีพนักแสดงของเธออย่างแน่นอน ถึงขนาดมีการเรียกร้องต้นสังกัดของเธอออกมาชี้แจง (wow!)

อาจจะมีคนคิดว่าสังคมเกาหลีหันมายอมรับศิลปินดาราที่เปิดเผยรอยสักได้มากขึ้น แต่ปฏิกิริยาสังคมที่ร้อนแรงขนาดนี้ก็น่าจะชี้ชัดว่า มันยังเป็น taboo ที่สร้างความเห็นที่ขัดแย้งกันได้เสมอ


ในขณะที่ชาวเน็ทหลายคนเคารพในการตัดสินใจของ Nana แต่ยังมีคนที่เชื่อว่า ศิลปะสักลายคือการแสดงออกแบบขบถสังคม ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจสักต้องยอมรับว่า จะต้องรับมือกับสายตาอคติและการเลือกปฏิบัติ ถูกเหมารวมกับผู้นิยมลายสักในวงการสีเทาอย่างบรรดานักเลงและอาชญากร แม้จะทางกฎหมายจะระบุว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะรับบริการสักลายได้ แต่ช่างมืออาชีพที่สักให้จะต้องเป็น 'ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์'ที่ได้รับในอนุญาตเท่านั้น แต่จะมีแพทย์สักกี่คนที่เปิดกิจการรับสักลาย? ฟังดูแล้วไม่ใช่เงื่อนไขที่ฟัง realistic แต่อย่างใด  

เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตากวาดล้างช่างสักใต้ดิน แต่หากมีผู้แจ้งความขึ้นมา ช่างสักยังเสี่ยงต่อการถูกปรับหรือจับกุม ซึ่งคนในวงการนี้ต่างรู้ดีว่า มีผู้ถูกปรับจริงจับจริงมาแล้ว ศิลปินสักชื่อดังที่เคยโชว์ผลงานสักให้กับ Brad Pitt เคยถูกปรับห้าล้านวอนหลังจากที่เขาแชร์ภาพในขณะสักให้กับนางเอก เกาหลีใต้จึงเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวที่การสักร่างกายจากฝีมือช่างสักที่ไม่ได้มีอาชีพแพทย์เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย นั่นหมายความว่า ประชาชนยังไม่ได้มีอิสระในการตัดสินใจในการสักลายบนร่างกายตัวเองอย่างแท้จริง





ไม่นานมานี้ Nana เผยในรายการ Jo Hyunah’s Thursday Night ทาง Youtube ว่า ถึงแม่ของเธอจะอนุญาตให้เธอสักลายตามใจปรารถนา ซึ่งลวดลายต่างๆที่เธอเลือกนั้นได้สื่อถึงการปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างที่เธอกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิต แต่เมื่อแม่ของเธอขอร้องว่า อยากจะเห็นร่างกายของเธอที่เกลี้ยงเกลาไร้รอยสักอีกครั้ง เธอก็ยินดีจะทำตามความประสงค์ของผู้ให้กำเนิด แม้เธอจะไม่ได้มีความคิดจะลบรอยสักมาก่อน

"คนอื่นอาจจะคิดว่าฉันรับมือกับปัญหาด้วยวิธีที่ดูงี่เง่า แต่ในขณะนั้น การสักคือวิธีเดียวที่ช่วยที่ฉันได้ปลดปล่อยตัวเองได้ พอเวลาผ่านไป ฉันก็รู้สึกสบายใจขึ้นมากแล้วและดูเป็นผู้เป็นคนขึ้น แม่ก็บอกว่าอยากจะลบรอยสักออกไป จากในตอนนั้น แม่เชื่อว่า การที่ได้ปล่อยให้ฉันได้ทำในสิ่งที่ต้องการเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว ฉันไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าอยากจะลบรอยสักมาก่อน แต่เมื่อแม่ขอมา ฉันก็จะจัดให้ ช่วงแรกที่ฉันเปิดเผยรอยสักก็เป็นประเด็นใหญ่โตขึ้นมา โดยเฉพาะแฟนๆที่คงอยากจะรู้ถึงเหตุผลที่ Nana สักตามร่างกายไว้ตั้งหลายแห่ง"

