รวมจุดประทับใจที่ไม่อยากให้พลาด ในนิทรรศการพระเมรุมาศพิมานนฤมิต

11 9

รวมจุดประทับใจที่ไม่อยากให้พลาด ในนิทรรศการพระเมรุมาศพิมานนฤมิต ที่ #ครั้งหนึ่งในชีวิต ต้องไปชม เปิดตั้งแต่วันที่ 2 - 30 พ.ย. 60 เวลา 7.00-22.00 น. นะคะ

นิทรรศการ “พระเมรุมาศพิมานนฤมิต" เปิดให้ชมแบบอิสระ บริเวณพระเมรุมาศ ส่วนนิทรรศการภายในอาคารลูกขุน ทั้งหมด 7 นิทรรศการ มีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรคอยให้ข้อมูล แต่ถ้าอยากดูให้ครบภายใน 45 นาที - 1 ชั่วโมง แนะนำให้แบ่งเวลาชมนิทรรศการอาคารละ 5-6 นาที หรือกลับมาชมนิทรรศการในรอบถัดไป ช่วงเช้ากับช่วงค่ำมีความงดงามที่แตกต่างกันไป

แต่งกายด้วยชุดสุภาพ เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี รองเท้าหุ้มส้น ถ่ายภาพด้วยความสำรวม งดใช้ไม้เซลฟี่ ไม่แตะต้อง ไม่ดึงเด็ดเหยียบดอกไม้ ทิ้งขยะให้ถูกที่ แสดงบัตรประชาชน ก็จะได้รับแผ่นพับที่ระลึก นั่งรอที่เต้นท์ด้านหน้าพระเมรุมาศ ผู้สูงอายุและผู้พิการ มีทางลาดอำนวยความสะดวก มีนิทรรศการที่ออกแบบเพื่อคนตาบอดโดยเฉพาะ แต่ก่อนไป เรามาวางแผนกันก่อนค่ะ

ช่วงเวลา 1 ชั่วโมงแห่งความทรงจำ ใครที่จะไปชมนิทรรศการฯ อย่าลืมแบ่งเวลาให้ดี เพราะถ้าห่วงถ่ายรูป เห็นทีจะหมดเวลาชื่นชมงานศิลปะระดับชาติ ที่นอกจากพระเมรุมาศ ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจในอาคารโดยรอบ ดังนั้นอย่าลืมวางแผนก่อนเข้าชม 

นิทรรศการภายในอาคารลูกขุน

1. สมมติเทวพิมาน : สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ2. ณ วิธานสถาปกศาลา : จากแบบขยายสู่การก่อสร้าง3. ประติมาสร้างสรรค์ : งานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ4. สวรรค์บรรจงวาด : ฉากบังเพลิงและจิตรกรรมฝาผนังโครงการพระราชดำริ5. ยาตรากฤษฎาธาร : การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ6. ตระการวิจิตรศิลปกรรม : งานประณีตศิลป์ในพระราชพิธี7. นำสัมผัสพระสุเมรุ : นิทรรศการสัมผัสเพื่อผู้พิการทางสายตา8. นิทรรศการ พระผู้ทรงเป็นนิรันดร9. ภูมิทัศน์แปลงนา10. จุดรอเข้าชมพระเมรุมาศ

ฟังเสียงกริ่งสัญญาณเตือนหมดใกล้หมดเวลาชมนิทรรศการในแต่ละรอบ

นิทรรศการ “พระเมรุมาศพิมานนฤมิต (การสร้างสรรค์พระเมรุทองอันเสมือนพระวิมานที่ยิ่งใหญ่) สรรพศาสตร์ ศิลป์พร้อม น้อมถวายพระราชาผู้ทรงธรรม” เป็นนิทรรศการเล่าเรื่องราวเบื้องหลังและขั้นตอนการทำงาน การจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ และงานบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ซึ่งจัดแสดงอยู่ภายในศาลาลูกขุน 6 หลัง และทับเกษตร 1 หลังประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้ค่ะ 

สมมติเทวพิมาน : สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศเล่าเรื่องแนวคิด คิตความเชื่อเกี่ยวกับการก่อสร้างพระเมรุมาศที่สืบทอดมาจากสมัยสุโขทัย อยุธยา สู่รัตนโกสินทร์  และอธิบายการพัฒนารูปแบบทางสถาปัตยกรรมและความหมายที่เป็นต้นแบบของพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๙  และสิ่งก่อสร้างประกอบทั้งภายในและภายนอกมณฑลพิธี อย่างผังบริเวณมณฑลพิธี, เส้นทางริ้วขบวน, พระเมรุมาศและพระจิตกาธาน

นอกจากแบบจำลองพระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ที่อาคารแรกยังรวมภาพพระเมรุมาศแบบต่างๆ มากมายที่มีมาแต่โบราณ รวมถึงแนวคิดและคติความเชื่อของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยด้วย

วิธานสถาปกศาลา : จากแบบขยายสู่การก่อสร้าง เล่าเรื่องขั้นตอนการออกแบบสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ โดยมีการจำลองบรรยากาศวิธานสถาปกศาลาแบบเท่าจริง พร้อมทั้งจัดแสดงชิ้นส่วนวัสดุ อุปกรณ์ องค์ประกอบและงานตกแต่งอาคารชั่วคราว และมีวีดิทัศน์ฉายภาพลำดับการก่อสร้างในพื้นที่สนามหลวงตั้งแต่เริ่มวางฐานรากจนถึงการประกอบติดตั้งแล้วเสร็จ

อาคารนี้จะมีแบบร่างโครงสร้างพระเมรุมาศและสิ่งประกอบต่างๆ โดยรอบ มี VDO Time-lapse การสร้างพระเมรุมาศ ตั้งแต่วันแรกจนแล้วเสร็จไว้ให้ดูด้วยนะคะ 

ถ้าอยากรู้ว่าพระเมรุมาศมีวิธีการขึ้นโครง สร้าง และตกแต่งยังไง ให้มาที่อาคารนี้เลยค่ะ บอกเลยว่าเป็นอีกจุดที่ห้ามพลาดมากๆ

และนี่คือแบบร่างพระเมรุมาศค่ะ ละเอียดมากๆ โดยทั่วไปเราคงเห็นเวลาออกแบบตึกหรือสถานที่ต่างๆ ก็ใช้การร่างแบบย่อส่วน 

แต่ทุกคนต้องทึ่งแน่ๆ ถ้าเราบอกว่าการเขียนแบบพระเมรุมาศนั้น จริงๆ แล้ว“เขียนแบบเท่าขนาดจริง” ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “อากาศกิน” คือการที่ปลายยอดแหลมของสถาปัตยกรรมไทย ดูเล็กลีบกว่าของจริง ทำให้ดูไม่สมส่วนได้ ทำให้การสร้างพระเมรุมาศในครั้งนี้ ต้องวาดแบบเท่าขนาดจริงเป๊ะๆ เลย 

ใครอยากเห็นบางส่วนของแบบร่างนี้ มาดูได้ที่นี่เลยค่ะ

นอกจากตัวพระเมรุมาศแล้ว ก็มีแบบร่างพระบรมโกศ และตัวอย่างชิ้นส่วนลวดลายแกะสลักสำหรับส่วนต่างๆ โชว์อยู่ในนิทรรศการนี้ด้วยค่ะ แต่ละส่วนมีลายไทยที่ละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันไป งานฝีมือมากกกกก ลายละเอียดสุดๆ เลยค่ะ

ประติมาสร้างสรรค์ : งานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ในส่วนนี้จัดแสดงลำดับขั้นตอนการจัดสร้างงานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ที่ร่วมสร้างโดย สำนักช่างสิบหมู่กับช่างกลุ่มต่างๆ อีกทั้งจิตรกรจิตอาสาที่มาร่วมกันเขียนสีประติมากรรมในครั้งนี้ด้วย

ห้องนี้ รวมประติมากรรมประดับประเมรุมาศ มีทั้งสัตว์หิมพานต์ พญาครุฑ พญานาค และเทวดาที่รายล้อมอยู่รอบๆ เอาไว้ค่ะ ก่อนจะมาเป็นรูปปั้นนี้ ก็จะต้องขึ้นรูปจากแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ แต่อันไหนที่มีความละเอียดมากๆ ก็จะต้องขึ้นแม่พิมพ์ยางเพื่อเก็บดีเทลค่ะ

และที่นี่ มีตัวอย่างแม่พิมพ์ยางให้เราดูกันด้วยนะคะ

ด้านหลังของอาคารจะมีรูปปั้น แล้วก็ภาพแบบร่างก่อนขึ้นรูปจริงอยู่บนกระดานด้านหลังด้วยค่ะ

สวรรค์บรรจงวาด : ฉากบังเพลิงและจิตรกรรมฝาผนังโครงการพระราชดำริ เป็นพื้นที่จัดจำลองภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงทั้งสี่ด้านของพระเมรุมาศ เพื่อให้ทุกคนได้ชื่นชมรายละเอียดที่งดงาม และจัดสร้างจิตรกรรมเรื่องโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ติดตั้งบนผนังขนาดใหญ่สามผนังบนพระที่นั่งทรงธรรม ตลอดจนจัดแสดงเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ในการดำเนินงาน

ฉากบังเพลิงบนพระเมรุมาศ ใช้วิธีร่างภาพและลงสีบนต้นแบบ ก่อนขยายลงบนผืนผ้าใบ จากนั้นติดทองคำเปลวและตัดเส้นด้วยลวดลาย ก่อนผนึกเข้าฉากบังเพลิง

ที่นี่จะมีฉากบังเพลิงอยู่หลายแบบ เนื่องจากแต่ละด้านก็มีลายต่างกันไปค่ะ เราสามารถเข้าไปเดินชมฉากบังเพลิงได้แบบใกล้ชิดเลย

ยาตรากฤษฎาธาร : การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ เป็นส่วนที่จัดแสดงเรื่องราวการทำงานในส่วนของการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศที่ใช้ในพระราชพิธี รวมทั้งราชรถ ราชยานที่สร้างขึ้นใหม่ในครั้งนี้ ได้แก่ ราชรถปืนใหญ่และพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมศิลปากร กรมสรรพาวุธทหารบก และกรมอู่ทหารเรือ รวมทั้งได้แรงสนับสนุนจากจิตอาสาที่เข้ามาช่วยงานในหลายๆ ส่วน

เชือกสองเส้นนี้ คือเชือกที่ใช้ฉุดชักราชรถค่ะ โดย อันบน คือเชือกมะนิลา จะมีความแข็งแรงมาก เมื่อก่อนใช้ฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถที่มีน้ำหนักกว่า 14 ตัน 

ส่วนด้านล่าง เป็นเชือกเปอร์ล่อน ใช้ฉุดชักราชรชองค์อื่นๆ ค่ะ

นี่คือสายรัดพระวิสูตรประดับพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งเป็นการใช้สายรัดพระวิสูตรครั้งแรกด้วยค่ะ ที่ปลายสายรัด เป็นพู่ห้อยที่ทำจากปีกแมลงทับของจริง เหลือบแสงสวยมากๆ เลยค่ะ

ตระการวิจิตรศิลปกรรม : งานประณีตศิลป์ในพระราชพิธีเป็นพื้นที่จัดแสดงงานประณีตศิลป์ในพระราชพิธี ประกอบด้วยการเล่าเรื่องขั้นตอนการจัดสร้างพระโกศจันทน์ ฟืนไม้จันทน์ ช่อไม้จันทน์ รวมถึงพระโกศทรงพระบรมอัฐิทองคำลงยา ซึ่งครั้งนี้กรมศิลปากรและสถาบันสิริกิติ์ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น รวม ๖ องค์ และยังมีการจัดแสดงแบบเครื่องสังเค็ดและตัวอย่างงานเครื่องสดที่จัดทำขึ้นสำหรับงานพระราชพิธีในครั้งนี้ด้วย

กรองดอกรัก และกรองดอกไม้ ฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้ประดับยังชั้นยอดบนสุดของพระจิตกาธาน สังเกตได้จากรอยไหม้ที่เกิดขึ้น

กรองดอกรัก ฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้ประดับยังชั้นยอดบนสุดของพระจิตกาธาน

กรองดอกไม้ ฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้ประดับยังชั้นยอดบนสุดของพระจิตกาธาน สังเกตได้จากรอยไหม้ที่เกิดขึ้น

นำสัมผัสพระสุเมรุ : นิทรรศการสัมผัสเพื่อผู้พิการทางสายตาสัมผัสได้นิทรรศการนี้จัดแสดงอยู่ที่ทับเกษตร จัดพิเศษเพื่อผู้พิการทางสายตาให้ผู้พิการได้มีโอกาสสัมผัสโมเดลจริง แทนการมองด้วยตา โดยจะมีผังบริเวณมณฑลพิธีแบบนูนต่ำ พระเมรุมาศจำลองขนาดย่อส่วน องค์ประกอบและวัสดุอาคารขนาดเท่าจริง รวมทั้งงานประติมากรรมเทวดา และสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุมาศมาให้ได้ลองสัมผัส รวมทั้งมีเสียงบรรยายเพื่อเสริมเพื่อทำความเข้าใจ  ทั้งภาพรวมและรายละเอียดของงาน

นิทรรศการเดียวที่สัมผัสประติมากรรมได้ เพื่อให้ผู้พิการได้มีโอกาสสัมผัสของจริงแทนการมองด้วยตา อาทิ เทวดา สัตว์หิมพานต์ โดยมีอาสาสมัครนำชมและจัดทำซีดีเสียงบรรยายนิทรรศการสำหรับผู้พิการทางสายตา ส่วนผู้พิการทางการได้ยิน มีจิตอาสานำชมด้วยภาษามือ

นิทรรศการพระผู้ทรงเป็นนิรันดร์

นิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” ณ พระที่นั่งทรงธรรม มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

แบ่งเป็น 5 หัวข้อ 

1. เมื่อเสด็จอวตาร 

2. รัชกาลที่ร่มเย็น 

3. เพ็ญพระราชธรรม 

4. นำพระราชไมตรี 

5. พระจักรีนิวัตฟ้า

ภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าพระเมรุมาศ สะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 อันเนื่องมาจาก โครงการพระราชดำริ เช่น พันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก กังหันชัยพัฒนา ฝายน้ำล้น ส่วนนาข้าวจะมีขอบคันนาออกแบบเชิงเป็นเลขเก้าไทย

ทั้งหมดนี้ก็คือจุดประทับใจที่เราไม่อยากให้พลาด ในนิทรรศการพระเมรุมาศพิมานนฤมิต ที่ #ครั้งหนึ่งในชีวิต ต้องไปชม

ข้อปฏิบัติในการเข้าชมนิทรรศการการแต่งกายด้วยชุดสุภาพเรียบร้อย (อย่าลืมนำบัตรประชาชนมาด้วย)

  • สุภาพบุรุษ สวมเสื้อมีแขน (ไม่บาง ไม่รัดรูป) กางเกงขายาว (ไม่สวมกางเกง ยีนส์ฟอก ขาดวิ่น หรือรัดรูป) สวมรองเท้าแบบสุภาพ ไม่สวมรองเท้าแตะ
  • สุภาพสตรี สวมเสื้อมีแขน (ไม่บาง ไม่รัดรูป ไม่เอวลอย) สวมกระโปรงยาวคลุมเข่าหรือกางเกง      ขายาวทรงสุภาพ (ไม่สวมกางเกง ยีนส์ฟอก ขาดวิ่น ไม่บาง ไม่รัดรูป) สวมรองเท้าแบบสุภาพ        ไม่สวมรองเท้าแตะ
  • นักเรียน นิสิต นักศึกษา สวมเครื่องแบบตามที่ราชการกำหนด
  • กลุ่มชาติพันธุ์ สวมชุดพื้นถิ่น

สิ่งทีต้องระวังระหว่างชมนิทรรศการ

  • ไม่แตะต้อง หรือสัมผัสพระเมรุมาศตลอดจนสิ่งที่นำมาจัดแสดง
  • ไม่ดึง เด็ด เหยียบ หรือสร้างความเสียหายแก่ไม้ดอก ตลอดจนพันธุ์พืชภายในงาน
  • ถ่ายรูปในพื้นที่ที่กำหนดไว้
  • ทิ้งขยะในบริเวณที่จัดให้เท่านั้น

มรหสพหน้าพระเมรุมาศ

นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าพระเมรุมาศยังจัดแสดงมรหสพ และการแสดงพื้นเมืองแต่ละภาค เช่น

  • การแสดงละครในเรื่องอิเหนา 
  • เรื่องพระมหาชนก 
  • การแสดงเรื่องพระสุธนมโนราห์       
และการแสดงชุดต่าง ๆ ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน เช่น การแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค ลิเก เวลา 18.00 - 22.00 น.  

นอกจากนี้ ในทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ จะมีการแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม 8 ครั้งในตอนต่าง ๆ จะเริ่มแสดงครั้งแรกในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ในตอนพระนารายณ์ปราบนนทก ส่วนเวทีด้านนอกฝั่งทิศเหนือ จัดให้มีมรสพแสดงตลอดทั้งเดือนใน 2 ช่วงคือ

  • ช่วงแรกเวลา 18.00-19.30 น. 
  • ช่วงที่ 2 เวลา 20.00-22.00 น.
รวมทั้งมีการประโคมดนตรีวันละ 10 วง บริเวณศาลาลูกขุนเวลา 08.00 - 17.00 น. ทั้งจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และหน่วยงานต่างๆ  ด้วย

การเดินทาง

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) จัดรถโดยสารให้บริการฟรี จากจุดต่างๆ มายังท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 05.00-23.00 น. จำนวน 60 คันต่อวัน  ใน 6 เส้นทาง ได้แก่

1. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 2. สถานีรถไฟหัวลำโพง 3. วงกลมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 4. สถานีขนส่งเอกมัย 5. สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ 6. สถานีขนส่งหมอชิต ด้านกองทัพเรือให้บริการเดินเรือ 

ตั้งแต่ 06.00-22.00น. ที่ท่านิเวศน์วรดิฐ และท่าราชนาวิกสภา และได้ประสานกรมเจ้าท่าขอความร่วมมือผู้ให้บริการเรือด่วน เรือเมล์ขยายเวลาให้สอดคล้องกับการจัดนิทรรศการตั้งแต่ 05.00-22.30 น. โดยนอกจากเปิดให้ชมนิทรรศการพระเมรุมาศในท้องสนามหลวงแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมยังเปิดให้ประชาชนเข้าชมโรงราชรถและพระยานมาศ ซึ่งจัดแสดงราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ อีกด้วย


tarnnn

tarnnn

แต่งหน้าไม่เก่ง แต่เราเป็นสายอุปกรณ์ ว่างๆ ก็ช็อปปิ้งคลายเครียด ล้มละลายได้ทุกวันเพราะเราคือ Jeban team

FULL PROFILE