ด้านมืดของเทศกาลหนังเมือง Cannes ที่คุณอาจจะยังไม่รู้

79 15

เมืองตากอากาศอันงดงาม  พรมแดงที่เต็มไปด้วยซุปตาร์ระดับโลก เครื่องเพชรส่องประกายวูบวาบ party บนเรือที่มีอาหารเลิศรสและเครื่องดื่มไม่อั้น ฟังยังไง..เทศกาลหนังเมือง Cannes ก็ดูเย้ายวนใจชวนให้ใฝ่ฝันจะได้ไปสัมผัสสักครั้ง  แอบอิจฉาที่ได้ไปร่วมงานนี้จัง


แต่เบื้องหลังภาพหรูเริ่ดนี้ก็ยังมีด้านมืดที่คนในกระซิบมาว่า  อย่าอิจฉาไปเลย...



เป็นเพราะอะไรกันนะ ?



นี่คือตลาดค้าน้ำกามของโสเภณีชั้นสูงที่ชาร์จรายชั่วโมงในราคาสูงพอกับเงินดาวน์รถ

ทราบมั้ยคะว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นที่เมือง Cannes นั้นต้องตรวจตราตามท้องถนนเพื่อตรวจจับการค้าประเวณี แต่ตำรวจก็ยอมรับตรงๆว่า ไม่สามารถกวดขันครอบคลุมเข้าถึงไปยังห้องในโรงแรมหรูและเรือยอว์ช ในยุค digital นี้ บรรดาสาว escort ต่างก็ใช้โทรศัพท์มือถือคอยนัดแนะกับลูกค้ากระเป๋าหนัก และผู้หญิงที่มาสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในช่วงเทศกาลนี้ก็ไม่ใช่โสเภณีในเรื่อง Pretty Woman แต่อย่างใด พวกเธอจะมาในมาดสาวหรูที่บางครั้งก็ซื้อบัตรเข้าไปร่วมเดินพรมแดงด้วยซ้ำ


ตำรวจบอกเล่าว่า "มีทั้ง escort มืออาชีพ นางแบบ และนางงาม พวกเธอจะให้บริการผู้ชายตามโรงแรม เรือยอว์ชและวิลล่าหรูบนเขา" เทศกาลหนังจะเป็นช่วงเวลาที่ให้พวกเธอสามารถชาร์จเงินได้สูงมากที่สุดในรอบปี โสเภณีในท้องที่หลายคนจะต้องติดสินบน concierge ในโรงแรมให้เชียร์ลูกค้าให้ แต่ถ้าหากได้เข้าสังกัดของ "แมงดาตัวพ่อ" ก็อาจได้งานงามๆได้ง่ายกว่านั้น


Elie Nahas คือนักธุรกิจชาวเลบานีสที่เคยถูกจำคุกจากการจัดหาผู้หญิงให้กับชายทรงอิทธิพลที่เดินทางมายัง Cannes เพื่อปลดปล่อยตัณหาให้เต็มที่ ทั้งเชื้อพระวงศ์อาหรับ ลูกชายประธานาธิบดีเผด็จการและเศรษฐีทั่วโลกยืนยันว่า ผู้หญิงเหล่านั้นอาจจะโชคดีทำเงินเป็นล้านได้ในหนึ่งคืน

"ทุกๆปีในเทศกาลนี้จะมีเรือยอว์ชจอดเรียงรายเป็นสิบๆลำ เจ้าของเรือก็มหาเศรษฐีทั้งนั้น ทุกลำจะมีผู้หญิงนับสิบเตรียมพร้อม โดยมากก็เป็นนางแบบเปลือยอกหรือไม่ก็เปลือยทั้งตัว มีครบทั้งสาวงามและยาเสพติด ออกมาดูกันเองสิแล้วจะรู้ พอเสร็จกิจในแต่ละค่ำคืน ผู้หญิงพวกนั้นก็รอคอยซองใส่เงินค่าตอบแทน มันเป็นแบบนี้มานานกว่าหกสิบปีแล้ว" อดีตแมงดาตัวพ่ออธิบายและเหน็บแนมตำรวจที่จับกุมเขาทั้งๆที่เอาหูเอานาเอาตาไปไร่มาตั้งนาน

คนวงในได้กระซิบบอกกับ The Hollywood Reporter ว่าจะมีกลุ่มผู้หญิงที่ไม่รับสถานะโสเภณี นั่นคือกลุ่มนักแสดงโนเนมและเหล่านางแบบที่ยอมมี sex กับชายแก่ผู้ร่ำรวยแล้วรับเงินก้อนโตเป็นข้อแลกเปลี่ยน




I can make you famous   !  