Nana ยังเผยว่า ถึงพ่อของเธอจะไม่ได้ต่อว่า แต่เธอก็สัมผัสได้ว่ารอยสักของเธอทำให้ท่านเศร้าใจเป็นอย่างมาก


การตัดสินใจลบรอยสักเพื่อแม่อาจจะทำให้ Nana  ได้รับคำชมเรื่องการประนีประนอมและยอมรับความหวังดีของบุพการี  แต่อีกมุมมองหนึ่งก็มีการตั้งคำถามว่า หญิงสาววัย 31 ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นควรจะได้มีอิสระในการตัดสินใจ  หากศิลปะการสักลายเป็นสิ่งที่เธอชื่นชอบและไม่ได้ทำร้ายใคร  เธอก็ไม่น่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ของลูกที่สร้างความผิดหวังให้กับพ่อแม่ และถูกบีบให้ลบรอยสักออกไป  รอยสักของแต่ละคนย่อมมีความหมายแตกต่างกันไป  Nana  เปิดเผยว่า รอยสักเธออาจจะไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งไปทั้งหมดทุกอัน แต่มีอันหนึ่งที่ข้อเท้าเป็นปีที่แม่ของเธอเกิด ซึ่งน่าจะสื่อความรู้สึกรักและผูกพันกับแม่ ซึ่งเธอยอมรับว่า ระหว่างที่สักก็คิดถึงแต่แม่

Ryu Hojeong  นักการเมืองหญิงสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเกาหลีเคยใช้ภาพของ Jungkook จุดประเด็นการผ่านกฎหมายรับรองการสักให้เป็นสิ่งถูกกฎหมายโดยไม่ต้องถูกจัดให้เป็นการรับบริการทางการแพทย์  เธอโจมตีสถานีโทรทัศน์เกาหลีให้กฎเหล็กห้ามเปิดเผยรอยสักในการออกรายการและเบลอภาพรอยสักที่ปรากฏบนตัวคนดัง  ส่งผลให้บางครั้งพวกเค้าเลือกปกปิดมันไว้ด้วยการติดเทปที่บนผิวหนัง เธอจึงเรียกร้องให้สังคมร่วมรณรงค์เพื่อยุติแนวคิดว่ารอยสักคือพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับการรักษาศีลธรรมจรรยาอันดีงาม เพราะมันคือศิลปะที่ทั่วโลกยอมรับ ไม่ใช่ตัวอย่างที่เสื่อมเสียต่อผู้ชมคนรุ่นใหม่แต่อย่างใด  ซึ่งทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการถ่ายทอดตัวตนในรูปแบบที่ต้องการ  

แต่กระแสตอบรับจากแฟนๆ BTS ไม่ได้มีแต่ด้านที่เห็นดีเห็นงาม หลายคนไม่พอใจที่นักการเมืองผู้นี้เจาะจงใช้ภาพ Jungkook หรือใช้ชื่อเสียงของ BTS มาเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และใช้ถ้อยคำเกรี้ยวกราดสั่งให้เธอลบภาพของไอดอลคนโปรดจากโพสต์ดังกล่าว รวมถึงเรียกร้องให้ต้นสังกัดปกป้องเขาไม่ให้ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ sensitive ของสังคม

