5 เรื่องลดหย่อนภาษี ที่คนไม่มีคู่ไม่รู้หรอก

10 4

มาถึง “เดือนแห่งความรัก” คนไม่มีคู่ก็น่าจะเหงาๆ หน่อย ขอให้เข้มแข็งอดทน เพราะแค่ไม่กี่วันมันก็จะผ่านไป พวกเรารู้ พวกเราเคยโสดมาก่อน 555 ไม่อยากจะเม้าททท์ พวกเรา “นักสืบดอกจัน” ถึงจะเป็น #สาวสายโหด แต่ตอนนี้ไม่โสดแล้วนะจ๊ะ แถมด้วยเบบี๋น้อยอีก 1 คน เพราะฉะนั้นวาเลนไทน์นี้พวกเราไม่เหงาแน่นอน...  รู้อย่างนี้พี่แต่งไปนานแล้วววและนอกจากจะไม่เหงาแล้ว คนมีคู่อย่างเรายังได้สิทธิลดหย่อนภาษีที่ “คนไม่มีคู่” ไม่รู้หรอก หรือ บางทีก็รู้อยู่แก่ใจแต่ไม่มีสิทธิ... โอ๊ยยย ไม่อยากจะขยี้ แต่เจ็บปวดกว่านี้มีอีกมั้ย เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้เจ็บกันเกินไป  ขอแค่เบาะๆ เบาๆ แค่ 5 เรื่องก็พอ

 

1. แต่งงานแล้ว ลดหย่อนคู่สมรสได้   ถ้าสาวๆ ที่แต่งงานแล้ว ได้เป็นแม่บ้านเต็มเวลาไม่มีรายได้เลย ขอแสดงความยินดีกับคุณสามีด้วย เพราะคุณสามีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภรรยาได้ 60,000 บาทไปเต็มๆ เพราะฉะนั้นเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท เท่ากับได้ค่าลดหย่อนรวม 120,000 บาท ในทางกลับกัน ถ้าคุณสามีไม่มีรายได้ ภรรยาก็สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนสามีได้ 60,000 บาทเช่นเดียวกัน รวมทั้งคู่สมรสมที่มีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ เงินปันผล แต่เงินได้ก้อนนี้เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว และเลือกยื่นภาษีร่วมกัน โดยไม่นำเงินได้จากดอกเบี้ย หรือ เงินปันผลมาคำนวณรวมกับเงินได้อื่น ก็ให้ถือว่า เป็นคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ เพราะฉะนั้นก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ได้เหมือนเดิมแต่เดี๋ยวก่อน สามีภรรยาที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้อง “จดทะเบียนสมรส” เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าแต่งงานเฉยๆ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะใช้สิทธินี้ไม่ได้นะจ๊ะถ้าแต่งงานแต่ไม่จดทะเบียนสมรสเวลายื่นแบบแสดงรายการจะต้องแจ้งสถานะ “โสด” แต่ถ้าจดทะเบียนสมรสแล้ว แต่คู่สมรสไม่มีรายได้ ก็ต้องแจ้งว่า “คู่สมรสไม่มีเงินได้”และที่สำคัญที่สุด คือ ใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสได้สูงสุดเพียง 1 คนเท่านั้น อย่าให้เกิน

2. พ่อแม่คู่สมรส ก็ลดหย่อนได้ นอกจาก #รักพ่อแม่ตัวเองแล้วก็รักพ่อแม่แฟนด้วย เพราะถ้าพ่อแม่ของเราทั้งคู่อายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ โดยได้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ของตัวเราเองคนละ 30,000 บาท และถ้าแฟน* (ไม่ว่าจะสามี หรือ ภรรยา) ไม่มีรายได้ จะได้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ของคู่สมรสอีกคนละ 30,000 บาทอีกด้วย เพราะฉะนั้นสิทธิลดหย่อนพ่อแม่สูงสุดที่ใช้สิทธิได้ คือ 4 คน รวม 120,000 บาทถ้าเข้าเงื่อนไขครบทุกข้อต่อไปนี้... 

  • คู่สมรสไม่มีรายได้ 
  • คู่สมรสเป็น “บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย” ของพ่อแม่ เพราะลูกบุญธรรมใช้สิทธิลดหย่อนไม่ได้ 
  • พ่อแม่คู่สมรสอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความดูแลของเรา แต่ไม่จำเป็นต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันก็ได้
  • พ่อแม่คู่สมรสมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท 
แต่ต้องระวังนิดนึง ถ้าพ่อแม่แฟนมีลูกหลายคน อาจจะเกิดเหตุ “ใช้สิทธิซ้ำซ้อน” ได้ เพราะพ่อแม่ 1 คน ลูกจะนำไปใช้สิทธิได้ 1 สิทธิ เท่านั้น และหากมีการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกัน เช่น พี่น้องของคู่สมรสใช้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ไปแล้ว แล้วเราไปใช้สิทธิซ้ำอีก จะไม่มีใครได้สิทธิลดหย่อนเลย เพราะฉะนั้นต้องให้แฟนไปตกลงกับพี่ๆ น้องๆ ให้ดีก่อนว่า ใครจะเป็นคนใช้สิทธิ 

3. ซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่คู่สมรสก็ลดได้ลูกกตัญญูอย่างเรา นอกจากจะทำอะไรดีๆ ตอบแทนพระคุณพ่อแม่แล้ว ถ้าซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่ ทั้งพ่อแม่เราและพ่อแม่แฟน จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นรางวัลลูกกตัญญู โดยที่หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 15,000 บาท (รวมทั้งพ่อแม่เรา และพ่อแม่แฟน) เงื่อนไขในการใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของคู่สมรส จะคล้ายๆ กับสิทธิลดหย่อนพ่อแม่ เพียงแต่ไม่กำหนดอายุพ่อแม่เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้ใช้สิทธิได้เลย

  • คู่สมรสไม่มีรายได้ 
  • คู่สมรสเป็น “บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย” ของพ่อแม่ เพราะลูกบุญธรรมใช้สิทธิลดหย่อนไม่ได้ 
  • พ่อแม่คู่สมรสมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท 
ในกรณีที่พ่อแม่มีลูกหลายคนจำนวนเงินที่ละหย่อนได้จะต้องเฉลี่ยกันไปตามจำนวนลูกที่ใช้สิทธิ และรวมแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ย้ำอีกครั้งว่า ทุกคนรวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ไม่ใช่คนละ 30,000 บาทนะคะ

4. มีลูกแล้ว หักลดหย่อนลูกได้ เมื่อมีลูกน้อย จะมีสิทธิหักลดหย่อนบุตรคนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็น “บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้หรือของคู่สมรส และบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้” โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นบุตรที่...

  • อายุไม่ถึง 20 ปี หรือ ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส  
  • อายุ 20-25 ปี แต่ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย  หรือ ชั้นอุดมศึกษา 
  • ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ  
  • มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน คุณสามีจะไม่มีสิทธิหักลดหย่อนบุตร ถ้าไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร เพราะจะยังไม่ถือว่าเป็น “บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย” ดังนั้นถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสคุณพ่อจะต้องไปจดทะเบียนรับรองบุตร หรือ จดทะเบียนสมรสกันในภายหลังก็ได้ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ก็ใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ไม่เกิน 3 คน หรือรวมกันลูกแท้ๆ แล้วไม่เกิน 3 คน แต่ถ้ามีลูกแท้ๆ อยู่ 3 คนแล้วจะใช้สิทธิบุตรบุญธรรมไม่ได้อีก ถ้าเป็น “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” ที่อยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดสามารถใช้สิทธิกี่คนก็ได้นอกจากนี้ ทั้งเราและแฟนจะถ้ามีเงินได้ทั้งคู่ แต่แยกกันยื่นภาษีจะได้สิทธิลดหย่อนบุตรคนละ 30,000 บาท  เช่น มีลูก 1 คน สามีจะได้สิทธิลดหย่อน 30,000 บาท ภรรยาก็จะได้อีก 30,000 บาท (ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะต้องแบ่งกันคนละ 15,000 บาท)

5. ตั้งแต่ปีนี้มีลูกคนที่ 2 ได้ลดหย่อนเพิ่มว้าวๆๆๆ นี่มันวาระ “มีลูกช่วยชาติ” ชัดๆ เพราะเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ “มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร” โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท สำหรับลูกคนที่ 2 เป็นต้นไป แต่ต้องเป็นลูกที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป (และยื่นภาษีในปี 2562)เพราะฉะนั้นคนที่มีลูกคนที่ 1 แล้ว ถ้าปีนี้มีลูกเพิ่มสิทธิลดหย่อนลูกคนที่ 2 จะเพิ่มเป็น 60,000 บาท  ลูกคนที่ 1 ได้ลดหย่อน 30,000 บาทลูกคนที่ 2 ได้ลดหย่อน 60,000 บาทนอกจากนี้  คณะรัฐมนตรียังอนุมัติให้ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสสามารถนำ “ค่าฝากครรภ์” หรือ “ค่าคลอดบุตร” ไปหักเป็นค่าลดหย่อน ได้ตามที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว แต่ไม่เกิน 60,000 บาท สำหรับค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป  โดยมีเงื่อนไขว่า จะให้เฉพาะคนที่ไม่ได้มีการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และคลอดบุตรจากแหล่งอื่นๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ต้องรอให้ประกาศเป็นกฎหมายก่อน 

แค่ 5 ข้อนี้ก็น่าจะช่วยหาเหตุให้ไปสะกิดคนข้างๆ ว่า ถ้าอยากประหยัดภาษี #มีลูกกันเถอะ หรือถ้าข้ามขั้นไปหน่อยก็เริ่มจาก #แต่งงานกันมั้ย จะได้ลดภาษีด้วยน้าาาา


DokChanMoney

DokChanMoney

FULL PROFILE