เทศกาลหนังเมือง Cannes คือศูนย์รวมของผู้สร้างหนังและนายทุนรายใหญ่ เรียกว่าเป็นขุมทรัพย์ของ เหยื่อหลายคนกล่าวหาว่าถูก Harvey Weinstien ล่วงละเมิดที่ Cannes เขาใช้คำพูดหว่านล้ิมผู้หญิงให้ยินยอมสนองตัณหาด้วยประโยคคล้ายๆกันว่า สามารถปั้นให้พวกเธอโด่งดังได้ และนั่นอาจจะกระตุ้นต่อมสงสัยของคุณว่า Harvey เป็นชายทรงอิทธิพลผู้เดียวที่ใช้ power ของตัวเองล่่อให้ผู้หญิงขึ้นเตียงด้วยจริงหรือ ?

โพรดิวเซอร์รายหนึ่งเล่าผ่านสื่อดังอย่าง Mirror ว่า มีหญิงสาวจำนวนมากที่เดินทางมาที่ Cannes พร้อมกับความหวังว่าจะพบกับใครสักคนที่จะผลักดันให้สร้างชื่อเสียงในวงการแสดง และสามารถแลกกับทุกอย่างที่จะไปถึงจุดนั้น" เราเห็นเรื่องพวกนี้ตลอดล่ะครับ มันเป็นเรื่องน่าเศร้านะ พอได้เห็นทีไรก็ทำให้รู้สึกละอายใจแทนขึ้นมา"


นักสร้างหนังใช้ช่วงเวลาใน Cannes อย่างสุดเหวี่ยง เพียบไปด้วยเหล้ายาและ sex พวกเขาโปรยคำสัญญาต่อสาวสวยว่าจะช่วยเรื่องวีซ่าและบทหนังที่ช่วยให้โด่งดัง บางคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่อง win-win ที่ทั้งสองฝ่ายต่างเต็มใจ แต่จะมีผู้หญิงกี่คนที่ไปถึงเป้าหมายที่ใฝ่ฝัน พวกเธอถูกมองว่าเป็น wannabe ที่เต็มใจจะเหลือยอกโชว์แล้วนอนกับผู้ชายแปลกหน้าเพื่อแลกกับบทตัวประกอบในหนังเกรด B


The Hollywood reporter รายงานว่า วงจรนี้เข้าข่ายการค้ามนุษย์ หลังจากสาวงามจากต่างประเทศได้พบกับนักสร้างหนังที่ Cannes ไม่กี่เดือนต่อมาก็จะพบพวกเธอได้ที่ LA มีเสียงเล่าลืจากคนวงในว่า สาวๆเหล่านั้นต้องวนเวียนให้บริการให้กับผู้ชายในวงการหนัง Hollywood โพรดิวเซอร์ทั้งหลายต่างรู้ดีว่า เด็กสาวจากต่างประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องการเข้าอเมริกามาเล่นหนังบทเล็กๆ นั้นจะต้องใช้อะไรแลกเปลี่ยน หากเป็นเพียงบทเล็กๆ ที่แทบจะไม่ได้พูดอะไรเลย มันก็น่าสะกิดใจว่าเพราะอะไรจึงมีคนดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายที่รวมไปถึงค่าวีซ่า H-1 ทั้งๆ ที่โพรดิวเซอร์สามารถเฟ้นหานักแสดงในประเทศเดียวกันได้ง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องทุ่มจ่ายเงินมากมาย

"ถ้าไม่ใช่การใช้บางสิ่งในตัวพวกเธอตอบสนอง"




Wannabe


การตีตราด้วยคำๆ นี้มันช่างเจ็บแสบ  คุณอาจจะได้เห็นนักเลงคีย์บอร์ดเหน็บแนมแขกในงานพรมแดงหนังรอบปฐมทัศน์ที่พยายามเดินกรีดกรายโพสท่าโชว์ชุดราคาแพงเรียกร้องความสนใจจากช่างภาพว่าเป็นพวก wannabe ยิ่งร้ายไปกว่าก็คือการเปรียบเทียบพวกเธอกับ escort ที่คอยตามจับลูกค้าเศรษฐี โดยเฉพาะสาวๆ ที่ใส่ชุดที่แทบไม่ปกปิดของสงวน แม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ  แต่ถ้าใจกล้าจริง  ก็อาจจะได้พื้นที่จากหน้าสื่อในช่วงสั้นๆ แต่มันก็อาจพ่วงมาด้วยคำดูแคลนว่าอยากจะได้กระแสจนต้องตะเกียกตะกายมาขอซีนจากพรมแดงที่มีซุปตาร์ยืนหนึ่งด้วยการโชว์ ... 
เมื่อใดก็ตามที่แขกผู้เข้าร่วมงานพยายามจะขึ้นหัวข้อ gossip ด้วยการใส่ชุดกึ่งเปลือย บนพรมแดง กระแสโจมตีก็ไหลทะลักในโลกออนไลน์  รวมถึงคำดูแคลนร้ายกาจว่าสมแล้วที่เป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยโสเภณีชั้นสูง  !!!

เราจะขออธิบายถึงเรื่องวิธีเข้าไปร่วมพรมแดงการฉายหนังรอบปฐมทัศน์รอบเดียวกับดาราดังระดับโลกกันก่อนนะคะ
- ตั๋วเข้าชมจะไม่ได้มีวางขายให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายๆ

- คนที่สามารถติดต่อเพื่อจองตั๋วได้จะเป็นคนในวงการหนังทั้งหลาย รวมไปถึงนักลงทุน ประชาสัมพันธ์ นักข่าว พวกเขาต้องลงชื่อไว้เพื่อให้ได้รับการอนุมัติและจะได้รับบัตรเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่

- สำหรับคนที่ไม่มีบัตรผ่านก็อาจจะมีสิทธิ์เข้างานได้ แต่ก็ต้องอาศัยโชคช่วยและเสื้อผ้าหน้าผมก็ต้องจัดเต็ม หากจะได้ไปต่อในงานนี้ เรื่องการแต่งกายเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากจริงๆ

- จนถึงปีนี้ พวกการ์ดดูแลก็ยังพยายามห้ามให้ผู้หญิงที่ไม่ได้ใส่ส้นสูงเข้าไปชมภาพยนตร์ (บรรณาธิการนิตยสารดังแชร์ประสบการณ์เองค่ะ เธอขู่การ์ดว่าถ้าไม่ให้เข้าจะเอาคลิปมาแฉในโลกออนไลน์ แล้วก็ได้เข้างาน แต่เธอปล่อยคลิปอยู่ดี!)


ดังที่หลายคนทราบกันว่าการเดินเข้าสู่โรงหนังผ่านพรมแดงนั้นจะเรียงลำดับคิวตามความสำคัญ เหล่านักแสดงและผู้สร้างหนังจะมีพื้นที่ให้โชว์ตัวเต็มที่โดยไม่ต้องคอยไปเบียดกับแขกคนอื่นและไม่ต้องคอยเร่งรีบเพราะเป็นหัวใจของงานที่ทุกคนจะต้องสนใจอยู่แล้ว  ต่อมาจะเป็นแขก VIP คนดังที่มาเฉิดฉายในฐานะของ brand ambassador  ของ sponsor งาน แล้วไล่มาถึงแขกที่จองบัตรไว้ล่วงหน้าที่ต้องรอคิวจนกว่าเหล่าเซเลบจะเดินพรมแดงกันเสร็จ  

( Cannes ก็ยังประสบปัญหาการจัดการมาถึงปัจจุบันนี้ ดังที่พบได้จากเเมื่อหลายปีก่อนที่ชมพู่ อารยาแทบไม่เหลือเวลาในการโพสบนพรมแดง เพราะการเรียงลำดับบริหารเวลาบกพร่องจนการ์ดด้านหน้าต้องปล่อยให้ผู้ชมคนอื่นๆ เดินสวนขึ้นมาเพราะมันเฉียดกับเวลาฉายหนัง หรือปีนี้ก็มีแขกที่จองตั๋วไว้อย่างถูกต้อง แต่กลับถูกการ์ดกันไม่ให้เข้างานแล้วอ้างว่าที่นั่งเต็มแล้ว )


