PMS และ PMDD อาการก่อนมีประจำเดือนที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่รู้.......

2 7

พอดีเห็นว่ามีคนถามเรื่องอาการก่อนมีประจำเดือนเลยหามาให้อ่านเล่นๆกันนะคะ
ยาวนิดนึงนะค่ะ

"ปวดท้องน้อย ปวดหัว ปวดหลัง หงุดหงิด รำคาญใจ... อย่าเข้ามาใกล้นะ"
นี่คือหนึ่งในกลุ่มคำพูดที่เคยประสบมากับตัวเอง และใครหลาย ๆ คน ก็คงเคยประสบพบเจอมาก่อน บ้างก็เข้าใจ บ้างก็ไม่เข้าใจว่าเป็นอะไร เกิดจากอะไร บางครั้งคิดว่าเกิดจากการเป็นโรค หงุดหงิดเพราะงานไม่เสร็จ เจ้านายดุ หรือทำงานผิดพลาด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นข้างต้นหมายถึง "กลุ่มอาการเริ่มต้นของการมีประจำเดือน หรือแปลง่าย ๆ ว่า กำลังเข้าสู่ช่วงนั้นของเดือนแล้ว" 


              เชื่อว่าผู้หญิงทั่วโลกก็จะมีอาการเหล่านี้ในทุกประเทศ ทุกเขต มณฑล อำเภอ รวมไปถึงทุกบ้าน เพราะในทางการแพทย์ถือว่าอาการเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จนกระทั่งถึงผู้หญิงในวัยทอง อาการของผู้หญิงเมื่อประจำเดือนกำลังมาถูกเรียกในทางการแพทย์ว่า อาการก่อนมีประจำเดือน Premenstrual Syndrome หรือ PMS
กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS มีทั้งอาการที่แสดงออกทางร่างกายและทางอารมณ์ โดยอาการที่แสดงออกทางร่างกายได้แก่ ท้องอืด ปวดท้อง ตะคริวที่ท้อง ปวดศีรษะ อยากอาหาร รับประทานอาหารมากผิดปรกติ อ่อนเพลีย ปวดตามข้อต่อและกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ คัดตึงหน้าอก ส่วนอาการที่แสดงออกทางอารมณ์ได้แก่ หงุดหงิด รำคาญ อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า หดหู่ รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด ควบคุมสติไม่ได้ ไวต่อความรู้สึก รู้สึกขัดแย้ง ความสนใจต่อกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง ขาดสมาธิ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วง 7-10 วันก่อนมีประจำเดือน และจะหายไปเมื่อมีประจำเดือน 2-3 วัน


           ในงานสัมมนาระดับภูมิภาคหัวข้อ "ปลดปล่อยตัวเองจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน" ณ ห้องมาเลเซีย กรุงเทพวิง โรงแรมแชง กรีลา ได้ออกมานำเสนอถึงอันตรายของอาการ PMS ที่มีผลกระทบ ต่อการใช้ชีวิตประจำวันในผู้หญิง โดยมีวิทยากรที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้คือ ศ.ลอเรน เดนเนอร์สไตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเพศศึกษาและสุขภาพ แผนกจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น นพ.เดวิด แอล. ไอเซนเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิด แผนกสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลนอร์ธเวสเทิร์นเมมโมเรียล สหรัฐอเมริกา และ ศ. นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย คุณเมจิ-อโณมา และคุณแมน-ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์ ดาราชื่อดังที่มีประสบการณ์เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ด้วย
ศ.ลอเรน เดนเนอร์สไตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเพศศึกษา และสุขภาพ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า "จากการศึกษาพบว่ามีผู้หญิงจำนวนมากในเอเชียแปซิฟิกที่ประสบภาวะ PMS แต่กลับไม่พยายามหาวิธีรักษา เนื่องจากมีความเชื่อที่ผิดว่าอาการก่อนมีประจำเดือนเหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณบอกว่าประจำเดือนกำลังจะมา หรือเห็นว่าเป็นเรื่องปรกติที่ทุกคนต้องประสบอยู่แล้ว โดยที่ไม่ได้ตระหนักเลยว่าอาการเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนการบำบัดอาการ PMS นั้นไม่ใช่เพียงแค่การรักษาอาการปวดหัว ปวดท้อง ตะคริวที่ท้อง หรือท้องอืดด้วยตัวเองเพื่อบรรเทาอาการแบบชั่วคราวเท่านั้น แต่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีรักษาอย่าง ถูกต้อง"
"โดยปรกติผู้หญิงมักจะทราบว่าตนเองมีอาการใดก่อนมีประจำเดือนที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิต บางคนอาจมีความอยากอาหาร ปวดตา ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ คัดตึงเต้านม ก่อนที่ประจำเดือนจะมา ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นลักษณะของการไม่มีสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงนั้น อีกทั้งบางคนอาจมีอาการคัดตึงหน้าอกมาก เครียด รู้สึกกังวล คุมตัวเองไม่ได้ อ่อนไหว ฉุนเฉียว และไม่สนใจกิจกรรมใด ๆ นั่นแปลว่า กำลังจะมีประจำเดือนแล้ว และอาการก็จะมีก่อน 7-10 วันที่ประจำเดือนมา ซึ่งจะหายไปได้เองเมื่อประจำเดือนมาแล้วนั่นเอง ผู้หญิงส่วนมากที่มีอาการ PMS จะรู้สึกโล่งใจและคลายกังวล เมื่อมีเลือดประจำเดือนออกมาจะรู้สึกดีมาก แต่เมื่อมีอาการปวดมากขึ้นและบ่อยขึ้นก็จะเริ่มไปพบแพทย์ เพราะผู้หญิงจะทราบดีว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงาน ลูก สามี และคนในครอบครัว การทำงาน การใช้ชีวิต การเรียน บางครั้งจะทำไม่ได้ และเกิดความหดหู่ใจทุกครั้งที่ต้องมีการทำร้ายร่างกายคนใกล้ตัว" 


         นอกจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS แล้ว ยังมีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง หรือที่เรียกว่า Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่มีความรุนแรงมากกว่า PMS โดยความรุนแรงอาจมีอันตรายต่อการใช้ชีวิตของ ผู้ที่มีอาการเป็นอย่างมาก และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษา ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในเรื่องกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิงและแพทย์ในเอเชียแปซิฟิกประกอบไปด้วยประเทศออสเตรเลีย ฮ่องกง ปากีสถาน และไทย แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ยกเว้นในออสเตรเลีย ไม่เคยได้ยินคำว่า PMS หรือ PMDD มาก่อน โดยส่วนใหญ่คิดว่าอาการก่อนมีประจำเดือนนี้เป็นภาวะทางธรรมชาติที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรักษา และมักใช้วิธีรักษาด้วยตัวเองโดยใช้ถุงน้ำร้อน ดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ รับประทานยาแก้ปวด หรือใช้ยาสมุนไพรเพื่อช่วยบรรเทาอาการแบบชั่วครั้งชั่วคราว
ในทางตรงกันข้าม แพทย์ส่วนใหญ่ซึ่งตระหนักถึงผลกระทบของ PMDD ต่างมีความเห็นว่าผู้หญิงที่มีอาการก่อนมีประจำเดือนในขั้นรุนแรง ควรได้รับการบำบัดทางจิต จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษาจิตแพทย์ หรือให้การรักษาโดยใช้ยาทางจิตประสาท เช่น SSRI ซึ่งบางครั้งอาจใช้ควบคู่กับยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการบำบัดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการ
การวินิจฉัยอาการจะใช้เกณฑ์ DSM-IV ในการวินิจฉัยมาตรฐานอาการ PMS ส่วนอาการ PMDD จะวินิจฉัยได้เมื่อมีอาการก่อนมีประจำเดือนตั้งแต่ 5 อาการ หรือมากกว่านั้น และต้องมีความรุนแรงของอาการมากเพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งต้องมีอาการทางอารมณ์ร่วมด้วยอย่างน้อยหนึ่งอาการ


     ผลการศึกษาในผู้หญิง พบว่า
- ผู้หญิงส่วนใหญ่ ยกเว้นในประเทศออสเตรเลีย ไม่เคยได้ยินคำว่า PMS และ PMDD มาก่อน
- ผู้หญิงใน 4 ประเทศดังกล่าวมีอาการลักษณะเดียวกันคือ ท้องอืด ไมเกรน สิว ปวดตะคริวที่ท้อง หงุดหงิด สูญเสียความมั่นใจ หดหู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และส่วนใหญ่คิดว่าอาการก่อนมีประจำเดือนนี้เป็นภาวะทางธรรมชาติที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรักษา รวมทั้งไม่พยายามหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม แต่พยายามรักษาด้วยตนเองเพื่อบรรเทาอาการแบบชั่วคราว เช่น ใช้ถุงน้ำร้อน เครื่องดื่มร้อน สมุนไพรจีนโบราณ (ฮ่องกง) ยาแก้ปวด
- ส่วนใหญ่อยากกำจัดอาการท้องอืด สิว ปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดคัดหน้าอก และหงุดหงิดรำคาญ อารมณ์จะดีขึ้นเมื่ออาการทางกายได้รับการรักษา
ผลการศึกษาในกลุ่มแพทย์ พบว่า
- แพทย์ส่วนใหญ่ตระหนักดีถึงอาการ PMS แต่มีแพทย์ในประเทศออสเตรเลียเท่านั้นที่ตระหนักถึงอาการ PMDD และแพทย์ส่วนใหญ่ที่ตระหนักดีถึงอาการ PMDD เห็นว่าผู้หญิงที่มีอาการขั้นรุนแรงควรได้รับการบำบัดทางจิต จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษาจิตแพทย์ หรือให้การรักษาโดยใช้ยาทางจิตประสาท เช่น SSRI ซึ่งบางครั้งอาจใช้ควบคู่กับยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการบำบัดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการ
- แพทย์เห็นว่าอาการอารมณ์แปรปรวนและหดหู่คืออาการที่ร้ายแรงที่สุด
- ผู้ป่วยบางคนมาปรึกษาแพทย์หลังจากมีอาการแล้ว 2-3 รอบเดือน นอกนั้นจะมาพบแพทย์เพราะมีอาการหนักขึ้นหลังจากที่มีอาการในระดับอ่อน ๆ มาเป็นปี ๆ
- ปัจจุบันแพทย์ไทยรักษาอาการ PMS/PMDD ด้วยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด การฝึกสมาธิ แวเลียม วิตามินบี ยารักษาระบบทางเดินอาหาร ออกกำลังกาย อาหาร และยาแก้ซึมเศร้า โดยมีแพทย์เพียงครึ่งหนึ่งที่พอใจกับทางเลือกในการรักษาในปัจจุบัน
ศ. นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ในประเทศไทยให้ความสนใจในเรื่องอาการ PMS ค่อนข้างน้อย ส่วนมากอาการที่เป็นจะส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงาน มีอาการหงุดหงิด ซึ่งอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะไปลดคุณภาพในการทำงาน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ข้อมูลของผู้หญิงที่อยู่ในวัยรุ่นและวัยทำงานช่วง 16-35 ปี จะมีอาการ PMS ก่อนมีประจำเดือนค่อนข้างมากถึง 53% เมื่อเทียบกับข้อมูลทั่วโลกที่มีมากถึง 94% แต่จะมีเพียง 6% เท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการศึกษา และผู้หญิงทุกคนอย่างน้อยจะมีหนึ่งอาการดังนี้ คัดตึงเต้านม มีสิว ปวดหลัง ปวดท้องน้อย และ 5-6% จะมีอาการปวดมากจนไม่สามารถทำงานได้" 


               "อาการก่อนมีประจำเดือนนั้นอาจจะมีอาการทางไมเกรนได้เหมือนกัน และถือเป็นเรื่องปรกติที่ผู้หญิงจะมีอาการผิดปรกติ อาจหงุดหงิด ขวางหูขวางตา บางรายอาจจะไปทำงานไม่ได้ ปวดท้องน้อย ต้องลางาน กลุ่มอาการเหล่านี้บางทีพบแล้วอาจต้องไปหาจิตแพทย์ได้ อาการจะเป็นก่อนที่มีประจำเดือน 5-7 วัน พอซึมเศร้ามาก ๆ ก็จะเป็นไปตามรอบ บางครั้งเป็นมาก ๆ แล้วอาละวาดก็อาจจะพาไปหาจิตแพทย์ได้ ต้องเข้าใจว่าเป็นที่ฮอร์โมน เมื่อตั้งครรภ์หรืออายุมากขึ้นอาการก็จะค่อย ๆ ลดลง ช่วงวัยทองจะต้องรับประทานฮอร์โมนทดแทนเข้าไป"


          "การดูแลทำได้หลายอย่าง การรับประทานยา การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ โยคะ พักผ่อน สามารถทำได้ การรับประทานฮอร์โมนจะทำให้ลดอาการที่แสดงออกได้ดีขึ้น จะช่วยในเรื่องอาการทางจิตได้มาก ส่วนอาการทางร่างกายจะยังคงมีอยู่ การรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือนอาจจะมีผลต่อกระเพาะอาหารได้เมื่อรับประทานไปนาน ๆ อาการที่ผู้หญิงสามารถทนได้ก็จะไม่ไปพบแพทย์ แต่ถ้าทนไม่ได้ (ประมาณ 10-20%) ถึงจะไปหาหมอ หรือถ้าบางคนที่คิดว่ารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รบกวนการทำงานก็จะไปพบแพทย์ โดยปรกติถ้าทนไม่ได้อาจจะได้รับยาบางอย่าง แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการคิดค้นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดใหม่ขึ้นมา กรณีนี้ยาจะช่วยรักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนในผู้หญิงที่มีอาการมากและไม่มากได้ โดยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนี้เพียงชนิดเดียวได้โดยไม่ต้องรับประทานยาในกลุ่มจิตเวช ซึ่งจะทำให้ไม่ติดยากลุ่มที่ใช้ในภาวะซึมเศร้า"
ข้อมูลจากการศึกษาในผู้หญิงไทย พบว่ามีอาการต่าง ๆ ดังนี้ (จำนวน 400 คน) 


         อาการทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย พฤติกรรมการรับประทานเปลี่ยนไป โมโหร้าย อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง และเครียด ส่วนอาการ ทางร่างกาย เช่น ปวดท้อง คัดตึงเต้านม ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ท้องอืด และนอนไม่หลับ ด้านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ที่ได้รับผลกระทบจากอาการ PMS เช่น ประสิทธิภาพในการทำงาน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบ้าน คู่รัก ครอบครัว เพื่อน และผู้ร่วมงาน และกิจกรรมทางเพศ ปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลาย ในการบำบัดอาการก่อนมีประจำเดือน และเนื่องจากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน จึงมีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้วิธีรักษาด้วยฮอร์โมนในยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อลดอาการก่อนมีประจำเดือน เพื่อให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดรักษา ซึ่งการรักษาด้วยยาในปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับมีอยู่ 3 วิธีคือ การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งช่วยลดอาการผิดปรกติต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ในช่วงก่อนมีประจำเดือน การใช้ยาลดความกังวล ซึ่งใช้เป็นประจำหรือใช้ในช่วง 14 วันก่อนมีรอบเดือน และการใช้ยาแก้ปวด ซึ่งสามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อหรือปวดหัวในระดับที่ไม่รุนแรงได้ แต่ไม่สามารถรักษาอาการทางร่างกายและอารมณ์ขั้นรุนแรงได้
ศ. นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ผู้หญิงไทยในวัย เจริญพันธุ์ 95% มีอาการก่อนมีประจำเดือนอย่างน้อยหนึ่งอาการ และ 1 ใน 3 ของผู้หญิงเหล่านี้ ความรุนแรงของอาการอาจมีมากขึ้น และมีอาการร่วมกันมากกว่า 2-3 อาการขึ้นไป เช่น หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน หดหู่ นอกจากนั้นยังพบว่าร้อยละ 10 ของผู้หญิงกลุ่มนี้มีอาการอยู่ในขั้นรุนแรง หรือ PMDD ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างทั้งเพื่อนร่วมงานและครอบครัว และมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน แต่กลับมีผู้หญิงไทยเพียงร้อยละ 10 ที่รู้จักและเข้าใจถึงอาการ PMS และยิ่งถ้าเป็นอาการ PMDD จะยิ่งรู้จักกันน้อยมาก"


           "ผู้ที่มีอาการ PMS และ PMDD จะถูกรบกวนอย่างมากจากอาการผิดปรกติต่าง ๆ ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ ถ้าเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่น ก็อาจเป็นทุกรอบเดือน รอบละประมาณ 4-5 วัน ถ้าคำนวณตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ก็จะมีจำนวนวันที่ต้องทนทรมานจากอาการเหล่านี้สูงถึง3-5 ปีทีเดียว สำหรับอุบัติการณ์และข้อมูลในประเทศไทยยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งเมื่อเกิดอาการในผู้หญิงแล้วมักจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากลุ่มอาการ PMS และ PMDD นั้นมีอุบัติการณ์สูงในผู้หญิงไทยที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์และวัยทำงาน ซึ่งแม้จะมีอุบัติการณ์สูงแต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมากนัก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ดังนั้น ผู้หญิงและแพทย์จึงควรหันมาให้ความสนใจมากขึ้น จากข้อมูลที่พบยังระบุอีกด้วยว่า อาการ PMDD สามารถติดต่อทางพันธุกรรมได้ เช่น เมื่อแม่เป็น ลูกสาวก็มักจะเป็น"
จะสังเกตได้ว่าความรุนแรงของอาการก่อนมีประจำเดือน ไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วไป ถึงแม้ว่าจะพบได้ในผู้หญิงโดยทั่วไปก็ตาม แต่หากเมื่อความรุนแรงมีมากขึ้นจนเข้าสู่ช่วงอาการ PMDD ที่มีความรุนแรงมากแล้ว การรักษาทางกายเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอ ตรงนี้เองที่การรักษาทางด้านอารมณ์หรือทางจิตใจ รวมทั้งการทำความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยในการบำบัดรักษาให้ดีขึ้น 
         

            เพราะฉะนั้นแล้วการที่คุณผู้หญิงเกิดอาการปวดท้องน้อย ปวดหัว ปวดหลังหงุดหงิด รำคาญใจ ก็อย่ามองข้ามวิธีการรักษาไปเด็ดขาด

ขอบคุณ    https://www.medicthai.com    สำหรับข้อมูลนะคะ


rinae

rinae

เหงา แต่ไม่หงอย

FULL PROFILE