8 Checklist ต้องรู้ ก่อนกู้เงินซื้อรถคันใหม่ ต้องเตรียมตัว เตรียมใจอะไรบ้าง

18 7

ก่อนไปถึงเช็คลิสต์ ขอคำถามแรก ... ขับรถเป็นมั้ย 555 เฮ้ยยย นี่ไม่ได้กวน** เลยนะ ถามจากประสบการณ์ตรงเลยค่า เพราะนอนกอดใบขับขี่มาหลายปี ต่ออายุไป 3 รอบ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่อยากจะขับรถเองก็มันน่ากลัววววนี่นา ยิ่งตอนสอบใบขับขี่เจอคุณพี่กรมขนส่งฯ เปิดคลิปให้ดูแต่ละอย่าง ขาสั่นไม่กล้าออกถนนเลยค่ะ แต่ที่เห็นในคลิปว่าน่ากลัวแล้ว ยิ่งเจอของจริง โอ๊ยยย คุณขา โหดกว่าในทีวีเยอะเลย สุดท้าย กลับไปโหนรถเมลตามเดิม ^^!สำหรับสาวๆ ที่ใจกล้า สามารถ (ขับรถได้) อยากจะซื้อไว้ซักคัน แต่ไม่แน่ใจว่า จะไหวมั้ย ลองทำเช็คลิสต์อันนี้ดูก่อนจะได้เป็นแนวทางก่อนการตัดสินใจเป็นหนี้... เอ้ย! ตัดสินใจซื้อ

1. จำเป็นมั้ยข้อแรกที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน คือ ทำไมถึงอยากมีรถ ลิสต์มาเลยค่ะว่าเพราะอะไร มีกี่ข้อ มีกี่เหตุผลจดใส่กระดาษไว้ให้หมด แต่ละคนก็มีเหตุผลและความจำเป็นที่แตกต่างกันเมื่อไล่เรียง “ความอยาก” มาจนหมดแล้ว ถามตัวเองอีกทีว่า “จำเป็นมั้ย”  แล้วถ้าคำตอบที่ได้ คือ “มันจำเป็น จริงจิ๊งงงง” ก็อาจจะถามย้ำเพื่อความแน่ใจอีกครั้งว่า “คุ้มมั้ย”ความคุ้มค่าของเงินที่ต้องผ่อนรถ อาจจะเทียบกับเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น เทียบกับโอกาสในการหารายได้เพิ่ม หรือ เทียบกับประโยชน์ที่จะนำเงินที่จะผ่อนรถไปใช้ทำอย่างอื่นเพราะเราอาจจะมีสารพัดเหตุผลมาหลอกตัวเองได้ว่า เฮ้ย! มันจำเป็น เพราะโน่น นี่ นั่น แต่ถ้าถามว่า คุ้มมั้ย... อันนี้หลอกกันยาก สาเหตุที่เราต้องถามแล้วถามอีก ก็เพราะเหตุผลที่จะทำให้เรายอมควักกระเป๋าเดือนละเป็นหมื่นเป็นค่าผ่อนรถ มันต้องหนักแน่นและดีพอจริงๆ 

2. ซื้อรถอะไรดี พอตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่า “จำเป็น” ต้องซื้อรถ เช็คลิสต์ข้อต่อไป คือ แล้วจะซื้อรถอะไรดี เพราะรถแต่ละประเภท แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น ก็มีข้อดี ข้อด้อยต่างกันไป เราต้องเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น ใช้งานในเมือง หรือ ต่างจังหวัด เป็นครอบครัวใหญ่ หรือ ครอบครัวเล็ก แต่ที่สำคัญ คือ ต้องเลือกให้เหมาะกับกระเป๋าเงินของเรามากที่สุด 

ลองประเมินความสามารถในการซื้อรถคร่าวๆ ดูก่อน เช่น รายได้ต่อเดือนไม่ควรต่ำกว่า 30,000 บาท เพราะถ้ารายได้น้อยกว่านี้อาจจะผ่อนไหว แต่น่าจะทำให้สถานะการเงินตึงเกินไป ทำให้น่าเป็นห่วงหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะขยับตัวได้ลำบาก โดยเฉพาะคนที่มีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ร่วมด้วย ถ้าไม่มีภาระหนี้อื่นๆ ไม่ควรผ่อนรถเกิน 50% ของรายได้ จะได้เหลืออีก 50% ไว้กิน ไว้ใช้ ไว้ออม เพราะต้องไม่ลืมว่าเมื่อมีรถขับ ไม่ได้มีแค่ค่าผ่อนรถที่รออยู่ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อม ภาษีโดยรวมๆ แล้วต้องมีค่าใช้จ่าย บวกกับค่าผ่อนโน่น ผ่อนนี่ ไม่เกิน 80% ของรายได้ จะได้มีเงินออม เผื่อไว้ใช้ฉุกเฉินประมาณ 20% ของรายได้ หรือ ถ้าประเมินแล้ว “มือหนึ่งไม่ไหว ชั้นเต็มใจขอซื้อแค่มือสอง” เพราะราคาถูกกว่ากันเยอะ  แต่ก่อนจะปักใจกับรถคันไหน ต้องไปลองขับ ลอง Test Drive ให้ชุ่มปอด เพราะเงิน (ยัง) อยู่ในมือเรา เราจะทำอะไรก็ได้

3. มีเงินดาวน์พอไหมเดี๋ยวนี้ ออกรถใหม่ป้ายแดงไม่ใช่เรื่องยากมาก เพราะบางครั้งค่ายรถยนต์จะให้ “ส่วนลด” โดยที่เปิดช่องให้เราสามารถนำส่วนลดมาแทนเงินดาวน์ได้ ทำให้ใช้เงินดาวน์ไม่มาก แต่เพื่อความสบายใจ เราควรจะมีเงินดาวน์เตรียมไว้ประมาณ 25% ของราคารถที่จะซื้อ และยิ่งวางเงินดาวน์มากก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เป็นหนี้น้อยลง แถมยังได้ดอกเบี้ยถูกลงด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้ยังมีเงินก้อนไม่มากพอ ก็เริ่มต้นเก็บเงินกันก่อน โดยอาจจะเก็บเงินไว้ใน “เงินฝากปลอดภาษี” ที่เก็บออมทุกเดือน เดือนละเท่าๆ กัน ก็น่าดี เพราะจะได้รู้ด้วยว่า ถ้าถึงเวลาต้องผ่อนจริง เราจะสามารถหรือไม่

4. ดอกเบี้ยเท่าไรเห็นดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์แล้วตื่นเต้น เพราะมันแค่ไม่กี่เปอร์เซนต์... ถูกมากๆ แต่เห็นตัวเลขแค่ 2-3% อย่าได้ชะล่าใจ เพราะ ดอกเบี้ยผ่อนรถ ไม่เหมือนดอกเบี้ยผ่อนบ้าน ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านจะเป็นอัตราดอกเบี้ยแท้จริง หรือ มักเรียกกันว่า ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) หมายความว่า ดอกเบี้ยจะคำนวณจากเงินต้นคงเหลือ เพราะฉะนั้นเมื่อผ่อนไปนานๆ เงินต้นเหลือน้อยลง ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็จะน้อยลงตามไปด้วย... เงินต้นลด ดอกเบี้ยลดดอกเบี้ยของการเช่าซื้อรถยนต์ จะเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat Rate) โดยที่จะคำนวณดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่วันที่ทำสัญญา และต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือน ไปจนกว่าจะครบกำหนด... ดอกเบี้ยไม่ลด แม้เงินต้นจะลด ยิ่งเลือกระยะเวลาผ่อนนาน ก็ยิ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น เพราะฉะนั้นให้เลือกดอกเบี้ยน้อย ผ่อนหมดไวจะประหยัดดอกเบี้ยไปได้เยอะ

เคล็ดลับง่ายๆ ถ้าอยากรู้ว่า อัตราดอกเบี้ยคงที่จะเป็นเท่าไรเมื่อคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ให้คูณด้วย 1.8 เช่น ดอกเบี้ยคงที่ 2.75% เท่ากับดอกเบี้ยลดต้นลดดอก 4.95%

5. ผ่อนได้ (ตลอดหรือไม่

แม้ว่า ดาวน์น้อยผ่อนนาน ดอกเบี้ยจะบานนนนน แต่ความพยายามจะเร่งระยะเวลาผ่อนให้สั้นลง เพื่อจะจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงก็ต้องประเมินตัวเองด้วยว่า “ไหวมั้ย” เพราะยิ่งมีระยะเวลาการผ่อนสั้นลงจะทำให้จำนวนเงินผ่อนต่อเดือนเพิ่มขึ้น เพราะวิธีการคำนวณหาเงินผ่อนต่อเดือนจะเงินต้น บวกกับดอกเบี้ยที่คำนวณได้ มาหารด้วยจำนวนเดือนที่จะผ่อน จะได้ออกมาเป็นจำนวนเงินที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือน

ถ้าอยากผ่อนไว จ่ายดอกเบี้ยน้อย แล้วเลือกผ่อน 3 ปี จ่ายเดือนละเกือบ 20,000 บาท ไหวมั้ย เพราะถ้าไม่ไหว จ่ายไม่ได้จะปวดใจในภายหลัง เพราะผ่อนไม่ได้กลายเป็นหนี้เสีย นอกจากประวัติจะเสียแล้วยังอาจจะถูกไฟแนนซ์มายึดรถไปก็ได้ 

6. ค่าใช้จ่ายจากการมีรถ พร้อมจ่ายมั้ย 

อย่างที่บอกไปแล้วว่า การซื้อรถไม่ได้มีแค่ค่าผ่อนรถ เพราะยังมีรายจ่ายจิปาถะอันเกี่ยวเนื่องจากรถตามมาอีกเป็นขบวน เช่น

  • ค่า พ.ร.บ.
  • ค่าต่อทะเบียน
  • ค่าประกันภัย
  • ค่าบำรุงรักษา
  • ค่าน้ำมัน
  • ค่าทางด่วน
  • ค่าที่จอดรถ
  • ค่าล้างรถ

 เพราะฉะนั้นอย่าลืมเก็บไว้เป็นเช็คลิสต์ด้วยว่า เตรียมพร้อมไว้สำหรับรายจ่ายพวกนี้แล้วหรือยัง

7. ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

จริงๆ แล้ว เอกสารที่ใช้ประกอบการกู้ไม่ได้ยุ่งยากมากมายเลย เพราะใช้เพียงสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งมีกันอยู่แล้วทั้งผู้กู้และผู้ค้ำประกัน  แต่ที่ต้องเพิ่มเข้ามา คือ หลักฐานทางการเงิน ของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน เช่น 

  • สลิปเงินเดือน หรือ หนังสือรับรองเงินเดือน 
  • รายการเดินบัญชี หรือ Statement ย้อนหลัง 6 เดือน ซึ่งหากไม่ได้คอย “อัพบุ๊ค” กันเป็นประจำก็ต้องไปขอที่ธนาคารเจ้าของ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย และใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ (แล้วแต่ข้อกำหนดของธนาคาร)

8. มีคนค้ำประกันมั้ย

เป็นเรื่องปวดหัวอีกอย่างหนึ่งของคนอยากซื้อรถ เพราะต้องไปหา “คนค้ำประกัน” ที่หากไม่สนิทกันจริงก็ไม่กล้าไปขอความช่วยเหลือ และถ้าไม่รักกันจริงก็ไม่ยอมค้ำประกันให้แน่ๆ เพราะหน้าที่ของคนค้ำประกันจะต้องจ่ายหนี้แทนเรา ถ้าเราไม่จ่ายหนี้ให้ไฟแนนซ์แต่ถ้าดาวน์เยอะ ประวัติเยี่ยม มีรายได้เป็นหลักแหล่ง ก็อาจจะไม่ต้องใช้คนค้ำประกันได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของไฟแนนซ์แต่ละแห่ง

  • ดาวน์เยอะ อาจจะหมายถึง วางเงินดาวน์ตั้งแต่ 20%-30% ขึ้นไป แต่ถ้าไม่มีงานประจำอาจจะต้องดาวน์ถึง 50%
  • ประวัติเยี่ยม คือ ไม่มีประวัติเป็นหนี้เสีย หรือ ค้างชำระกับเจ้าหนี้อื่นมาก่อน รวมถึงมีภาระหนี้รวมไม่สูงเกินไป
  • มีรายได้เป็นหลักแหล่ง เช่น เป็นมนุษย์เงินเดือน ที่ทำงานมีแนวโน้มมั่นคง ฐานเงินเดือนสูงพอ

เจอเช็คลิสต์ไปยาวเหยียด จนหลายคนอาจจะร้องว่า อยากมีรถซักคัน มันต้องขนาดนี้เลยหรอ... ใช่แล้วค่ะ เพราะว่า “รถมีแต่ลด เพราะซื้อปุ๊บราคาตกปั๊บ” เพราะฉะนั้นต้องคิดให้รอบคอบกันสักหน่อยนอกจากนี้ คนที่คิดจะ ซื้อรถก่อนซื้อบ้าน ยิ่งต้องรอบคอบมากขึ้น เพราะการมีภาระผ่อนรถจะทำให้ธนาคารมองว่า “ความสามารถในการผ่อนชำระ” ของเราเหลือน้อยลง อาจจะอนุมัติยากขึ้น เอ... หรือ เราจะไปเริ่มกันที่การเก็บเงินซื้อบ้าน (หรือ คอนโด) สักหลังกันก่อนดีกว่า


DokChanMoney

DokChanMoney

FULL PROFILE