เมื่อ Hollywood ถูกกล่าวหาว่า Woke เกินไป

49 8



Hollywood ที่ได้เปลี่ยนโฉมไปจากอดีตได้กลายมาเป็นข้อถกเถียงอย่างไม่สิ้นสุด จากเดิมที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นวงการที่เต็มไปด้วยศิลปะที่สร้างจากรากฐานแห่ง "การเหยียด" แต่ทุกวันนี้ นักสร้างหนังหลายเจ้าได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง Political Correctness เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมของมนุษย์ที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศ ศาสนา หรือวัฒนธรรมด้านอื่นๆ

แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้กลับถูกหลายคนวิจารณ์ว่า เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อเอาใจ"ชาว woke" จนข้ามเส้นความพอดี และมันไม่ได้แสดงออกถึงความพัฒนา แต่เป็นการจำกัดความสร้างสรรค์เพราะต้องคอยหลีกเลี่ยงไม่สร้างผลงานที่อาจกระทบใจคนกล่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม รวมไปถึงการฉีกกรอบเดิมที่สวนทางกับความรู้สึกของผู้ชมจำนวนไม่น้อย


 


WOKE คืออะไร ?


woke คำที่พวกเราได้ยินมาหลายครั้งจากหลากหลายเหตุการณ์ หลายคนนำมาแปลงเป็นไทยตรงกับคำว่า "เบิกเนตร" แท้จริงแล้วมีความหมายอย่างไร ในUSA ประเทศที่ได้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมาใช้


woke เป็นคำที่มีนัยยะเกี่ยวข้อโดยตรงในการแสดงออกทางการเมือง เมื่อผู้คนได้ตระหนักรู้และให้ความสนใจต่อปัญหาที่กระทบถึงความเป็นธรรมทางสังคมที่เกิดจากความไม่เท่าเทียม ในปัจจุบัน หลายฝ่ายในสังคมในมอง woke ว่าเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่มีความคิดทางการเมืองฝ่ายเสรีนิยม มันถูกนำมาใช้แทนเครื่องหมายการต่อต้านการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ การเหยียดเพศทางเลือกและความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ woke ยังสนับสนุนสิทธิสตรีและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเคลื่อนไหวแบบ woke ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ internet ที่ถูกตั้งฉายาให้ว่า social justice warrior ที่คอยแสดงความเห็นอย่างเผ็ดร้อนรุนแรงเมื่อพบกับสิ่งที่เชื่อว่าไม่เป็นธรรม


นักวิจารณ์จากสื่อชื่อดังจำนวนมากได้ตั้งข้อสังเกตว่า วัฒนธรรม woke ได้เปลี่ยนเส้นทางของวงการ Hollywood อย่างมากมาย สิ่งที่เคยมีการยอมรับอย่างแพร่หลาย ก็อาจจะกลายเป็นผู้ร้าย รวมไปถึงการคิดนอกกรอบที่สร้างความประหลาดใจให้กับสังคม

ดังกรณี

นักแสดง straight จะต้องเจอกับกระแสกดดันเมื่อรับบทบาทเป็นเพศทางเลือก

หากนักแสดงที่มีร่างกายปกติรับบทผู้พิการก็ถูกวิจารณ์ไม่แพ้กัน

casting ตัวละครที่ผู้คนรับรู้มาแต่ไหนแต่ไรว่าเป็นคนผิวขาวให้กับนักแสดงผิวสี


สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณบ่งบอกว่า Hollywood มีความ woke มากเกินไปจริงหรือ ?


