กว่าจะเป็นผู้หญิงยุคใหม่ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง!

39 16
ในโลกปัจจุบัน เราอาจจะเห็นผู้หญิงระดับท็อปหลายคน ที่เป็นผู้นำหรือเป็นแนวหน้าของวงการต่างๆ แต่เชื่อมั้ย...กว่าเราจะกลายเป็น Working Woman หรือผู้หญิงยุคใหม่แบบนี้ได้นั้น เราต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก!
แน่นอนว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไป ค่านิยม ความเชื่อต่างๆ ก็เปลี่ยนตามไปด้วย การใช้ชีวิตของผู้หญิงก็เช่นกัน จากที่เมื่อก่อนผู้หญิงอยู่แต่ในบ้าน ก็ออกมาทำงานนอกบ้าน จากที่ใส่แต่กระโปรง ก็เปลี่ยนมาใส่กางเกงจนเป็นปกติ แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เรากลายเป็นผู้หญิงยุคใหม่ มันเริ่มจากตรงไหนนะ?
เนื้อหา
  • เมื่อผู้หญิงใส่กางเกงเป็นเรื่องตลก
  • ที่ผู้หญิงใช้นามสกุลตามสามี เพราะไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง?
  • ผู้หญิงได้ออกไปทำงานเพราะสงครามโลก
  • อำแดงเหมือน หญิงสยามที่ไม่ยอมตกเป็นทาสคลุมถุงชนอีกต่อไป!

เมื่อผู้หญิงใส่กางเกงเป็นเรื่องตลก

ความจริงแล้ว การใส่กระโปรงเป็นแฟชั่นของผู้หญิงยุโรปและอเมริกันที่ใส่กันมายาวนานมาก ซึ่งต่างจากไทยที่ผู้หญิงนิยมนุ่งโจงกระเบน แล้วเพิ่งมาเปลี่ยนเป็นผ้าถุงและกระโปรงตามฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นที่นิยมมากขึ้นในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม 
แต่สำหรับโลกตะวันตก ต้องขอย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1851 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสเฟมินิสต์กำลังมาแรง มีผู้หญิงอเมริกันชื่อ อลิซาเบธ สมิธ มิลเลอร์ (Elizabeth Smith Miller) ใส่กางเกงครั้งแรก กางเกงที่เธอใส่มีหน้าตาไม่เหมือนกับกางเกงที่เราใส่ในปัจจุบันนะ รูปร่างของมันจะออกพองๆ เหมือนกางเกงจินนี่ ใส่คู่กับกระโปรงที่สั้นระดับเข่า ต่อมา เพื่อนของเธอชื่อ อมิเลีย บลูมเมอร์ (Amelia Bloomer) ได้นำมาดัดแปลงให้ดูเก๋ขึ้น จนกลายเป็นแฟชั่นเฟมินิสต์ที่เรียกชุดแบบนี้ว่า Bloomer Costume ซึ่งก็เป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ นักกิจกรรมอยู่สักพัก ก่อนจะเลิกใส่กัน ด้วยเหตุผลที่ว่า มันดูตลกเกินไป!
แฟชั่นกางเกงเริ่มกลับมาอีกครั้งในช่วง ค.ศ. 1930 เมื่อ มาร์ลีน ดีทริช (Marlene Dietrich) ดาราเยอรมัน ใส่กางเกงขายาวออกสื่อ รวมถึง โคโค่ ชาแนล (Coco Chanel) ดีไซน์เนอร์ชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ที่ชอบใส่กางเกงมาก และยังออกแบบกางเกงสำหรับผู้หญิงอีกด้วย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเธอไปเลย แต่สำหรับผู้หญิงทั่วไป แล้ว พวกเธอเริ่มมาใส่กางเกงอย่างจริงจังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะสะดวกต่อการทำงานนอกบ้านนั่นเอง
แต่จุดเปลี่ยนทางแฟชั่นจริงๆ ต้องขอยกให้ชุด Le Smoking ของ Yves Saint Laurent ในปี ค.ศ. 1966 ที่มาพร้อมชุดสูทสุดเท่สำหรับผู้หญิง ดูแล้วปัง มงลงที่สุด เพราะเป็นชุดที่ท้าทายความเชื่อในสังคมมาก และทำให้คนเห็นว่าผู้หญิงใส่ชุดอะไรก็ได้แบบที่ต้องการ อีกทั้งยังทลายกรอบจำกัดทางเพศอีกด้วย ตั้งแต่นั้นมา ผู้หญิงก็เริ่มใส่กางเกงในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบันแล้ว กางเกงก็ไม่ใช่เรื่องตลกที่ไว้แบ่งแยกเพศอีกต่อไป!

ที่ผู้หญิงใช้นามสกุลตามสามี เพราะไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง?

ย้อนกลับไปสมัยยุคกลาง เรายังไม่มีนามสกุล แต่จะเรียกกันด้วยชื่อเฉยๆ จนต่อมาในศตวรรษที่ 9 อังกฤษเริ่มมีกฎหมายใช้ จึงกำหนดให้ผู้หญิงใช้นามสกุลตามสามี เพราะถือว่าภรรยาเป็นหนึ่งเดียวกับสามี ตามหลักศาสนาคริสต์นั่นเอง ฟังดูเหมือนจะดี แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่อนุญาตให้ภรรยายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจ หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินใดๆ ได้เลย! จะเรียกว่าภรรยาเป็นสิ่งของของสามีก็ไม่ผิดนัก
ความจริงแล้ว การเปลี่ยนไปใช้นามสกุลตามสามีไม่ใช่ข้อบังคับ แต่ที่ใช้เพราะว่าจะได้รับการคุ้มครองจากสามีต่างหาก ผู้หญิงเริ่มหยุดใช้นามสกุลตามสามีในช่วงกลางศตวรรษ 1800 เมื่อกฎหมายอเมริกันอนุญาตให้ผู้หญิงซื้อขายทรัพย์สิน และเป็นเจ้าของที่ดินได้ด้วยตนเอง และในช่วง 1970 ที่ศาลสูงของอเมริกา ยกเลิกกฎหมายที่บังคับให้ผู้หญิงต้องใช้นามสกุลสามีเพื่อเลือกตั้ง ตั้งแต่นั้นมา ผู้หญิงก็ไม่จำเป็นที่ต้องใช้นามสกุลตามสามีอีกต่อไป ยิ่งปัจจุบันที่การแต่งงานเพศเดียวกันมีมากขึ้น คนก็ไม่นิยมเปลี่ยนนามสกุลตามคู่สมรสแล้วล่ะ

ผู้หญิงได้ออกไปทำงานเพราะสงครามโลก

เป็นที่รู้กันว่าผู้หญิงสมัยก่อนนั้นอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ส่วนงานนอกบ้านนั้นสงวนไว้ให้ผู้ชายทำเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ชายต้องออกไปรบกันหมด ผู้หญิงจึงกลายเป็นกำลังสำคัญในการทำงานนอกบ้าน และหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Working Woman ยิ่งในยุค 60 สัดส่วนระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่ทำงานนอกบ้านแทบจะเท่ากันแล้ว ตั้งแต่นั้นมา ผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป

อำแดงเหมือน หญิงสยามที่ไม่ยอมตกเป็นทาสคลุมถุงชนอีกต่อไป!

กลับมาที่ฝั่งไทยกันบ้าง เมื่อพูดถึงค่านิยมของผู้หญิง ก็นึกถึงคดีของ อำแดงเหมือน หญิงสยามที่ไม่ยอมให้พ่อแม่ขายตัวเองให้ชายชื่อนายภู ทั้งที่เธอรักอยู่กับนายริด แต่ไม่ว่ายังไง พ่อแม่ของอำแดงเหมือนก็จะให้เธอแต่งกับนายภูให้ได้ อำแดงเหมือนจึงหนีไปอยู่กับนายริด จนนายภูฟ้องคดี อำแดงเหมือนก็ไม่ยอม จึงยื่นฎีกาถวายในหลวงรัชกาลที่ 4 และชนะคดีในเวลาต่อมา 
เรื่องอำแดงเหมือนกับนายริดถือเป็นคดีที่โด่งดังมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ปรากฏหลักฐานว่าผู้หญิงยื่นฎีกา ต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองจนได้รับชัยชนะ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของผู้หญิง ว่าเราไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่ หากแต่เป็นคนที่มีความคิดและจิตใจเป็นของตัวเองต่างหาก!
แม้ว่าผู้หญิงยุคใหม่จะมีสิทธิหลายอย่างเท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้นแล้ว แต่ก็มีอุปสรรคอีกหลายอย่างที่ต้องฝ่าฟัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่านิยม ความเชื่อ ต่างๆ ที่ยังด้อยค่าผู้หญิงอยู่ ฉะนั้น...เรามารู้เท่าทันค่านิยมพวกนี้ และยืนหยัดเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าให้กับผู้หญิงอย่างเรากันเถอะ!
ข้อมูลอ้างอิง
  • A brief history of women’s fight to wear pants : ​QUARTZ​​​
  • Elizabeth Smith Miller : ​Western New York Suffragists ​​​
  • ย้อนรอยการใส่กางเกงของสุภาพสตรี พลังที่เปลี่ยนโลกของพวกเธอไปตลอดกาล! : ​Vogue Thailand​​​
  • The History Behind Maiden VS. Married Names : Seattle Bride
  • Women in the workforce : ​Wikipedia​​​
  • ย้อนคดีอำแดงเหมือน เมื่อหญิงสาวลุกขึ้นสู้ ไม่ยอมถูกคลุมถุงชนให้ชายที่ตัวไม่รัก : ​ศิลปวัฒนธรรม​​​


Alice Kerdplanant

Alice Kerdplanant

Alice (she/her)

- Lipstick Lover
- Coffee Lover
- Feminist

FULL PROFILE