เมื่อ K-Pop ผงาดขึ้นมากอบโกยความนิยมจากแฟนๆหลายทวีปทั่วโลก   ไอดอลชื่อดังได้กลายมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกแฟชั่นทำให้พวกเค้าดึงดูดความสนใจล้นหลามจากสื่อและแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงในโลกตะวันตก   แต่เมื่อโพรโมทผลงานผ่านรายการ TV ในประเทศ  ไอดอลที่นิยมชมชอบในศิลปะรอยสักกลับต้องปกปิดมันไว้ให้มิดชิด  แม้ว่าแฟนๆจากต่างประเทศพยายามทำความเข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่เกิดจากแนวคิดอนุรักษ์นิยมซึ่งปลูกรากฝังลึกจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปง่ายๆ  แต่มันก็ดูย้อนแย้งกับความรู้สึกของหลายคน  ทั้งๆที่มีความพยายามยกระดับอุตสาหกรรม K-Pop สู่สากลให้เข้ากับกระแสโลกโมเดิร์น  แต่ศิลปินกลับถูกจำกัดอิสระในการแสดงตัวตนผ่านรายการ TV และมันดูเป็นวิธีปฏิบัติที่ดูไม่สมเหตุสมผลนัก  เพราะไม่ว่าใครที่เข้าถึงโลกออนไลน์ได้ก็รับรู้ถึงรอยสักของศิลปินกันทั้งนั้น คนดังเหล่านี้ทั้งแชร์ภาพผ่าน social media พูดคุยกับแฟนๆ ผ่าน live  ถ่ายทำ MV ออกอีเวนท์ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยที่เปิดเผยรอยสักได้อย่างเต็มที่  แต่เมื่อถ่ายทำรายการ TV ในประเทศกลับต้องปกปิดไว้ (แม้จะมีช่องที่ผ่อนปรนบ้าง)  

เรื่องรอยสักของดาราศิลปินปรากฏอยู่นอกเหนือหน้าจอ TV เกาหลีไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเรื่องภาพลักษณ์ของพวกเค้านัก ยังมีผู้คนอีกมากมายที่มองว่า นี่คือ personal choice ที่ไม่สมควรจะนำมาเป็นเครื่องมือตัดสินตัวตนภายในของผู้อื่น  


คณะกรรมการการแพร่ภาพออกอากาศและมาตรฐานการสื่อสารเกาหลีเคยชี้แจงต่อสังคมว่า ไม่ได้มีการกำหนดกฎห้ามเปิดเผยรอยสักระหว่างถ่ายทอดรายการโทรทัศน์อย่างตายตัว อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการปฏิบัติจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาของรายการ  ซึ่งรอยสักอาจจะถูกมองว่าขัดต่อภาพลักษณ์ความมีจรรยาและความมีเกียรติ  ดังนั้น สถานีโทรทัศน์อาจจะถ่ายทอดภาพนักกีฬาที่มีรอยสักโดยไม่ต้องเบลอภาพปกปิด แต่สำหรับศิลปินที่มาร่วมรายการ TV เพื่อสร้างความบันเทิง อาจจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมากกว่า

ยังจำได้ไหม  ต้นสังกัดตัดสินใจยกเลิกโพรโมทเพลง  Bubble Pop ของ HyunA เพราะถูกกดดันเรื่องท่าเต้นที่ sexy เกินไป! 
 Bubble Pop  เพลงที่ในตำนานที่หากได้เห็นแต่ชื่อคงไม่คาดคิดว่ามันจะมาพร้อมกับ enery ที่ร้อนแรง นี่คือผลงานในดวงใจของแฟนๆ 2nd Generation K-Pop ที่ทำให้  HyunA ครอบครองสถานะไอดอลสุด sexy  อย่างเต็มภาคภูมิ  แต่แม้ว่าเพลงนี้จะดังมากแค่ไหน แต่ดราม่าก็ตามมา  เนื่องจากคนกลุ่มหนึ่งในสังคมมองว่า  เธอจงใจสร้างกระแสด้วยท่าเต้นและแฟชั่นที่ส่อไปทางด้านเพศจนดูแรงเกินรับได้ 