มาติดตามกันค่ะ







Bryan Cranston ถูกโจมตีเมื่อรับบทผู้พิการ


หนังที่มีจุดขายจากมิตรภาพของหนุ่มผิวดำกับชายแก่ที่นั่งรถเข็นจากอาการอัมพาตจ้องตกเป็นประเด็นร้อน เมื่อพระเอกสูงวัยถูกโจมตีว่าไม่ควรรับบทนี้เพราะในชีวิตจริงมีสภาพร่างกายปกติ  และนักสร้างหนังควรคัดเลือกนักแสดงพิการมารับบทนี้ ไม่ใช่พระเอกที่ร่ำรวยมีชื่อเสียงและไม่ได้พิการส่วนใด
CNN ได้เผยแพร่บทความจาก Melissa Blake  นักเขียนอิสระที่มีสภาวะความพิการเพื่อชี้ว่า  ผู้พิการควรได้รับโอกาสให้เข้าถึงบทบาทการแสดงหนัง  เพราะแม้ว่านักแสดงจะเก่งกาจเพียงใด หากไม่ได้มีสภาวะพิการก็จะขาดความสมจริง   และการแสดงก็เป็นงานเพียงชั่วครั้งชั่วคราว  นักแสดงอาจจะทุ่มเทเพื่อฝึกนั่งวีลแชร์เป็นเดือนๆ  แต่เมื่อหนังจบแล้วก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการอีกต่อไป    รวมถึงผู้พิการบางส่วนที่เชื่อมั่นว่า  นี่คือการแย่งชิงโอกาสไปจากผู้พิการตัวจริง  ทั้งๆที่พวกเค้ามีความหวังริบหรีในการทำงานในวงการแสดง  และไม่สามารถรับบทเป็นคนที่มีร่างกายปกติได้  


พระเอกหนุ่มใหญ่แห่ง Breaking Bad ได้ชี้แจงว่า

"ตัวผมเป็นชายวัยกลางคนที่มีฐานะทางการเงินดี ผมจึงโชคดีมากๆ นั่นหมายความว่าผมไม่สามารถแสดงเป็นคนที่ไม่ร่ำรวย หรือแสดงเป็นชายรักร่วมเพศก็ไม่ได้หรือครับ ?"


"เราอาศัยในโลกที่เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าเราปรารถนาจะสร้างสรรค์บางสิ่งขึ้นมา เราก็ต้องรับคำวิจารณ์ให้ได้ พวกเราทราบดีว่าควรจะต้องเปิดโอกาสให้กับปู้พิการมากขึ้น แต่ผมไม่รู้การกำหนดขอบเขตมันต้องเป็นเช่นไร ควรจะขีดเส้นแบ่งตรงไหน"




Sia ต้องพบกับกระแสกดดัน เพราะ cast นางเอกสาวทีนมารับบทผู้ที่มีอาการ autism


เมื่อพูดถึงSia  แทบทุกคนคงนึกภาพสาวน้อย Maddie Ziegler  นักเต้นพรสววรค์ที่วาดลวดลายใน video เพลง Chandelier  ที่ยังตราตรึงใจผู้ชม   ผ่านไปหลายปีแล้ว  เธอได้กลายเป็นสาวเต็มตัว  และมันไม่น่าแปลกใจที่ Sia จะผลักดันให้เธอก้าวมาสู่เส้นทางความโด่งดังอีกครั้งจากบทในโพรเจ็คท์หนังใหม่ "Music"      แต่มันกลับทำให้ศิลปินชื่อดังต้องถูกดึงเข้าไปในดราม่า "ปิดโอกาสผู้มีอาการ autism "   

นั่นเป็นเพราะว่า  Maddie ต้องสวมบทบาทเป็นสาว autistic  โดยมี Kate Hudson รับบทพี่สาว/นายหน้าค้ายา      หลังจากมีการเผยแพร่ trailer ออกมา   พวกเค้าก็ต้องพบกับกระแสตอบรับในด้านลบจากชาวเน็ทที่ยึดมั่นว่า    นักแสดงที่มีภาวะ autism จริงๆต่างหากที่สมควรจะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ตรง  ไม่ใช่ให้เด็กสาวปกติมาเลียนแบบ 


ในตอนแรก Sia ที่ทำหน้าที่เขียนบท กำกับ และโพรดิวซ์ได้ตอบโต้ด้วยความคับข้องใจว่า ก่อนที่จะวิจารณ์กันหนักๆก็ขอให้ชมผลงานของเธอก่อน แต่เมื่อกระแสโจมตียังร้อนแรงอยู่ เธอก็ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เธอทำหนัง ไม่ใช่ถ่ายสารคดี

"Kate Hudson ไม่ได้ขายยาในชีวิตจริง Leslie Odom Jr ไม่ได้มาจาก Ghana เหมือนในหนัง " และเธอได้เปิดเผยว่า พยายามดึงนักแสดงที่มีspectrumนั้นมาร่วมงานแล้วแต่พบว่า มันสร้างความตึงเครียดให้มากจนไม่สามารถไปต่อได้