หากไม่ได้พื้นที่ในการโชว์ตัวบนพรมแดงจากสถานะคนดังระดับโลกและ ambassador นอกจากเรื่องการใส่ชุดที่เผยจุดซ่อนเร้น มีวิธีใดอีกที่จะช่วยให้ตากล้องหันมาสนใจ



เมื่อไม่กี่วันมานี้ trending ที่ชาวเน็ทในประเทศจีนสนอกสนใจก็คือ #CannesFestivalRedCarpet100k จากภาพบรรดานักแสดงและ influencer ที่ไม่ได้โด่งดังมากมายในประเทศ แต่ใช้พรมแดงเมือง Cannes เป็นสะพานในการสร้างชื่อเสียงด้วยเงินทุนของตัวเอง มีรายงานว่า พวกเค้าจะต้องจ่ายเงินเอเจนซี่เป็นจำนวนแสนหยวนขึ้นไป แลกกับรถรับส่งเมคอัพและรูปภาพ ส่วนเรื่องชุดหรูหรานั้นก็คงวิ่งเต้นหาดีไซเนอร์คอยช่วยสนับสนุน

ลวี่เจียหรง เป็นนักแสดงจีนที่รับบทสมทบทาง TV มาหลายเรื่องได้ยอมรับว่าเธอทุ่มเงินเพื่อเดินพรมแดงที่ Cannes จริง และตอนนี้แฮชแทกแสนหยวนก็ทำให้เธอรู้สึกละอายใจ เธอเล่าว่าจำไม่ได้ว่าจ่ายเงินให้กับนายหน้าไปเท่าไร เมื่อถึงเวลาจริงๆ เธอก็รู้สึกมีความสุขและภูมิใจ แต่ก็ได้ตระหนักขึ้นมาแล้วว่า เมื่อนักแสดงให้ความสำคัญกับการสร้างกระแสความสนใจมากเกินไปก็อาจจะทำให้คนอื่นดูแคลน แม้ว่ากระหายที่จะจะโด่งดัง แต่วิธีนี้กลับสร้างผลเสียให้ซะเอง



แทนจะที่ได้รับเสียงชื่นชมว่าว่าได้ไปเดินพรมแดงที่ Cannes แต่ซีเหยียนเฟยกลับถูกโจมตีอย่างหนัก หลังจากที่มีภาพออกมาว่า เธอถ่วงเวลาการยืนโชว์ตัวหน้ากล้อง ไม่ยอมนวยนาดไปจุดอื่นทั้งๆ ที่แทบไม่มีใครถ่ายรูปเธอแล้ว จนบรรดาช่างภาพร้องและโบกมือไล่เพราะไม่สามารถถ่ายภาพแขกคนอื่นได้ ขนาดว่า organizer มาเจรจาให้เธอช่วยเดินไปข้างหน้าสักที เจ้าตัวก็ยังมองตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉย กว่าที่เธอจะออกไปจากตรงนั้นได้ก็ทำเอาช่างภาพหงุดหงิดมิใช่น้อย


หลังจากที่พบว่าตัวเองตกเป็นจำเลยของชาวเน็ทจีนด้วยข้อหาสร้างความอับอายให้กับประเทศทั้งๆ เป็นเพียงดาราเกรดซีที่กระหายอยากดัง เธอก็รีบออกมาชี้แจงว่า การเดินพรมแดง Cannes นั้นทำให้ประหม่าไปหมด ช่างภาพก็ดูกระตือรือร้นตะโกนขอถ่ายอีกเยอะๆ พอมีคนเข้ามาเตือน เธอก็แทบจะไม่ได้ยิน ถึงตอนนี้เธอก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่าถูกไล่ให้ออกไปจากพรมแดงจริงๆ รึเปล่า


ซีเหยียนเฟยเปิดใจต่อว่า มีโอกาสมาเดินพรมแดงงานนี้แม้จะไม่ใช่ดาราดังเพราะได้รับคำเชิญจากนิตยสาร Paris fantastic และจริงๆ แล้วเธอก็กำลังมี project ถ่ายหนังตามมา แต่ไม่สามารถระบุชื่อหนังเรื่องนี้ได้ เร็วๆนี้ก็จะมีประกาศตามมา


"ถ้าชั้นทำให้คนอื่นที่กำลังเดินพรมแดงเสียเวลาก็ต้องขอโทษด้วยค่ะ แต่ชั้นไม่ได้ตั้งใจเลยนะ  ถ้าชั้นต้องการแบบนั้นคงใส่ชุดใหญ่อลังการและก็เดินโชว์ช้าๆ  คนเราไม่ควรด่วนสรุปจากเพียงแค่รูปเดียวนะคะ "  นางเอกสาวจีนปิดท้ายว่าชาวเน็ทต่างเข้าใจผิดกันไปเอง





แม้กระทั่งซุปตาร์ยืนหนึ่งจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่าง Fan Bingbing ก็เคยถูกสื่อจีนวิจารณ์ว่า ได้ไปเดินพรมแดงเพราะเป็น brand ambassador ของ L'Oreal และเป็นที่จดจำในฐานะดาราต่างประเทศที่มีสไตล์บนพรมแดงที่แสนอลังการ แต่ไม่มีใครสนใจเรื่องฝีมือทางการแสดง แม้แต่พิธีกรก็ยังบรรยายว่าเธอเป็นคนญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

(หลายปีต่อมา  แม่นางฟ่านก็พิสูจน์ตัวด้วยการเข้าไปเป็นหนึ่งใน jury members ร่วมกับซุปตาร์ระดับโลกอย่าง Will Smith และ Jessica Chastain หากไม่ถูกเรื่องเลี่ยงภาษีเล่นงาน พวกเราก็อาจจะได้พบเธอเฉิดฉายในเทศกาลครั้งล่าสุดนี้)
ที่วงการ Bollywood ก็มีดราม่าแรงไม่ต่างกันค่ะ  หลังจากที่นางเอกสาว Hina Khan ได้ debut พรมแดงเมือง Cannes ก็ได้รับเสียงชื่นชมในลุคที่ดูงดงาม Cannes worthy แต่ดูแล้วอาจไปกระตุกต่อมจิกกัดของบก. นิตยสารหนึ่งจนต้องแขวะเธอออกสื่อว่า  

"อยู่ดีๆ Cannes ก็กลายเป็นสตูดิโอ Chandivali แล้วเหรอเนี่ย"

สตูดิโอ Chandivali คือสถานที่ถ่ายทำละครและโฆษณาทาง TV  ซึ่งในอินเดีย อาจจะมีคนมองว่าดาราจอแก้วยังมีบารมีไม่ใกล้เคียงกับดาราหนังที่ทำเงินได้มหาศาล  แต่ Hina พยายามพิสูจน์ว่าดารา TV ก็มีศักยภาพไม่แพ้ใคร เธอเดินทางไปที่  Cannes เพื่อโพรโมทหนังเรื่องแรกของตัวเอง และได้รับความช่วยเหลือจาก Priyanka Chopra ที่เชิญเธอไปร่วม party หรูและกล่าวแนะนำชื่นชมผลงานของเธอต่อหน้าศิลปินชั้นนำในงาน     หลังจากได้รับเชิญจาก India Pavilion ให้ไปเปิดตัวผลงานหนัง  ชาวเน็ทในอินเดียต่างชื่นชมว่า Hina ก้าวมาสู่ Cannes ด้วยความสามารถ  สไตล์บนพรมแดงก็สวยแจ่ม แต่เมื่อสื่อรายหนึ่งแดกดันเธอด้วยประโยคที่แบ่งชนชั้น  นักแสดงจากสตูดิโอ Chandivali ก็ลุกฮือขึ้นมาปกป้อง
หลังจากถูกสังคมประนาม  บก.ปากดีก็ต้องออกมาขอโทษ Hina เพื่อนนักแสดงบางคนหยันกลับว่า เขาอาจจะพยายามดึงให้เธอรู้สึกต่ำ แต่กลับทำให้มหาชนเทความเห็นใจไปให้เธอและสนับสนุนผลงานเธอมากกว่าเก่า
ส่วนฝั่งตะวันออกกลาง ก็มีบล็อกเกอร์เจ้าของเพจ shoesanddrama ที่ออกมาสับแบรนด์ต่างๆ ที่ยื่นข้อเสนอให้ influencer มาเดินอวดโฉมบนพรมแดงเพื่อช่วยโพรโมทแบรนด์ แต่แม้จะมีจำนวนผู้ติดตามบนโลกออนไลน์มากแค่ไหน หรือมีชุดหรูหราสักเพียงใดก็ไม่ได้รับความสนใจจากฝูงชนและช่างภาพ
เธอนำภาพ influncer อาหรับที่เข้าร่วมพรมแดง Cannes มาชี้ให้เห็นว่า  พวกเธอเหล่านั้นไม่ได้รับความสนใจจากช่างภาพมากนัก  และวิจารณ์ยาวยืดว่าแบรนด์เลือกพรีเซนเตอร์ผิด และยังทำให้ influencer เหล่านี้ต้องขายหน้าซะเอง  ไม่ใช่แค่คนเดินพรมแดง แต่อายลามไปถึงคนในประเทศด้วย    พร้อมกับปิดท้ายอย่างเจ็บแสบว่า เราจะไม่ได้เห็นวิธีโพรโมทแบบนี้จากแบรนด์หรูเริ่ดอย่าง Chanel และ Hermes หรอกนะ

"เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่บนพรมแดงเต็มไปด้วยคนที่ไร้ชื่อเสียงไม่เป็นที่รู้จักไร้ความสามารถโดดเด่นมาเรียกร้องความสนใจด้วยชุดหรูหรา นี่มันเป็นเทรนด์ฮิตรึไง มีแต่ผู้หญิงที่ไหนก็ไม่รู้มาเดินประชันกับบรรดานักแสดงดังที่ต้องทุ่มเทสร้างผลงานเพื่อจะได้มีหนังคว้ารางวัลจาก Cannes ขอทีเถอะนะ จัดแต่ซุปตาร์ตัวจริงมาให้ชื่นชมหน่อยเหอะ"



แม้จะมีชาวเน็ทหลายคนแสดงความเห็นด้วยกับบล็อกเกอร์รายนี้ แต่ก็มีเสียงโต้แย้งออกมาว่า ยุคนี้ เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้เติบโตไปไกลกว่าศิลปะภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวแล้ว เรื่องของ fashion และการกระชาสัมพันธ์แบรนด์ได้เป็นธุรกิจที่ขยายตัวไปพร้อมกับความเฟื่องฟูของ Cannes จนไม่สามารถแยกกันออก ในเมื่อแบรนด์ต้องการจะลงทุนกับ influencer ต่างชาติก็ไม่เห็นจะเสียหายหรือน่าอายตรงไหน

"เมื่อ influencer ได้เข้าร่วมเทศกาลหนังเมือง Cannes พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างกระแสให้กับหนัง จับมือกับแบรนด์ในการสร้างเทรนด์และเปิดเผยให้คนทั่วไปให้สัมผัสถึงความเป็นไปจากประสบการณ์คนวงใน" ผู้อำนวยการ social media agency ใน LA อธิบายถึงเหตุผลที่ Cannes ในยุคปัจจุบันไม่ได้เป็นอีเวนท์ที่เปิดรับเฉพาะคนในวงการหนังอีกต่อไป


วิธีทางธุรกิจเช่นนี้ ทำให้ผู้คนจากต่างประเทศให้ความสนใจกับเทศกาลห่งนี้มากขึ้น พวกเค้ายังได้ฮือฮากับคนดังร่วมชาติแต่งกายด้วย fashion ที่เลิศเลอไม่แพ้ซุปตาร์ Hollywood และการตลาดนี้ก็ได้ผลมาหลายปีติดต่อกัน ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งมองว่านี่คือโอกาสที่ win- win กันทุกคน ใครไม่ชอบก็ไม่ต้องติดตาม แต่ก็จะมีอีกฝ่ายที่จิกกัดอย่างไม่ลดละว่า Cannes ควรเปิดรับเฉพาะคนที่คู่ควร ไม่ใช่เป็นพื้นที่ให้บุคคลโนเนมมาสร้างกระแสให้กับตัวเอง!


การยึดติดภาพของเทศกาลหนังเมือง Cannes ที่เปิดรับเฉพาะคนในระดับ A List และศิลปินการภาพยนตร์มากความสามารถทำให้มีดราม่าเหยียดแขกที่มาร่วมเดินพรมแดงในหลายประเทศดังที่เราเล่ามา แม้กระทั่งเมืองไทยของเราก็ยังมีดราม่าที่มีคนใช้คำพูดเหยียดแรงอย่าง "เกาะพรมแดงเดิน"  และมีการบลัฟกันระหว่างแฟนคลับไม่ได้จบแค่การเดินสวยๆบนพรมแดง  แต่ต้องผจญกับเกิดกระแสตีกลับจาก hater เป็นด้านมืดที่น่ากดดันจริงๆ


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE