แชร์ประสบการณ์ตั้งครรภ์และคลอดลูกที่ญี่ปุ่น

68 25

?สวัสดีวันแม่นะคะ วันนี้ตั้งกระทู้ตรงกับวันแม่ที่ 12/8/2562 พอดี ^_^

เลยขอเกาะกระแสวันแม่ตีแผ่แชร์ประสบการณ์

การตั้งครรภ์และคลอดลูกในประเทศญี่ปุ่น??

รับรองว่าครอบคลุมทุกสิ่งที่คนท้องควรทราบ

สำหรับใครที่ไม่ท้องอย่าเพิ่งปิดกระทู้หนีนะคะ เพราะจินนี่จะแชร์สวัสดิการ และชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ตั้งครรภ์ที่อาศัยในญี่ปุ่นให้ด้วยค่า

สัญญาณบ่งบอกว่า “กำลังตั้งครรภ์”

อาการคนท้องจะไม่เหมือนกันทุกคนนะคะ อย่างกรณีของจินนี่ไม่ค่อยแพ้ท้อง สัญญาณการตั้งครรภ์ของจินนี่ มีดังนี้ค่ะ

  1. ประจำเดือนขาด ปกติแล้วจะมีประจำเดือนมาปกติและมาใกล้เคียงกันทุกเดือน แต่ประจำเดือนเกิดขาดหายไปเกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งค่อนข้างผิดปกติ

  2. การเปลี่ยนแปลงของเต้านม ปกติเวลาใกล้มีประจำเดือนจะมีอาการคัดตึงเต้านมเล็กน้อย กรณีตั้งครรภ์นั้นเต้านมจะขยายใหญ่มากขึ้น คัดตึงมากและหัวนมมีสีคล้ำขึ้น

  3. จมูกไว เหม็นง่าย พาลอาเจียน กรณีนี้เกิดขึ้นตอนที่ไปทานเนื้อย่างค่ะ ทานไม่ได้ เหม็นเนื้อ อาเจียนออกมาเลย

จากสัญญาณหลายอย่าง จินนี่ซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาตรวจเองก่อนค่ะ ผลออกมาขึ้น 2 ขีด

บอกว่าเรากำลังตั้งครรภ์!!


คลอดลูกในประเทศญี่ปุ่น “ต้องแจ้งตั้งครรภ์”

พอย้ายมาอยู่ประเทศญี่ปุ่นได้ 3 เดือน ก็พบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ขณะนั้นจินนี่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่น ส่วนสามีทำงานเสียภาษี และจ่ายค่าประกันครอบคลุมของจินนี่ด้วย ฉะนั้นเรามีสิทธิได้รับสวัสดิการจากการคลอดลูกที่ญี่ปุ่นเต็มๆ เท่ากับคนญี่ปุ่นเลยค่ะ เพียงแต่ลูกจะได้เฉพาะสัญชาติไทยไม่ได้สัญชาติญีปุ่นด้วย เพราะพ่อแม่เป็นคนไทยทั้งคู่

__________

เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆของการตั้งครรภ์ในญี่ปุ่น สิ่งที่ต้องทำคือ ตรวจพบแพทย์เพื่อเอาผลตรวจยืนยันว่ากำลังตั้งครรภ์ไปแจ้งที่ Health Center ประจำอำเภอ (ใครที่ภาษาญี่ปุ่นยังไม่แข็งแรงแนะนำให้พาเพื่อนคนญี่ปุ่นไปด้วยนะคะ) กรอกข้อมูลเอกสารต่างๆกับเจ้าหน้าที่ให้ครบถ้วน จากนั้นทางศูนย์สุขภาพจะให้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก Mother and Child Health Handbook 1 เล่ม สมุดฉีกคูปองสำหรับตรวจครรภ์ฟรี และพวงกุญแจสัญลักษณ์ว่าเรากำลังตั้งครรภ์สำหรับติดกระเป๋าให้คนทั่วไปรับทราบค่ะ

ขั้นตอน “การฝากครรภ์”

ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด จินนี่ตัดสินใจเลือก Keiai Hospital ซึ่งเป็น ร.พ. ญี่ปุ่นเปิดเฉพาะทางสำหรับแม่และเด็กอยู่ที่ Fujimi, Saitama เดินทางค่อนข้างสะดวกไม่ไกลจากบ้าน นั่งรถไฟประมาณ 10 นาที และคุณหมอพูดภาษาอังกฤษได้ค่ะ

__________
✅การฝากครรภ์ครั้งแรก จะซักประวัติ ชั่งน้ำหนักส่วนสูง ตรวจปัสสาวะเพื่อดูน้ำตาลและโปรตีน วัดความดันโลหิต ตรวจเลือดดูระดับความเข้มของเลือด กรุ๊ปเลือด พร้อมตรวจหาโรคอื่นๆ และตรวจภายใน

การตรวจอัลตราซาวด์

จินนี่เอาใช้ผลตรวจอัลตราซาวด์ ไปใช้แจ้งสิทธิที่อำเภอ หลังจากอายุครรภ์ประมาณ 26 สัปดาห์ คุณหมอก็เริ่มตรวจอัลตราซาวด์อีกครั้ง เพื่อระบุเพศของลูก และตรวจพบความผิดปกติของทารกในครรภ์ ค่าตรวจอัลตร้าซาวด์แบบธรรมดาฟรีค่ะ แต่ถ้าอยากอัลตราซาวด์แบบ 4 มิติ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ประมาณ 8,000 เยนค่ะ ​​

การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์

จินนี่พักผ่อนมากๆ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ทานให้บ่อยขึ้นโดยเพิ่มมื้ออาหารว่างนอกเหนือจากการรับประทานอาหารมื้อหลัก ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ ไม่แบกของหนัก พออายุครรภ์มากขึ้น เท้าจะบวม เลือกรองเท้าที่ใส่สบายหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง ตอนท้องได้สัก 3 เดือน จินนี่จะทาน้ำมันป้องกันท้องแตกลาย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผิวระหว่างตั้งครรภ์ ตอนจินนี่อยู่ที่ญี่ปุ่นใช้ Weleda Stretch Mark Massage Oil น้ำมันออแกนิคจากเยอรมัน ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดรอยแตกลายบริเวณหน้าท้อง ทาทั้งในตอนเช้าและเย็น พอท้องโตมากก็ทาบ่อยขึ้น ซึ่งเห็นผลจริงๆค่ะ ท้องไม่ลายเลย​​

เตรียมตัวคลอดลูก

ทางโรงพยาบาล Keiai Hospital จะนัดอบรมก่อนคลอดค่ะ เพื่อแนะนำของใช้จำเป็นที่ต้องเตรียมในวันคลอด ของใช้ที่จำเป็นคือ กางเกงใน (แนะนำให้เลือกแบบแปะ ที่คุณหมอสามารถเปิดดูแผลฝีเย็บที่ช่องคลอดเราได้ง่าย) เสื้อชั้นในให้นมลูก ผ้าอนามันแบบหนา แผ่นซับน้ำนม ครีมทาหัวนมแตก น้ำมันป้องกันท้องลาย น้ำมันกระตุ้นน้ำนม เครื่องปั๊มนม (ถ้ามี) 

ครั้งแรกในชีวิตกับ “การคลอดลูก” ที่ญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่นการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะได้คลอดที่โรงพยาบาลนะคะ จะต้องจองคิวก่อน ปกติแล้วเค้าให้จองล่วงหน้ากัน 3 เดือนค่ะ

__________

การคลอดที่ญี่ปุ่นนั้นจะขึ้นกับดุลยพินิจของหมอเท่านั้นซึ่งส่วนใหญ่จะคลอดธรรมชาติ และจินนี่แจ้งหมอว่า ขอฉีดยาชาแบบบล็อคหลังด้วย

เมื่อช่วงอายุครรภ์ 39 สัปดาห์ จินนี่ยังไม่มีอาการเจ็บท้อง หมอจึงทำชักนำการคลอดเพราะหมอประจำโรงพยาบาลที่ฉีดยาชาจะหยุดเสาร์อาทิตย์ T^T

คลอดวันที่หมอกำหนดไว้ ไม่มีฤกษ์ยามอะไร

__________

ก่อนกำหนดวันคลอด 1 วัน หมอใส่บอลลูนเพื่อถ่างขยายปากมดลูกและให้นอนพักที่โรงพยาบาล เช้าวันรุ่งขึ้นเปลี่ยนชุดและกางเกงในที่โรงพยาบาลเตรียมให้ เดินไปห้องคลอด ไปแบบหน้าสดห้ามแต่งหน้า

เริ่มเตรียมคลอด พยาบาลจะจัดยาให้ถ่ายให้เสร็จ ห้ามทานอะไร ใส่น้ำเกลือ

นอนรอในห้องคลอดจนมดลูกบีบรัด (เจ็บมากกกก) หมอถึงจะมาฉีดยาชาบล็อคหลัง การคลอดลูกทีญี่ปุ่นห้ามเบ่งเสียงร้อง ต้องไม่ส่งเสียงดังนะคะ คลอดเสร็จนอนพักในห้องคลอดประมาณ 1 ชั่วโมง พยาบาลก็จะมาปลุกให้เราเดินไปห้องพักฟื้นเอง

ฟินสุดๆที่ Keiai Hospital

หลังจากคลอดเสร็จ ใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาล 5 วันค่ะ Keiai Hospital เป็นโรงพยาบาลที่ดีมาก เค้าจะมีกิจกรรมและกำหนดเวลาให้ทุกคนปฏิบัติตาม เวลาทานข้าวจะมีเสียงตามสายเรียก เราก็เดินไปที่ห้องอาหาร เค้าจะให้เชฟทำอาหารตามเมนูประจำวันบำรุงหลังคลอดเสิร์ฟให้ทุกมื้อ มีคนเล่นเปียโนให้ฟัง ฟินมากก ช่วงแรกถ้าใครยังเจ็บฝีเย็บที่ช่องคลอด เค้าจะมีหมอนรองก้นให้ด้วย และคุณแม่สามารถใช้สิทธิเชิญญาติมาทานอาหารได้ 3 มื้อค่ะ

ทางโรงพยาบาลจะอนุญาตให้คนภายนอกมาเยี่ยมได้ไม่เกิน 4 คน ต้องลงชื่อแลกบัตรทุกครั้ง หากต้องการพักที่โรงยาบาลต้องทำเรื่องขอพักวันต่อวัน ทางโรงพยาบาลจะมาจัดเตียง แจกชุดนอน และของใช้

__________

โรงพยาบาลจะเตรียมของขวัญและของใช้สำหรับเด็กทารกให้ด้วย เราไม่ต้องเตรียมอะไรเลย เพราะทางโรงพยาบาลจะอบรมคุณแม่มือใหม่ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ของเหล่านั้น นอกจากนี้เค้ามีคอร์สสปานวดหน้า นวดฝ่าเท้า และทำผมสวยๆ ให้คุณแม่วันที่ออกจากโรงพยาบาลด้วยค่ะ

ค่าใช้จ่ายสำหรับการตั้งครรภ์และคลอดลูกที่ญี่ปุ่น

เวลาไปโรงพยาบาลทุกครั้งต้องยื่นบัตรประกันสังคมและคูปอง ซึ่งค่อนข้างครอบคลุม
ไม่เสียค่าใช้จ่าย และค่าคลอดที่ญี่ปุ่นสามารถเบิกจากรัฐได้ 420,000 เยน และเบิกจากประกันสังคมได้ประมาณ 80,000 เยน ค่ะ

__________

แต่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการคลอดของจินนี่ประมาณ 800,000 เยนค่ะ (ออกส่วนต่างเอง 300,000 เยน) จริงๆค่าคลอดปกติและค่าห้องพักส่วนตัวก็ประมาณ 585,500 เยน ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกินมา คือ ค่าฉีดยาชาบล็อคหลัง 2 เข็ม เข็มละ 16,000 เยน ค่าทำบอลลูน ค่าห้องวันก่อนคลอด และค่าทำเอกสารขอลายเซ็นหมอเพิ่มอีก 1 ชุดค่ะ ซึ่งถ้าเรากลับมาคลอดที่ทางโรงพยาบาลอีกเค้าจะให้สิทธิลดราคา 20,000 เยน นอกจากนี้ในทุกปีทางโรงพยาบาลก็จะส่งของขวัญวันเกิดมาให้ลูกด้วยค่า ^_^

สุดท้ายหลังคลอดออกจากโรงพยาบาล ต้องไปแจ้งเกิดลูกที่อำเภอ ติดต่อทำเอกสารที่สถานทูตไทย ทางอำเภอที่ญี่ปุ่นจะส่งคนนัดพบที่บ้าน เพื่อสอบถามสุขภาพจิตและแนะนำการเลี้ยงดูบุตร พร้อมเก็บข้อมูลน้ำหนัก และส่วนสูงของเด็กค่ะ โดยทาง ร.พ. ก็จะมีนัดตรวจแม่และเด็กหลังคลอด 1 เดือนเช่นกัน

__________

จบแล้วค่ะประสบการณ์คลอดลูกที่ญี่ปุ่นของจินนี่ ซึ่งผ่านมาร่วม 4 ปีแล้ว ผิดพลาดประการใดต้องขออภัยนะคะ ใครมีอะไรแนะนำเพิ่มเติมสามารถเขียนในคอมเมนต์ด้านล่างเลยค่ะ

__________

ใครอยากติดตามจินนี่ สามารถเข้าไปได้ที่ FB & IG @jinnysista ได้เลยค่ะ

จินนี่ทำเพจรีวิว แชร์เรื่องกิน เที่ยว เมคอัพ สกินแคร์ และไลฟ์สไตล์ชีวิตในต่างประเทศค่า

ขอจบกระทู้เพียงเท่านี้ ขอบคุณที่อ่านจนจบนะคะ

Bye!!


jinnysista

jinnysista

ชื่อเล่น “จินนี่”
แม่บ้านอาศัยอยู่ที่ประเทศเดนมาร์กค่ะ
เขียนรีวิวเป็นงานอดิเรก แชร์เรื่องกิน เที่ยว เมคอัพ สกินแคร์ และไลฟ์สไตล์ของตนเอง รวมทั้งการใช้ชีวิตในต่างประเทศค่า

FULL PROFILE