   ที่ผ่านมานั้น ผลงานที่นำเสนอชีวิตของบุคคล autistic จะcast แต่นักแสดงที่ไม่มีอาการมารับบทนำ  เช่น Rain Man ,  Atypical และ  The Good Doctor  ที่เคย cast นักแสดงที่มี spectrum มาร่วมงานในฐานะนักแสดงรับเชิญ   ในขณะที่มีนักแสดงautistic และชาวเน็ทที่ประท้วงว่า นักสร้างหนังได้ปิดกั้นไม่ให้คนกลุ่มน้อยในสังคมให้ก้าวเข้ามามีตัวตนในวงการ   แต่ยังไม่มีใครบรรยายถึง"ข้อจำกัด" ได้ชัดเจนนัก   Sia เพียงแต่ระบุสั้นๆว่า  การทำงานกับผู้ที่มีอาการจริงสร้างความเครียดและไม่สบายใจ จึงต้องเรียกตัว Maddie มารับบทนี้ 



ดราม่าเงือกน้อยผิวดำ


เมื่อได้ย้อนชมผลงานที่สร้างความโด่งดังของค่าย Disney หลายคนได้ออกมาทักท้วงสิ่งที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ว่าจะเป็น

เจ้าชายที่จุมพิตสาวงามที่หลับไหล (หรือแม้กระทั่งร่างไร้วิญญาณ) โดยไม่แคร์ถึงความยินยอมพร้อมใจ แต่เมื่อเธอลืมตาตื่นขึ้นมาก็พบกับความรักเปี่ยมล้นจนต้องกระโจนสู่พิธีวิวาห์แทบจะทันใด

เจ้าหญิงเงือกที่สามารถทิ้งทุกอย่างที่มีคุณค่าในชีวิตเพื่อไปพบกับผู้ชายที่ไม่รู้จัก

ไม่ว่าจะมีปัญหาร้ายแรงเพียงใด เจ้าหญิงที่เป็นเพียงเด็กสาววัยทีนก็จะพบกับความสุขได้หากมีรักแท้กับเจ้าชายผู้หล่อเหลา


เนื้อเพลงและตัวการ์ตูนที่สื่อถึงการเหยียดเชื้อชาติ จนบางเรื่องต้องปรับเปลี่ยนเนื้อเพลงเพราะถูกประท้วง


เรื่องราวนี้ทำให้ Disney ถูกโจมตีจากการนำเสนอภาพผลงานที่แฝงไปด้วยแนวคิดที่น่าคลางแคลงใจ และเชื่อว่า นี่คือการชี้นำเด็กๆให้ยึดติดกับเปลือกนอกที่ฉาบฉวย มิใช่การพัฒนาตัวเอง ผลงานของ Disney ในยุคหลังจึงได้ก้าวออกจากสูตรสำเร็จเดิมๆ พวกเค้าได้สร้าง Frozen ที่ทำเงินมหาศาลทั้งสองภาค จากบทของเจ้าหญิงผู้เก่งกล้าพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ได้หมกมุ่นกับแนวคิดของการตกหลุมรัก และยังเสียดสีเจ้าหญิงแบบเดิมๆที่เพ้อฝันว่าจะได้มีรักแท้กับผู้ชายที่เพิ่งพบหน้าจนทำให้เกิดเรื่องราวร้ายแรงตามมา หรือจะเป็นเจ้าหญิง Jasmine แห่ง Aladdin ใน live action ที่พยายามต่อสู้เพื่อให้คนรอบข้างรับฟัง ไม่ยอมแพ้กับธรรมเนียมดั้งเดิมที่ละเมิดตัวตนของเธอ

ภาพของ Disney ยุคโมเดิร์นทำให้แฟนๆจำนวนมากชื่นชมและเชื่อมั่นว่าจะได้พบกับผลงานคุณภาพเรื่องใหม่ที่ชมแล้วไม่สะดุดใจ

แต่การประกาศ casting นักแสดงนำ Little Mermaid Live Action กลับสร้างเสียงโต้แย้งในกลุ่มแฟนๆ ตามมาด้วยคำถามว่า woke เกินไปไหม ?


