9 สิ่งที่ในหลวง ร.9 คิด เปลี่ยนชีวิตคนไทย

16 4

ชวนสาวๆ ย้อนดู 9 สิ่งที่ในหลวง ร.9 คิด เปลี่ยนชีวิตคนไทย ในวันเทคโนโลยี 19 ตุลาคม ของทุกปี กับความภาคภูมิใจที่เรามีกษัตริย์ที่ทรงเป็น พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายพระราชกรณียกิจที่อยู่ในใจคนไทยทุกคน 

1. ฝนหลวงภาพเครื่องบินโปรยสารเคมีเติมความชื้นในอากาศให้กับพื้นที่ขาดน้ำ เป็นอีกหนึ่งความห่วงใยของพระองค์ที่ทรงแก้ปัญหาความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงน้ำในภาคการเกษตรนอกฤดูฝน ด้วยพระอัจฉริยภาพที่ทรงปรับใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี วัดค่าความชื้นทิศทางลม และเติมสารเคมีให้หมู่เมฆมารวมตัวกันกลั่นเป็นเม็ดฝน สร้างความชุ่มฉ่ำและชุ่มชื่นใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ

2. กังหันน้ำชัยพัฒนาจากปัญหาน้ำเสียเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ พระองค์จึงทรงคิดดัดแปลง "กังหันน้ำสูบน้ำทุ่นลอยเพื่อบำบัดน้ำเสีย ด้วยวิธีการหมุนปั่นเติมอากาศให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี พัฒนาแหล่งน้ำกินน้ำใช้ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจนให้กับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร จนได้รับการจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย และคว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์จากทั่วโลก ในชื่อ กังหันน้ำชัยพัฒนานับว่าพระองค์เป็นกษัตริย์นักประดิษฐ์โดยแท้

3. แกล้งดินการเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนราธิวาสเมื่อปี พ.ศ. 2524 ทรงพบว่าดินในพื้นที่พรุที่มีการชักน้ำออก เพื่อจะนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตรนั้น แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัดหรือดินเป็ดกรดทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริหาแนวทางแก้ไขโดยใช้วิธี แกล้งดิน” ด้วยการขังน้ำเอาไว้ในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออก จากนั้นปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้

4. แก้มลิงพระองค์ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2538 จึงทรงนำแนวคิด แก้มลิง มาปรับใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม จากลิงที่เก็บกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้มแล้วค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง เป็นที่มาของโครงการนี้ที่จะเก็บน้ำฝนไว้ก่อน จนกว่าคลองระบายน้ำจะสามารถระบายน้ำได้ จึงค่อยปล่อยน้ำออกไป เป็นทั้งการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำเสียออกจากคลองต่างๆ ด้วย

5. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทยตามแนวพระราชดำริ ร.9 เป็นเขื่อนที่แก้ปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน และการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของคนไทยอีกด้วย

6. ชั่งหัวมันจากพื้นที่แห้งแล้งมากจนปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้นจนคนบอกว่า ชั่งหัวมัน” กลายมาเป็นพื้นที่โครงการตัวอย่างด้านการเกษตร เปิดให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้ ที่บ้านไร่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รวบรวมพันธุ์พืชเศรษกิจไว้หลายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พืชไร่ พืชผักต่างๆ แปลงปลูกข้าว แปลงยางพารา นอกจากนี้ยังมีกังหันลมผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกด้วย นับเป็นการพัฒนาพื้นที่แห้งแล้งให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง 

7. การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ครูตู้)พระองค์ทรงเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีดาวเทียมที่นำมาปรับใช้ควบคู่กับการศึกษาของเด็กไทยได้ ในปี พ.ศ. 2538 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานทุนทรัพย์ 50 ล้านบาท จัดตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครู เปิดโอกาสให้เด็กและประชาชนทั่วไปที่อยู่ห่างไกล สามารถเรียนรู้ผ่านช่องทีวีได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่อีกต่อไป

8. หญ้าแฝกพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาตลิ่งพังจากน้ำกัดเซาะ คนมันจะมองถึงโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยเงินลงทุนสูง แต่พระองค์กลับมองไปที่จุดเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ อย่างการใช้ประโยชน์ “หญ้าแฝก” วัชพืชที่มีส่วนช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ เพราะรากของมันช่วยลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ช่วยเก็บกักตะกอนดินในพื้นที่ลาดชัน และยังช่วยปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดีขึ้น นับเป็นการแก้ปัญหาที่ทำกินได้อย่างยั่งยืน

9. เศรษฐกิจพอเพียงปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต จากพระราชดำรัสแก่ชาวไทย เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปด้วยความพอเพียง และพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง จนองค์การสหประชาชาติได้เชิดชูว่า เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนอีกด้วย

ที่มา : www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com


La Kikiz

La Kikiz

"KiKi" Jeban - Daisy
Lifestyle | Travel | Tech

"Data" is the best way to know you :)

FULL PROFILE