#ออเจ้าต้องรู้ คนสมัยก่อนเค้ากินอะไร ถึงได้ว้าวน้ำจิ้ม!

21 2
ดูละคร #บุพเพสันนิวาส แล้วอินจัด ก็แม่หญิงการะเกดเล่นทำอาหารไม่หยุด จีบันเลยจัดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินของคนสมัยอยุธยา อ้างอิงจาก จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ที่เฉลยให้รู้ว่า เค้ากินอะไรกัน ทำไมถึงได้ตกอกตกใจกับอาหารที่แม่การะเกดทำซะขนาดนั้น มาไขคำตอบกันค่าาา



1. ชาวสยามกินน้อย 


สำหรับเรื่องอาหารนั้น ชาวสยามจะไม่ฟุ่มเฟือย มีอาหารไม่กี่อย่างบนโต๊ะ เรียกว่ากินน้อยก็ว่าได้เมนูส่วนใหญ่จะเป็นข้าวกับปลาแห้ง กุ้งแห้ง หรือหอยนางรมตัวเล็กๆ ต่างกับสมัยนี้ ที่แต่ละมื้อต้องจัดเต็มจนต้องต่อโต๊ะหรือไม่ก็จัดหนักบุฟเฟ่ต์หนักๆ ไปเลย


2. น้ำจิ้มสมัยอยุธยา มีแค่น้ำกับเครื่องเทศ 



ไม่แปลกใจเลยที่ตัวละครในบุพเพสันนิวาสถึงได้ตื่นเต้นกับน้ำจิ้มซีฟู้ด กับน้ำปลาหวานของแม่การะเกด ก็เพราะน้ำจิ้มสมัยนั้นเค้าใช้ส่วนผสมไม่มาก ใช้น้ำนิดหน่อยกับเครื่องเทศ อย่างกระเทียม หัวหอม กับผักบางชนิด เช่น กะเพรา น้ำจิ้มสมัยอยุธยาจะมีลักษณะเหลวคล้ายมาสตาร์ด ที่มีกุ้งเคยเน่า หรือกะปิ เป็นส่วนผสม


3. ค่าอาหารต่อวัน แค่ 0.01925 สตางค์


สมัยนั้นค่าอาหารของชาวสยามต่อคนใน 1 วัน ประมาณ 0.01925 สตางค์ ก็เพียงพอสำหรับข้าว ปลาแห้ง ไม่ก็ปลาเค็ม


4. ไม่กินเนื้อสัตว์


ชาวสยามไม่นิยมกินเนื้อสัตว์และไม่มีโรงฆ่าสัตว์ จะกินบ้างก็พวกเครื่องใน และแมลงปิ้ง เพราะเนื้อสัตว์เหนียว ไม่ฉ่ำ และย่อยยาก เรียกง่ายๆ ก็คือชอบกินสัตว์เล็ก ไม่กินสัตว์ใหญ่นั้นเอง อีกอย่างคือการถนอมอาหารสมัยนั้นไม่มีเครื่องมือมาก ถ้าฆ่าสัตว์ใหญ่สัตว์ก็ต้องแจกจ่ายให้หมด ไม่งั้นจะบูดเน่า


5. เก็บอาหารด้วยวิธีหมักเกลือ หรือ ตากแห้ง



สมัยก่อนจะใช้วิธีเก็บถนอมอาหาร ด้วยการหมักเกลือเพื่อคงความสด หรือ ตากแห้งโดยนำไปตากแดด เช่นเนื้อสัตว์ ก็จะแล่เป็นชิ้นเล็กๆ คลุกเกลือ และนำไปตากบนตะแกรง วิธีนี้ทำได้ทั้งเนื้อสัตว์ และผักผลไม้ เพื่อลดความชื้นในอาหาร และเก็บไว้ได้นานขึ้น


6. เปิบมือ คือวิธีกินข้าวแบบชาวสยาม



ในละครจะเห็นว่าตัวละครใช้มือกิน เรียกว่า เปิบมือ เช่น ปลาคลุกข้าว เหยาะน้ำปลาเยอะๆ แล้วใช้มือหยิบ ส่วนอาหารที่เป็นประเภทต้มๆ ก็ใช้ช้อนสังกะสีตักมาใส่จาน และใช้มือหยิบกินเหมือนเดิม หากจะเปลี่ยนกับข้าว ก็จะล้างมือในกะลามะพร้าวก่อนทุกครั้ง


เนื้อหาในกระทู้นี้ อ้างอิงจาก จดหมายเหตุลาลูแบร์ ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม (Du Royaume de Siam) เป็นจดหมายเหตุพงศาวดารที่กล่าวถึงราชอาณาจักรสยามในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2230 โดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ ประเทศสยาม ราว 3 เดือน 6 วัน ซึ่งอาศัยความรู้จากหนังสือที่ชาวตะวันตกซึ่งมากรุงสยามแต่ก่อน และสอบถามจากคนที่ไม่มีความรู้บ้าง ฟังจากคำบอกเล่าซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้าง บางเรื่องก็คาดเดาเอาเองนะคะ


natiprada

natiprada

FULL PROFILE