ผู้ยืนคำร้องต่อ change.org เพื่อถอด Halle Bailey ออกจากบทนางเอก Little Mermaid ได้ระบุว่า


- แฟนๆต่างสนับสนุนความหลากหลายทางเชื้อชาติ และแน่ใจว่า Hailey สามารถแสดงและร้องเพลงได้ดี แต่สิ่งที่ทำให้ Ariel เป็นตำนานคือผมสีแดง เหตุใดจึงต้องพรากภาพนี้ไปจากแฟนๆ

- ในเมื่อบทเจ้าหญิง Jasmine ใน live actionก็ยังต้องเลือกนางเอกที่มีลุคเหมือนกับคนตะวันออกกลาง และผู้ที่พากย์เสียงสิงโตใน The Lion King ยังต้องเป็นนักแสดงผิวดำ เหตุใดจึงไม่ให้ Ariel คงภาพของสาวผิวขาว ตาสีฟ้า และผมสีแดงไว้


- มันไม่ใช่การกีดกันทางเชื้อชาติ ดังตัวอย่างใน Mulan ที่นางเอกเป็นสาวเอเชียนผมตาสีเข้ม แฟนๆต่างก็ภาคภูมิใจใน Ariel ที่เป็นเจ้าหญิงผิวขาวผมแดง มันไม่มีสิ่งใดที่น่าอับอาย หากต้องการสร้าง live action ที่มีเจ้าหญิงผิวดำ บทจากPrincess and The Frog ย่อมจะเหมาะกับHailey มากกว่า



เรื่องนี้ทำให้พวกเรานึกถึงดราม่าเมื่อ Naomi Scott คว้าบทเจ้าหญิง Jasmine    แต่ความโกรธเกรี้ยวของแฟนๆ Aladdin ที่กล่าวหาว่า Jasmine ดูเป็นฝรั่งผิวขาวมากเกินกลับจางหายไปหลังจากหนังทำเงินไปถึงพันล้านเหรียญ     สำหรับ Little Mermaid   ความไม่พอใจของแฟนจำนวนหนึ่งก็ทำให้เกิด trending    #NotMyAriel  (หลังจากที่เคยมี #NotMyJasmine มาแล้วเช่นกัน)   เพื่อประท้วงการตัดสินใจของฝ่าย casting    หลายคนยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเหยียดผิว   เพียงแค่เรียกร้องให้ผู้สร้างได้เคารพต้นฉบับเดิมที่สร้างความประทับใจให้คนทั่วโลกมาแล้วเพียงเท่านั้น    บางคนถึงกับประกาศว่า จะบอยคอต live action เรื่องนี้   เพราะไม่สามารถทำใจยอมรับ Ariel ที่แตกต่างไปจากภาพในดวงใจได้


ความสำเร็จของ Aladdin อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งทียังมีคนอีกมากที่ไม่ได้ต่อต้าน casting ที่ฉีกออกไปจากตัวละครต้นฉบับที่เป็น animation แต่เก็บไว้ตัดสินใจจากผลงานอีกที รวมไปถึงแฟนๆอีกมากที่เชียร์เงือกน้อยผิวดำอย่างเต็มที่ หนังเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จรึเปล่า คงต้องอดใจรอติดตามเท่านั้น

 

บท Anne Boleyn ผิวดำที่ทำให้ชาวเน็ทวิจารณ์สนั่นหวั่นไหว

Little Mermaid เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นมาจากจินตนาการ  ทำให้หลายคนไม่คิดยึดติดเมื่อผู้สร้างต้องการใช้นักแสดงที่ไม่รูปลักษณ์ไม่ตรงกับภาพจากผลงานที่เคยสร้างชื่อเสียงมาก่อนหน้า     แต่เมื่อเป็นบทที่สร้างมาจากบุคคลที่มีตัวตนจริง   การเปลี่ยน  race ตัวละครไม่ให้พนัยได้เลยว่าดราม่าต้องตามมาแน่นอน!

Anne Boleyn  พระมเหสีคนที่ 2 ของสมเด็จพระเจ้าHenryที่ 8 และยังเป็นพระมารดาของสมเด็จพระราชินีElizabeth ที่ 1 คือบุคคลที่มีชื่อเสียงจากประวัติศาสตร์  และได้นำเรื่องราวของเธอมาสร้างเป็นผลงานทาง TV และภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง


จากลูกสาวท่านทูตอังกฤษที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์ Tudor กลายมาเป็นมเหสีของกษัตริย์ผู้มีอิทธิพลแผ่ไพศาล แน่นอนว่า Anne Boleyn ผู้ถือกำเนิดจากตระกูลชนชั้นสูงมีผิวขาวโดยไม่ต้องพลิกแพลงตีความ เมื่อมีการประกาศตัวนักแสดงซีรีส์แนว thriller จากการสร้างของ Channel 5 ว่า Jodie Turner-Smith จะเป็นผู้มาสวมบทบาทมเหสีผู้โด่งดังที่ถูกสมเด็จพระเจ้าHenryที่ 8 สั่งประหาร ก็ทำให้ชาวเน็ทเกิดความสับสน หลายคนโจมตีว่าเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างไร้เหตุผล

มีรายงานว่า ผู้สร้างซีรีส์จะมุ่งนำเสนอช่วงสุดท้ายของชีวิต Anne Boleyn ที่ต้องกระเสือกกระสนเพื่อความอยู่รอดในโลกของชายเป็นใหญ่  ด้วยการท้าทายแนวคิดเดิมๆของผู้คนที่มีต่อราชินีคนนี้ และยังถ่ายทอดแนวคิดของสิทธิสตรีจากเรื่องราวชีวิตของเธอ


แต่นั่นก็ทำให้ชาวเน็ทจำนวนมากค้างคาใจว่า ความพยายามที่จะท้าทายนี่ต้องไปไกลถึงขนาดที่ต้องเลือกนักแสดงผิวดำมารับเล่นเป็นราชินีผิวขาวเชียวหรือ ?



หลังจากที่สื่อได้เปิดเผยภาพของ Jodie Turner-Smith ในลุคของ Anne Boleyn ปฏิกิริยาของชาวเน็ทยิ่งดุเดือดขึ้น หลายคนชี้ว่า นี่คือความสองมาตรฐานของเหล่า social justice warrior เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีภาพคนดังแต่งตัวหรือทำผมเหมือนกับคนดำก็ต้องพบกับการแดกดันว่าเป็นพวกฉกฉวยทางวัฒนธรรม แต่กลับนิ่งเฉยกับเรื่องนางเอกผิวดำที่รับบทราชินีผิวขาวแห่งอังกฤษ แต่ผู้กำกับซีรีส์ไม่ได้หวั่นไหวไปกับกระแสต่อต้าน เขาประกาศว่า นี่คือนางเอกที่ดีที่สุดสำหรับบท Anne Bloleyn แม้เขาจะรู้ดีว่านี่คือผลงานที่ทำให้คนมากมายไม่ชอบใจ แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะต้องมีคนที่ปลาบปลื้มกับซีรีส์เรื่องนี้






 Charlie’s Angels  ที่ถูกนักวิจารณ์สับเละว่ายัดเยียดความ woke จนล้มเหลว


นี่คือผลงานที่ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะต้องพังไม่เป็นท่าตั้งแต่ปล่อย trailer ออกมา   ยิ่งได้ชมหนังตัวเต็ม  ทั้งนักวิจารณ์และคนทั่วไปต่างเห็นพ้องต้องกันว่า   นี่คือหนังที่ยัดเยียดความคิดแบบ woke จนทำให้สูญเสียความน่าสนใจ    ทั้งๆที่มีผลงานที่เชิดชูสิทธิสตรีอีกหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ    แต่นักวิจารณ์หลายคนฟันฉับว่า  Charlie's Angels คือหนังaction ที่เต็มไปด้วยการ "ฉอด"  ใส่ผู้ชายที่ขาดศิลปะ แม้กระทั่งผู้หญิงที่เป็นกลุ่มคนดูเป้าหมายยังรู้สึกไม่อิน
นอกเหนือจากความเสี่ยงในการ reboot หนังที่เคยประสบความสำเร็จ   Charlie's Angels  เวอร์ชั่นล่าสุดต้องเสียสูญเรื่องรายได้และยังพบกับเสียงเยาะเย้ยว่าเป็นการโชว์ภาพของสิทธิสตรีที่มีแค่เปลือก บทที่ไม่มีมิติน่าติดตาม อารมณ์ขันฝืด คำพูดย้ำซ้ำๆว่าผู้ชายนั่นแย่แค่ไหน  การดึงตัว Kristen Stewart มาเป็นดารานำดึงดูดความสนใจในบทที่มีความเป็น comedy ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

Elizabeth Banks ที่ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ เขียนบทและแสดงนำได้โทษว่า หนังไม่สามารถทำเงินได้เพราะปัญหาการเหยียดเพศหญิง

"ผู้ชายไม่ยอมดูหนัง action ที่ผู้หญิงทำ"


"พวกเค้าตีตั๋วไปชมหนังที่สร้างจาก comic อย่าง Wonder Womanและ Captain Marvel เพราะเป็นหนังแนวผู้ชาย แม้ว่าหนังสองเรื่องนี้จะเกี่ยวกับผู้หญิง แต่ก็สร้างขึ้นมาเพื่อต่อยอดในหนังจาก comic เรื่องอื่น ใช่ คุณอาจจะได้ดูWonder Woman แต่เค้ากำลังเตรียมอีกสามตัวละครให้พร้อมในเรื่องต่อไป หรือว่ไม่ก็เตรียมถ่าย Justice League”


( ผุ้กำกับ Wonder Woman เป็นผู้หญิง ส่วน Captain Marvel หนึ่งในสองผู้กำกับก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน )


มาถึงตอนนี้ คุณอาจจะนึกสงสัยว่า  ผู้ชมมักจะต่อต้านหนังที่เชิดชูสิทธิสตรีจริงหรือ ?   แต่เมื่อได้เห็นความสำเร็จของ Hidden Figures  หรือซีรีส์ Queen of Gambit  ที่ทั้งสร้างรายได้และเสียงชื่นชมมากมายว่าได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนคำนึงถึงความสำคัญในความเท่าเทียม ด้วยบทที่คมคายน่าเชื่อ     แต่สำหรับ Charlie's Angels      เมื่อ Kristen Stewart ได้ยอมรับว่านี่คือหนัง woke   คนดูบางกลุ่มก็เริ่มจะไม่อยากดูซะแล้ว


ในช่วงที่มีสัญญาณชัดเจนว่าหนังของ Elizabeth ไม่สามารถทำรายได้กระเตื้องขึ้นมาให้คุ้มทุน เธอได้เรียกร้องผู้คนได้มาสนับสนุนผลงานที่ผู้หญิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้ที่เพื่อเป็นอำนาจต่อรองให้กับผู้หญิงให้สร้างสรรค์ผลงานต่อไป แต่หนังเรื่องนี้ไม่สามารถ connect กับความรู้สึกของคนดู แม้จะเป็นกลุ่มผู้หญิงที่เป็นเป้าหมาย ภาพ spy เก่งฉกาจที่เริ่มต้นหนังด้วยประโยค " ฉันว่าผู้หญิงสามารถทำได้ทุกอย่าง" และคว่ำผู้ชายตัวร้ายด้วยการเตะหว่างชากลายเป็นความซ้ำซาก เมื่อได้เปรียบเทียบกับหนัง action เรื่องอื่นที่ประสบความสำเร็จจากจุดขายเรื่อง girl power ก็จะพบได้ว่าปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่คนดู แต่เป็นความสามารถในถ่ายทอดใจความของหนังให้เข้าถึงต่างหาก




วงการ comedy ถึงคราวสะดุดหรือไม่ ?

ผู้กำกับหนัง comedy ชื่อดัง Todd Phillips ที่หันมาทำหนังสุด dark ได้เปิดเผยที่มาในเปลี่ยนแนวการสร้างผลงาน จากที่เคยสร้างชื่อจาก Hangover ก็ฉีกแนวมาประสบความสำเร็จด้วย Joker เขายอมรับตรงๆว่า

"ลองเล่นมุกตลกท่ามกลางวัฒนธรรม woke ดูสิครับ มีคนเขียนบบทความมาแล้วหลายอันว่า เพราะอะไรหนังตลกจึงอยู่ไม่ได้แล้ว ผมจะบอกเหตุผลให้ นั่นเป็นเพราะว่าซิลปินตลกทั้งหลายต่างก็รู้สึกว่า เลิกดีกว่า เพราะว่าพูดอะไรไปก็กระทบจิตใจคนอื่นไปหมด"


"การโต้เถียงกับชาว Twitter 30 ล้านคนมันก็ลำบากนะครับ ไม่ไหวใช่มั้ย ก็เลยต้องเลิกทำมันซะเลย ซึ่งแนวทางความตลกในแบบของผมน่ะ มันไม่ได้ยึดติดกับการให้ความนับถือคนอื่นสักเท่าไร ผมก็มาคิดว่าจะทำผลงานแบบไหนดีที่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ แต่ไม่ใช่comedy ผมก็ได้มาทำหนังที่สร้างจากจักรวาล comic แล้วก็ใส่ให้แรงๆไว้ นี่แหละที่มาของผม"


เรื่องนี้สอดคล้องกับคำบอกเล่าจากนักแสดงตลกชั้นนำอีกหลายคน หากคุณเคยติดตามชมเดี่ยวไม่โครโฟนของ Dave Chappelle Bill Burr และ Ricky Gervais จะพบว่าพวกเขาได้นำประเด็นของวัฒนธรรม woke มาเสียดสีด้วยมุกตลกแรงๆ พวกเค้าเหล่านี้ถูกโจมตีว่าเล่นมุกตลกเหยียดคนอื่นมาแล้วมากมายหลายครั้ง

 


ในทางกลับกัน นักแสดงตลกรุ่นใหม่ที่แสดงจุดยืน woke เต็มตัวก็ได้ก้าวเข้ามาสร้างชื่อเสียงในวงการนี้ หนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Lily Singh ที่โด่งดังจากบทบาท Youtuber และ Influencer ที่ส่ง content โดนใจวัยรุ่น ความนิยมในตัวเธอพุ่งสูงจนได้รับข้อเสนอจาก NBC ให้จัดรายการ talk show ในช่วง prime time เธอได้แสดงความตื่นเต้นยินดีที่จะได้ใช้พื้นที่ทาง TV เพื่อเป็นตัวแทนชุมชน immigrant เพื่อพูดถึงปัญหาต่างๆในสังคมไปพร้อมกับความบันเทิง


Youtuber บางคนได้ยอมรับว่า ได้มอง Lily เป็นแบบอย่างแห่งความสำเร็จ การก้าวจาก internet ไปยัง TV ไม่ใช่เรื่องที่เกิดได้บ่อยครั้ง แฟนๆได้คาดหวังว่า เธอจะกลายเป็นพิธีกรดังเหมือนกับTrevor Noah หนุ่มลูกครึ่งจากSouth Africa ที่สร้างความสำเร็จไปอย่างสวยงามด้วยภาพของศิลปินตลกสุด woke ไปแล้ว


แต่ทว่า...


แม้ทุกครั้งที่เธอยิงมุก ผู้ชมในห้องส่งจะระเบิดเสียงหัวเราะ  แต่ผู้ชมทางบ้านจำนวนมากได้วิจารณ์อย่างไม่ไว้หน้าว่า   บทพูดที่ดูตระเตรียมมาสร้างความขำขันอย่างตั้งใจนั้นฟังแล้วเฉยมาก   แม้จะไม่ได้เป็น hater แต่ก็ไม่สามารถฝืนใจติดตามต่อไปได้    และยังตั้งข้อสังเกตว่า คะแนนของผู้ชมจากเว็บมะเขือเน่าช่างสวนทางกับคะแนนของนักวิจารณ์     รวมถึง reaction video บน  Youtube หลายอันที่บรรยายยืดยาวว่ามุกตลกของเธอมันไม่ขำเพียงใด   แต่รายการของเธอก็ดึงเรตติ้งได้ดีพอจนได้ไปต่อ season 2
Woke จริงหรือแค่สร้างภาพ ?

เมื่อต้นปีนี้ Ricky Gervais ได้เรียกทั้งเสียงหัวเราะและสีหน้าอันตกตะลึงจากเหล่าผู้ชมที่นั่งในงานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำ เพราะเขาไม่ได้เพียงแต่จิกกัดคนดังแบบหอมปากหอมคอ แต่เป็นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการแล่เนื้อเถือหนังด้วยคำพูดเลยทีเดียว โดยเฉพาะประเด็นความ woke ของคนในวงการที่เขามั่นใจว่า

" Apple เปิดตัวซีรีส์ The Morning Show ซึ่งเป็นสุดยอดดราม่าที่นำเสนอความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นคนและการทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็เป็นบริษัทเดียวกันนี่แหละที่บริหารโรงงานนรกที่เมืองจีน"


" เพราะฉะนั้น ถึงคุณจะบอกว่าตัวเอง woke แต่ถ้านี่เป็นบริษัทที่คุณทำงานให้ Apple, Amazon, Disney นะ ถ้า ISIS สร้างธุรกิจ streaming service คุณคงไม่พลาดโทรหาตัวแทนให้ติดต่อพวกเค้าเหมือนกัน"







คุณอยู่ในกลุ่มผู้สนับสนุนหรือเอือมกับวัฒนธรรม woke ?


ลองแชร์ความเห็นกันได้ค่ะ




The End


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE