10 เคล็ดลับ ช็อปของเซลล์ให้คุ้มค่า (หยุดคลุ้มคลั่ง)

17 2

สวัสดีจ้าาาาา “นักสืบดอกจัน” กลับมาแล้ววว และคงไม่ช้าเกินไปที่จะสวัสดีปีใหม่ สาวๆ จีบัน สาเหตุที่มาช้าก็เพราะต้องหลบไปรักษาแผลให้กระเป๋าสตางค์ใบงาม ที่ถูกฉีกกระจุย หลังจากช็อปกระจายในมหกรรมลดราคาช่วงปลายปีอย่างสนุกสนาน เพลิดเพลินมากตั้งแต่ 11.11 ไปจนถึง 12.12 แต่ตอนบิลบัตรเครดิตมานี่หน้ามืดเหมือนจะเป็นลม... นี่ชั้นทำอะไรลงไป 

จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่แค่เทศกาล Sale ในช่วงปลายปีที่ทำร้ายกระเป๋าเงิน เพราะถ้าย้อนไปดูตั้งแต่ต้นปีก็ช็อปมาตลอดๆ (เขินจุง) ก็เดี๋ยวนี้มีงาน Sale กันทุกเดือน ไม่ว่าจะ Midnight, Mid Year หรือ Year End แล้วก็มี End of Season แถมยังมีโปรโมชั่นตามเทศกาล ไหนจะตรุษจีน วาเลนไทน์ และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งในห้างและในออนไลน์แต่ไม่ว่า จะ Sale ในเทศกาลอะไร ถ้าเป็นห้างสรรพสินค้าจะเห็น “ลดสูงสุด 70%” แต่ส่วนใหญ่ก็จะลดราคาประมาณ 30% จากราคาปกติ บวกกับโปรโมชั่นบัตรเครดิต ที่  On Top ไปอีก 10-20% แต่ถ้าเป็นออนไลน์ จะได้เห็นลดสูงสุด 90% แถมโปรโมชั่น คูปองส่วนลด และ CODE ลับ

นี่ยังไม่ได้นับเลยว่า เจ็บปวดไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า “SALE” และการช็อปแบบไม่ได้วางแผน เพราะฉะนั้นหลังจากรักษาแผลเรียบร้อยแล้วก็บอกกับตัวเองทันทีว่า เทศกาล Sale ปีนี้ พี่จะไม่พลาด และก็จะไม่ยอมให้สาวๆ จีบันพลาดเหมือนกัน เพราะเรารู้ว่า ใครจะอดใจได้กับป้าย Sale ยิ่งลดกระหน่ำแบบ 80-90% ยิ่งทำให้ใจละลาย

ปีนี้เราจะมาวางแผนการช็อปของเซลแบบคุ้มค่ากัน

1. ลิสต์รายการของที่อยากได้ปีนี้อยากได้อะไร อยากซื้ออะไร จดรายการเอาไว้ได้เลย จะมากจะน้อยแค่ไหนก็ได้ไม่มีใครว่า  เพราะนี่คือ Wish List  หรือ “เป้าหมาย” ที่มีไว้พุ่งชน แต่ถ้าจะให้ดี ต้องไม่บอกแค่ว่าอยากได้อะไร ระบุให้ชัดๆ ไปเลยว่า ยี่ห้ออะไร รุ่นไหน ราคาเท่าไร อาจจะ save รูปเก็บไว้เป็นอัลบั้มในโทรศัพท์มือถือ

2. ทำการบ้าน หลังจากมีลิสต์รายการของที่อยากได้แล้ว ก็ต้อง “ทำการบ้าน” ค่ะ เพื่อให้เราซื้อของได้ในราคาที่ถูกจริงๆ ก็ต้องเช็คว่า “ราคาปกติ” ของของชิ้นนั้นอยู่ที่เท่าไร ใช้เวลาว่างๆ ที่ยังไม่ถึงเทศกาล Sale ให้เป็นประโยชน์ อาจจะไปเดินสำรวจตลาดตามห้างฯ หรือ ท่องเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อดูว่า แต่ละร้านตั้งราคาไว้เท่าไร แต่ๆๆๆๆ สำคัญมาก ในขั้นตอนนี้ ขอแค่ดูอย่าเพิ่งใจร้อนไปสอยมาซะก่อน เดี๋ยวจะเสียแผน

3. กำหนดงบประมาณ และเตรียมเก็บเงิน เมื่อรู้ราคาปกติของทุกสิ่งใน Wish List เรียบร้อยแล้ว เราจะมี “กำหนดราคาเป้าหมาย” เพื่อเตรียมงบประมาณสำหรับซื้อของ Sale ในปีนี้กัน ราคาเป้าหมาย หรือ ราคาที่เราคาดว่าจะสามารถซื้อได้จากเทศกาล Sale อาจจะดูจากราคา Sale ในปีที่แล้ว หรือ ประเมินด้วย “ใจ” ว่า ต้องลดราคาลงไปเท่าไหร่เราถึงจะซื้อ ซึ่งโดยทั่วไปก็น่าจะต้องลดลงไปไม่น้อยกว่า 30% ของราคาปกติ เพราะฉะนั้น ถ้าของชิ้นไหนลดราคาไม่ถึง 30% เราจะไม่ซื้อเมื่อได้ราคาเป้าหมายของทุกสิ่งใน Wish List มาแล้ว เราจะรู้ว่า ปีนี้เราจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ไปกับของ Sale ถ้ารวมๆ แล้วคิดว่ามากไป ก็อาจจะลดราคาเป้าหมาย หรือ ตัดรายการบางอย่างออกไป เพราะนี่จะเป็น “งบประมาณ” สำหรับปีนี้ มีงบประมาณแล้ว แต่ยังไม่มีเงินก็ต้องเริ่มเก็บเงิน จะหยอดกระปุกรายเดือนแล้วรอไปซัดตู้มเดียวตอนปลายปีก็ได้ หรือ ถ้าอดใจไม่ไหวก็เก็บเงินไล่ซื้อไปตามลำดับตามความอยากได้ หรือ ตามความสำคัญ อาจจะเป็นเดือนละ 1 ชิ้น งาน Sale ละ 1 อย่าง 

4. อดทนรอวันลดราคา แทนที่จะซื้อเปะปะตลอดปี ปีนี้เราจะอดใจไว้รอไปซื้อในงาน Sale เท่านั้น ถ้าไม่ Sale เราจะไม่ซื้อ มันอาจจะยากซักนิด แต่เชื่อเถอะค่ะว่า ราคาที่ซื้อในงาน Sale มันจะคุ้มค่าการรอคอยแต่บางทีเมื่อเจอโปรโมชั่นเด็ดๆ โดนๆ ที่ไม่ใช่มหกรรมงาน Sale แต่ราคาลดลงมาถึง “ราคาเป้าหมาย” ก็คว้าไว้ได้เลย เพราะนี่คือ ข้อดีของการกำหนดราคาเป้าหมาย การตั้งงบประมาณ และเริ่มลงมือเก็บเงินทันที ทำให้ไม่เสียโอกาส 5. เทียบราคาหา Deal ที่ดีที่สุดพอถึงวันลงสนามจริงๆ เข้าสู่เทศกาล Sale ก็อย่างเพิ่งวู่วาม เจอป้าย Sales แล้วโดดเข้าใส่ทันที แต่ให้ใจเย็นๆ ไม่ต้องหวังว่าจะไปทำลายสถิติ “การสั่งซื้อที่รวดเร็วที่สุด” เมื่อปี 2560 ที่ใช้เวลาน้อยกว่า 8 วินาที เพราะเราจะค้นหา Deal ที่ดีที่สุด  ถ้าเป็นการช็อปออนไลน์ จะค้นหา Deal ที่ดีที่สุดได้ง่ายมาก เพียงแค่ถูกใจให้ “หยิบในตะกร้า” เอาไว้แล้วค่อยมาตัดสินอีกที ในเทศกาล Sale ออนไลน์ บางร้านตั้งราคาโอเวอร์มากๆ แล้วก็หลอกให้หลงว่าเป็น Best Deal เพราะลดราคา 80-90% ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะลดไปนิดเดียว แต่ถ้าเราทำการบ้านมาอย่างดี จะไม่มีทางโดนลวงแน่นอน 

6. อ่านรีวิว เชื่อได้เลยว่า สาวๆ จีบันจะไม่พลาด การอ่านรีวิวสินค้า รวมทั้งร้านค้า ก่อนจะตัดสินใจซื้อ แต่ถ้าให้ดีแนะนำให้ตัดออกไป 2 ความเห็น คือ ความเห็นที่ดีที่สุด ความเห็นที่แย่ที่สุด แล้วประมวลจากความเห็นส่วนใหญ่น่าจะได้ความจริงมากที่สุด 

7. อย่าลืม On Topในงาน Sale แทบทุกงาน ทั้งในออนไลน์ และ ออฟไลน์ จะต้องมี On Top ให้ได้ลดราคามากขึ้นไปอีก ซึ่งอาจจะเป็น On Top จากบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ อาจจะเป็น คูปองลดราคา หรือ CODE ซึ่งเมื่อบวกๆ กันเข้าไปแล้ว จากของถูกก็จะกลายเป็นถูกม้ากกกก

8. อย่าลืมบวกค่าส่ง ข้อนี้สำหรับนักช็อปออนไลน์โดยเฉพาะ เพราะสินค้าออนไลน์มักจะมีค่าจัดส่ง บวกเพิ่มเข้าไปอีก แต่ก็มีบางร้านค้า ที่ไม่คิดค่าส่ง ถ้าซื้อไม่ต่ำกว่ายอดที่กำหนดไว้ หรือ มีโปรโมชั่นไม่คิดค่าส่งก็น่าสนใจ เพราะบางทีพอบวกค่าจัดส่งเข้าไปแล้วจากของถูกก็กลายเป็นของแพงไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงค่าส่งด้วยทุกครั้ง 

9. ห้ามออกนอกลิสต์อุตส่าห์นั่งทำ Wish List สำรวจราคา กำหนดงบประมาณ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาลงสนามต้องทำใจแข็งไม่ออกนอก List หรือ จ่ายเงินงบที่ตั้งไว้ ยิ่ง พวก Flash Sale ลดราคานาทีทอง ยิ่งต้องระวัง เพราะทำให้เผลอใจได้ง่ายมาก และถ้าเผลอใจไปแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่ซื้อมาแล้ว ต้องมาถามตัวเองอีกทีว่า “นี่กรูซื้อมาทำไมวะ” เพราะฉะนั้นอะไรที่อยู่นอก List ก็ตัดอกตัดใจไปบ้าง เพราะแปลว่า เราไม่ได้อยากได้มันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และของถูกจะกลายเป็นของแพงทันที ถ้าซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ 

10. เหลืองบไว้โค้งสุดท้ายปลายปีบ้าง แม้ว่า มันอาจจะยากกว่าจะผ่านเทศกาล Sale แต่ละงานมาได้โดยไม่บาดเจ็บ แต่แนะนำให้เหลือ “กระสุน” ไว้รับศึกสุดท้ายของปีบ้าง เพราะโดยมากแล้วในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี จะเป็นช่วงที่ “ลดหนักมาก” สังเกตได้จากปีที่แล้ว ที่ “11.11 Sale” ว่าถูกแล้ว แต่ “12.12 Sale” มีถูกกว่า และพวกของลดราคาที่มีจำนวนจำกัด ก็ไม่มีคู่แข่งมาแย่งชิงมากนัก (เดาว่า ส่วนใหญ่คงหมดงบกันไปตั้งแต่ 11.11 Sale กันแล้ว)

แต่ถ้าทำยังไงก็ช็อปของถูกไม่ทันสักทีก็ไม่เป็นไร รองาน Sale ครั้งหน้ายังมี เพราะ “เสียดายไม่ได้ซื้อ” ยังดีกว่า “เสียเงินซื้อแล้วไม่ได้ใช้” นะคะ


DokChanMoney

DokChanMoney

FULL PROFILE