แค่เริ่ม MV ภาพของ HyunA ที่สวมเสื้อกล้ามและ hot pants จิกส้นสูงสีแดงด้วย attitude แบบ Beyonce ใน MV  Crazy In Love ยังตราตรึงใจเราเสมอ  ยิ่งเธอโชว์ท่าเต้นควงสะโพกสุดพริ้วก็สั่นสะเทือนไปทั้งวงการ   HyunA เดินสายโพรโมทตามรายการดนตรีชื่อดังและไม่ทำให้แฟนๆผิดหวังเลย  เธอเต้นจัดเต็มไม่ได้แตกต่างจาก MV  แต่ก็ดึงดูดเสียงวิจารณ์ในแง่ลบตามมาด้วย   และในที่สุดหน่วยงานรัฐก็เข้ามาแทรกแซง คณะกรรมการการแพร่ภาพออกอากาศและมาตรฐานการสื่อสารเกาหลีได้ส่งคำเตือนมาว่า ท่าเต้นของเธอสื่อถึงเรื่องทางเพศมากเกินไป   ต้นสังกัดเดิมคือ Cube Entertainment ที่ช่วยผลักดัน concept สุด hot จน HyunA โด่งดังเปรี้ยงปังได้พิจารณาถึงกระแสสังสังคมและคำเตือนจากหน่วยงานรัฐแล้วก็ตัดสินใจยกเลิกการโพรโมท  Bubble Pop ทาง TV   เพราะคิดคำนวณแล้วว่า หากจะเปลี่ยนแปลงท่าเต้นให้เบากว่าเดิมคงไม่สมเหตุผล

HyunA เผยว่า เธอเป็นผู้ออกแบบท่าเต้น Bubble Pop ที่ตราตรึงใจ ผ่านไปนานขนาดไหน เธอก็ยังเต้นได้ แต่หากตั้งคำถามว่า นี่คือการแสดงออกที่ดูหมิ่นเหม่จนไม่ควรจะนำเสนอทางรายการ TV จริงหรือ? กาลเวลาที่หมุนเวียนไปก็น่าจะเป็นคำตอบ ท่าเต้นที่เคยมีคนมองว่าฉาวมากจนสมควรแบนอาจจะเป็นเรื่องปกติไปวงการไปซะแล้ว  ในเวลาต่อมา แฟนๆก็ได้ติดตามการแสดงของ girl group ที่มี sexy concept เป็นจุดขายจนเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นท่าเต้นลูบไล้ร่างกาย การเลื้อยไปบนพื้น มุมกล้องที่ซูมตอนที่กำลังส่ายสะโพกและฉีกขา เมื่อเปรียบเทียบกับยุคนี้ ภาพของ HyunA ในเพลง Bubble Pop อาจจะไม่ได้แรงขนาดจนต้องถูกบีบให้ยกเลิกการโพรโมท

การใช้อำนาจตรวจสอบและแทกแซงจากหน่วยงานรัฐไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวงการนี้ เพราะเคยมีกรณีไอดอลใช้จุดขายเรื่องท่าเต้นเย้ายวนใจจนถูกแบนมาแล้วหลายครั้ง   หรือแม้แต่ชุดที่ดูเปิดเผยสัดส่วนจนโป๊เกินงามในสายตาของคนที่ยึดมั่นกับแนวคิดหัวเก่าก็จะถูกบีบให้ปรับให้เบาลง  อย่างวง Nine Muses ที่ต้นสังกัดคัดเอาไอดอลรูปร่างสูงเพรียวเหมือนนางแบบมานำเสนอแฟชั่นที่สั้นคล้ายกับ no-pants trend ก็ต้องปรับความยาวของ jacket ให้ยาวพอจะปกปิดสัดส่วนด้านล่าง  และวง Rainbow ต้องเปลี่ยนท่าเต้นเพลง Aในการแสดงเวที Inkigayo ที่มีโมเมนท์ดึงเสื้อเปิดสะดือ   เรื่องราวพวกนี้ก็น่าจะทำให้หลายคนอยากฟังคำชี้แจงเรื่องเกณฑ์วัดความ sexy กันให้ชัดๆว่า  พวกเค้าใช้มาตรฐานใดตัดสินว่า นี่คือ act ที่ไม่เหมาะสม และเหตุใดไอดอลที่ดูแซ่บมากๆจึงได้รับการปล่อยผ่าน แต่บางกลุ่มต้องปรับเปลี่ยน?
แต่ในเวลาต่อมา รายการ M! COUNTDOWN  ก็เปิดไฟเขียวให้วง HELLO VENUS ที่ขึ้นชื่อเรื่องท่าเต้นบดๆยั่วๆ โชว์ทักษะ twerk จากเพลง Wiggle Wiggle แบบไร้ปัญหา  หากเป็นยุคนี้  ไอสาวสวยก็ twerk สร้างความฮือฮาจนเป็นไวรัลมาแล้วหลายครั้ง  บางวงคล้ายกับเป็น fan service ระหว่างแสดง concert ไปแล้ว   
ความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนจากพัฒนาการของแฟชั่นของ 2nd Generation idols ที่ก้าวไปตามกระแสโลกสากลคือความสั้นของชุดท่อนล่าง  ไม่ได้มีแต่ไอดอลที่มีภาพลักษษ์ sexy  แบบ HyunA ที่ใส่ hot pants แสดงบนเวที  แต่เกิร์ลกรุ๊ปที่ได้รับความนิยมจากภาพลักษณ์ใสบริสุทธิ์ดุจนางฟ้าก็ใส่ costume สั้นไม่ถึงคืบเป็นเรื่องปกติ   แต่หากเป็นการถ่ายทำรายการ TV  เหล่า่ศิลปินต้องปฏิบัติตัวตาม 'กฎเหล็ก' ของสถานี  ราวๆสิบกว่าปีก่อน  SBS ได้ประกาศว่า  พวกเค้าได้ตรวจสอบเครื่องแต่งกายของศิลปินตั้งแต่ที่ร่วมซ้อมแสดงจริงๆ  ซึ่งไม่ต้องการจะเรียกว่ากฎข้อบังคับ  แต่เป็นข้อตกลงกับต้นสังกัดต่างๆ  

มีรายงานว่า รายการดนตรีชื่อดังได้ห้ามไม่ให้ไอดอลหญิงเปิดเผยร่องอกมากเกินไปและแบนชุดที่เปิดเผยสะดือ! อันเป็นคำอธิบายว่า คุณอาจจะได้เห็นสะดือไอดอลในคอนเสิร์ตหรือ MV แต่เมื่อออกรายการ TV บางช่อง ไม่ว่าจะใส่สั้นขนาดไหน สไตลิสต์จะต้องจัดหากางเกงและกระโปรงเอวสูงที่ปกปิดสะดือไว้ แต่แนวทางปฏิบัติเช่นนี้ก็สร้างความสับสนให้กับแฟนๆ อยู่บ้าง เพราะหลายคนมองว่า hot pants แนบเนื้อของไอดอลสาวหลายคนยังดูไม่ต่างจากชุดว่ายน้ำนัก การโชว์ขาเรียวยาวดูโป๊กว่า crop top เปิดสะดือเป็นไหนๆ


กระแสตอบรับเมื่อไอดอลแต่งกายเปิดเผยสัดส่วนมากขึ้นกว่าเดิม


หนึ่งในประเด็นของไอดอลหญิง K-Pop ที่สร้างข้อถกเถียงมาตลอดคือ  พวกเธอควรจะแสดงออกทางแฟชั่นได้อย่างไร้ข้อจำกัดเหมือนกับศิลปินจากตะวันตกหรือไม่?
หลายคนมองว่า Jennie แห่ง  BLACKPINK เป็น trendsetter ที่ทำให้ underboob  ป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมเกาหลี  แต่ในเว็บบอร์ดดังอย่าง Pann และ Daum café  ก็มีชาวเน็ทที่โจมตีว่านี่คือลุคที่ทำให้คุณค่าความเป็นหญิงเสื่อมเสีย และไม่ต้องการให้ชาวเกาหลีหันมาชมชอบการแต่งกายเปิดเผยสัดส่วนเช่นนี้  มีเสียงไถ่ถามด้วยซ้ำว่า เธอถูกบังคับให้แต่งกายเช่นนี้หรือไม่!   ส่วนฝั่งแฟน ๆ  ที่เปิดใจยอมรับเรื่องพัฒนาการของแฟชั่นนั้นย่อมสนับสนุนให้ศิลปินขวัญใจแสดงตัวตนอย่างมีอิสระและมั่นใจในตัวเองโดยไดยไม่ต้องใส่ใจ hate comments ที่ด้อยค่าคนอื่นเพราะ underboob
หลายคนมองว่า ความสำเร็จระดับโลกของ  BLACKPINK ทำให้สาวปรับลุคให้เข้ากับแฟชั่นเทรนด์ในวงการดนตรีตะวันตก  และเห็นได้ชัดว่า มัน work จริงๆ เห็นได้จากความสำเร็จของทัวร์รอบโลกและกระแสชื่นชมจากสื่อต่างประเทศ ในขณะที่ยังมีชาวเน็ทถกเถียงไม่รู้จบว่า พวกเธอแต่งตัววาบหวิวเกินเบอร์สวนทางกับแนวคิดการวางตัวเป็นแบบอย่างดีงามตามมาตรฐานของชนชาติเกาหลี หรือนี่คือเรื่องแสนจะธรรมดาของศิลปินที่ได้รับความนิยมในหลายทวีปทั่วโลก เนื่องจากแฟนๆจากสังคมต่างวัฒนธรรมไม่ได้จ้องจับผิดหรือวิตกกังวลเรื่องแฟชั่นที่โชว์เนื้อหนังในระดับนี้   หากเปรียบเทียบกับศิลปินระดับโลกอีกหลายคน (ที่ใส่ naked dress และ thong รัวๆ)  เสื้อผ้าของพวกเธอไม่ได้เข้าข่าย controversial แต่อย่างใด

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องลุคของ Lisa ใน Born Pink World Tour นั้นสร้างข้อกังขาให้กับแฟนๆไม่น้อยเลย หลายคนมองว่า สไตลิสต์ละเลยเรื่องการเซฟร่างกายของเธอ บ้างก็ตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เธอจะถูกบีบให้แใส่ชุดที่วาบหวิวก็ในอดีต จากที่เคยใส่ hot pants ทับกางเกงรัดรูปสีดำเป็นปราการป้องกันไม่ให้แก้มก้นโผล่ ดูจากบางโมเมนท์ที่เธอพยายามดึงขอบกางเกงลงก็ทำให้แฟนๆ เกิดความกังวลว่า เธออาจจะอึดอัดใจที่ต้องแต่งชุดสั้นระดับ ultra

แต่ก็ยังมีคนเชื่อว่า นี่ได้สื่อถึงการเติบโตรูปแบบหนึ่งของศิลปินดัง จากการตั้งข้อสังเกตจากการแสดงใน Coachella และ Born Pink tour ที่พวกเธอขึ้นเวทีกับ backup dancers สาวต่างชาติที่ใส่บอดี้สูทและกางเกงเว้าสูงเผยส่วนเว้าส่วนโค้ง เปรียบเทียบกับการแสดงเพลงเดียวกัน dancers เหล่านี้ก็ยังโชว์ลีลา twerk จัดหนักจัดเต็มกว่าคอนเสิร์ตที่เกาหลี อาจเป็นไปได้ว่า แฟชั่นที่ดูท้าทายมากขึ้นของ Lisa ถูกปรับให้เข้ากับตลาดฝั่งตะวันตก ซึ่งผู้คนต่างคุ้นเคยกับลุคที่ดู sexy ของศิลปินชั้นนำของโลกอย่าง Ariana Grande และ Taylor Swift  ไม่น่าจะแตกต่างจากกรณีของ Jennie ที่เผยด้านเย้ายวนใจผิดหูผิดตาในการเข้าฉากแสดงซีรีส์ HBO มันอาจจะไม่ใช่ลุคที่โดนใจแฟนๆไปหมด แต่เป็นสิ่งที่เข้ากับผลงานของพวกเธอนั่นเอง



สำหรับประเด็นคาใจว่า เหตุใดในช่วงหลังๆมานี้ Lisa จึงได้รับ costume ที่เปิดเผยเนื้อหนังมากกว่าเพื่อนในวงเพื่อขึ้นแสดง จนทำให้มีแฟนๆกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับเธอ  เมื่อมองไปถึงความ mass ของ Lisa ในระดับ international ก็น่าจะพอจะชั่งน้ำหนักกับลุคที่เปลี่ยนแปลงไปได้บ้าง จากช่วงปีแรกๆที่ได้สร้างชื่อเสียงในวงการ K-Pop สไตลิสต์ Choi Kyungwon อธิบายว่า เลือกเสื้อผ้าที่ดู boyish ซุกซนดูกล้าฉีกแนวให้กับ Lisa  (ในขณะที่ Jisoo เป็นความสง่างามและนุ่มนวลดู feminine, Rosé เด่นที่ street mood ที่ดู strong และเสริมความสดใสน่ารักเข้าไป  ส่วน Jennie มีเสน่ห์ที่ลงตัวแบบน่ารักและ sexyในเวลาเดียวกัน) แต่การนำเสนอสไตล์ที่แปลกใหม่นี้กลับทำให้แฟนๆ หลายคนของ Lisa ไม่พอใจเพราะมองว่า แฟชั่นของเธอดูขาดๆเกินๆ ชวนขัดตาที่สุดในวง

ในภายหลัง สไตลิสต์อีกคนที่ได้เข้ามาร่วมงานกับ BLACKPINK คือ Park Minhee หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังแฟชั่นของสี่สาวใน Born Pink tour ซึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า BLACKPINK ได้เข้ามามีส่วนร่วมปรึกษาหารือเพื่อหาไอเดียเรื่องแฟชั่นเสมอ แม้แต่นอกเวลางาน ในขณะที่ต้องตามเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พวกเธอก็เข้าใจดีว่าสไตล์แบบไหนที่เหมาะกับตัวเอง และหัวใจในการทำงานของเธอคือเช็คให้แน่ใจว่า จะต้องเป็นชุดที่ไม่สร้างความอึดอัดให้กับไอดอลสาว เพราะไม่ว่าชุดจะสวยเริ่ดขนาดไหน แต่หากพวกเธอรูสึกอึดอัดคับข้องใจกับชุดที่ใส่ก็จะทุ่มเทกับการแสดงได้ไม่สุด






ไอดอลภาพลักษณ์ sexy ที่มักตกเป้าโจมตีจากสังคมออนไลน์
CL, Hyolyn, Hwasa และ Jessi   ศิลปินที่ขึ้นชื่อเรื่องความ fierce ออกนอกกรอบแนวคิดอนุรักษ์นิยมนั้นเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จเรื่องแฟชั่นที่เผยให้เห็นบั้นท้ายและท่าเต้นร้อนฉ่าเหมือนกับศิลปินฝั่ง USA   ซึ่งหลายคนมองว่า  นี่คือแฟชั่นที่แรงเกินกว่าคนในสังคมจะเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย   ซึ่งพวกเธอก็มักจะได้รับคำถามจากสื่อให้ชี้แจงแถลงไขความรู้สึกเมื่อเจอกระแสสังคมต่อต้านทั้งลุคและท่าเต้นบนเวที

Hwasa ได้พูดถึงที่มาของบอดี้สูทสีแดงที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า

"ตอนที่เตรียมการแสดงบนเวที ฉันคิดว่าถ้าได้ใส่ชุดนี้แล้วมันคงเจ๋งไปเลยและโทรหาสไตลิสต์ทันที ฉันเป็นคนประเภทที่ไม่คอยมาคิดมากว่าชุดอาจจะดูแรงเกินไป ฉันแค่เตรียมสิ่งที่เหมาะสำหรับการแสดง และคนรอบตัวก็จะเข้ามาบอกว่า นี่มันดูเยอะไปหน่อยรึเปล่า แต่ฉันกลับคิดว่า ถ้าหากมาแบบครึ่งๆกลางๆ จัดเต็มไม่ได้ ก็ไม่ต้องใส่ชุดที่เปิดเผยแม้แต่นิดก็ยังจะดีกว่า อันที่จริงแล้ว ฉันใส่ชุดแบบไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับชุดที่ใส่แล้วทำให้การแสดงดูเริ่ดขึ้นมา"







ไม่กี่เดือนก่อน Hwasaได้ตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อสมาคมเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของนักศึกษาและผู้ปกครองได้ร้องเรียนกับตำรวจว่า การแสดงของศิลปินสาวในเทศกาลมหาวิทยาลัย Sungkyunkwan เข้าข่ายการกระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัล จากโมเมนท์ที่เธอย่อขานั่งยองๆลงไปและใช้ลิ้นเลียนิ้วแล้วลูบที่เป้ากางเกง แม้การแสดงเพลงนี้จะได้รับเสียงเชียร์อื้ออึงจากแฟนๆ และ hot pants ของเธอก็ดูไม่แตกต่างจากตอนขึ้นคอนเสิร์ตอื่นๆ แต่มันก็กลายเป็นเรื่องรา่วใหญ่โตจนเธอช็อคหนัก จากที่ไม่สั่นคลอนไปกับ hate comments ง่ายๆ แต่กระแสโจมตีจากกรณีนี้ดุเดือดเกินกว่าเธอจะรับได้

ดราม่านี้เองที่ทำให้เธอเลือกเพลง I Love My Body เป็นผลงาน comeback ที่เพิ่งปล่อยออกมาไม่กี่วันที่แล้ว แน่นอนว่า MV ของเธอจะนำเสนอความ sexy แต่สิ่งสำคัญคือ message อันทรงพลังที่ empower ผู้คนให้หันมารักตัวเอง



การแสดงออกที่สื่อเรื่องเพศของศิลปินจุดประเด็นความขัดแย้งได้เสมอ แต่ก็ยังมีผู้เชื่อว่า กระแสต่อต้านการเปิดเผยสัดส่วนของไอดอลหญิงเป็นเรื่องปากว่าตาขยิบ เพราะเรื่อง sexualisation นั้นอยู่คู่กับวงการนี้จนแยกจากกันไม่ได้ ศิลปินหญิงได้รับการคาดหวังให้โชว์ด้านที่เย้ายวนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องวางตัวตามกรอบแนวคิดหัวเก่า หากไม่สามารถเติมเต็มความคาดหวังนี้ได้ก็เสี่ยงเป็นเป้าการโจมตี

ในขณะเดียวกัน หลายคนดูจะไม่มีปัญหากับเพลงของ J.Y. Park ที่บรรยายความชื่นชอบก้นงอนเด้งของผู้หญิงและมุมกล้องใน MV ที่ซูมสัดส่วนเว้าโค้งแบบเต็มๆตา หรือจะเป็นรายการวาไรตี้ที่พิธีกรจะขอให้ไอดอลหญิงลุกขึ้นมาโชว์ลีลาเต้น sexy เป็นเรื่องปกติ ส่วนโพรดิวเซอร์ดนตรีขยันส่ง sexy concept มาปลุกกระแส แต่หากการแสดงนั้นดูล้ำเส้นในสายตาคนบางกลุ่ม ผลที่ตามมาอาจจะซีเรียสถึงขนาดที่ตำรวจต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง





นี่คือส่วนหนึ่งของธุรกิจบันเทิง  สำหรับวันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่สร้างความอื้อฉาวทำให้ผู้คนแสดงความเห็นขัดแย้งกัน แต่เมื่อสังคม evolve ต่อไปไม่หยุดยั้ง  มีความเป็นไปได้ว่า มันจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE