ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านอยากไปร่วมพิธี ต้องทำยังไงดี

20 10

ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลยนะ ถ้าจะต้องพาผู้ใหญ่ในบ้านไปร่วมพระราชพิธี โจทย์นี้บอกเลยว่ายากระดับ 10 เพราะการต้องพาผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ เข้าไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น บอกเลยว่าคิดหนัก แต่ถ้าตั้งใจจะไปร่วมพระราชพิธีจริงๆ ก็ไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคค่ะ มาดูกันดีกว่าว่า ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านอยากไปร่วมพิธี ต้องทำยังไงดี เริ่มต้นจากอะไรเป็นอย่างแรก

1. ถามความต้องการคนที่บ้านให้ชัด

เอาจริงๆ เราต้องถามก่อนนะคะ จะได้เข้าใจตรงกัน เพราะงานถวายพระเพลิงพระบรมศพที่เปิดให้ประชาชนเข้าร่วมได้มี 2 ส่วน

  • ดูริ้วขบวนพระราชพิธี 
ถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ รอบพระบรมมหาราชวัง และท้องสนามหลวง ที่เริ่มเปิดให้จับจองที่นั่งตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. เวลาตีห้า ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านต้องการร่วมในพิธีจริง สิ่งที่ต้องรู้คือ จุดที่เข้าไปจองที่นั่งได้ คือ บริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท , ประตูเทวาภิรมย์ , ท่าเตียน , วัดโพธิ์ , หน้าศาลหลักเมือง และมณฑลพิธีท้องสนามหลวง แต่ที่มองเห็นขบวนชัดที่สุด ไปแล้วไม่เสียเที่ยวแน่นอน คือ ท่าเตียน , ด้านหน้าประตูเทวาภิรมณ์ , วัดโพธิ์ , หน้าศาลหลักเมือง , ด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

  • ถวายดอกไม้จันทน์ 
อันนี้อาจจะง่ายหน่อย เพราะเราสามารถพาผู้ใหญ่ที่บ้านไปเข้าร่วมได้ที่พระเมรุมาศจำลอง 85 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงซุ้มดอกไม้จันทน์ขนาดต่างๆ ที่อยู่ใกล้บ้าน โดยจะเปิดให้ถวายดอกไม้จันทน์ในวันที่ 26 ตุลาคม 60 ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. ในช่วงแรกและ 18.30-22.00 น. ในช่วงที่ 2

พระเมรุมาศจำลองที่ใกล้กับพระราชพิธีมากที่สุด อยู่ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดิม , สวนนาคราภิรมณ์ , ลานพระรูป ร.1 , ลานพระราชวังดุสิต และลานคนเมือง ส่วนอีก 4 แห่งอยู่รอบสี่มุมเมือง ได้แก่ สนามกีฬากองทัพอากาศ ธูปะเตมีย์ , พุทธมณฑล , ไบเทค (Bitec) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (พระเมรุมาศสวนนาคราภิรมย์จะเริ่มถวายดอกไม้จันทน์ เวลา 13.00 น.)

2. วางแผนก่อนเดินทาง

อย่าลืมว่า ระหว่างงานพระราชพิธี มีการปรับเส้นทางจราจร และปิดถนนหลายสาย การเดินทางด้วยรถยนต์อาจไม่สะดวกนัก ยิ่งถ้าต้องเดินทางพร้อมผู้สูงอายุ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรนัดแนะจุดรับส่งล่วงหน้า จะได้ไม่หลง และอย่าลืมติดเข็มกลัดป้ายชื่อ และเบอร์ติดต่อไว้ที่หน้าอก ป้องกันพลัดหลง เพราะเมื่อเข้าไปในพื้นที่มีคนจำนวนมาก อะไรก็เกิดขึ้นได้

3. เลือกเสื้อผ้าไว้ทุกข์ที่คล่องตัว รับกับสภาพอากาศ

การเลือกเสื้อผ้าเพื่อเข้าร่วมพระราชพิธี โดยทั่วไปก็เหมือนกับการแต่งกายเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพนั่นแหละค่ะ ยิ่งสุภาพ ยิ่งให้เกียรติ ที่สำคัญควรเลือกเนื้อผ้าที่ใส่สบายไม่อึดอัด รองเท้าที่ใส่ได้พอดี ไม่บีบรัดจนเจ็บเท้าถ้าต้องใส่เดินนานๆ

  • ผู้หญิง 
เสื้อดำ ไม่รัดรูป งดเสื้อแขนกุดหรือสายเดี่ยว กระโปรงยาวสีดำคลุมเข่า รองเท้าสุภาพ หุ้มส้นสีดำ 
  • ผู้ชาย 
เสื้อดำ เชิ้ตดำ กางเกงดำขายาว งดยีนส์ รองเท้าสุภาพ หุ้มส้นสีดำ 

4. เตรียมของใช้จำเป็นติดกระเป๋า

ถึงแม้ในบริเวณพระราชพิธีจะมีทีมแพทย์ดูแลรอบๆ พื้นที่ แต่ในกระเป๋าของเราก็ควรจะติดของใช้จำเป็นเอาไว้ให้อุ่นใจค่ะ ไม่ว่าจะเป็น พัด เสื้อกันฝน ยาประจำตัว ยาดม ยาหม่อง น้ำ ของว่าง รวมถึงผ้าอ้อมผู้ใหญ่แบบสำเร็จรูป ติดกระเป๋าไว้ในยามฉุกเฉิน เพราะช่วงพระราชพิธีอาจใช้เวลายาวนานหลายชั่วโมง ไม่รวมเวลาเดินทางเข้าออกท่ามกลางผู้คนมากมาย เตรียมไว้ก่อนดีที่สุดค่ะ อย่าลืมเอาของมีคม อย่างกรรไกรตัดเล็บ ออกจากกระเป๋าด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัยค่ะ

5. มองหาห้องน้ำที่ใกล้ที่สุด

ถ้าผู้สูงอายุต้องการเข้าห้องน้ำ และห้องอาบน้ำ ให้ลองมองหาห้องน้ำที่ใกล้ที่สุด บริเวณสวนสาธารณะของ กทม. มีสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างทางลาด และห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการโดยเฉพาะ รวมถึงห้องน้ำ และห้องอาบน้ำในวัด และโรงเรียนรอบสนามหลวงก็เข้าไปใช้ได้เช่นกันค่ะ ส่วนผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น บริเวณพระราชพิธีมีจุดให้มีบริการรถวิลแชร์สำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการด้วยนะคะ 

ถ้าต้องพาผู้ใหญ่ในบ้านไปร่วมงานพระราชพิธี ทำตาม 5 ข้อนี้ก็สบายใจ หายห่วงแล้วค่าา เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ


tarnnn

tarnnn

แต่งหน้าไม่เก่ง แต่เราเป็นสายอุปกรณ์ ว่างๆ ก็ช็อปปิ้งคลายเครียด ล้มละลายได้ทุกวันเพราะเราคือ Jeban team

FULL PROFILE