รู้ไว้ไม่พลาด 5 อย่างต้องมี ก่อนยื่นภาษีโค้งสุดท้าย

17 13

สวัสดีค่ะ “นักสืบดอกจัน*” รายงานตัวค่ะ  (ดอกจันนะคะ ดอกจัน คนละอย่างกับดอกไม้จันท์นะคะ อย่าเข้าใจผิด... คนละดอกกันค่ะ) สงสัยกันล่ะสิว่า ยัยชื่อประหลาดนี่เป็นใคร จริงๆ แล้ว พวกเราเป็นเกิร์ลกรุ๊ป ที่มีภารกิจที่จะทำให้สาวๆ Jeban ทั้งสวยและรวยมากกกกพอพูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็อย่ารอช้าไปเริ่มกันเลยค่ะ เพราะสมัยนี้เวลาเป็นเงินเป็นทอง และนี่ก็เผลอแป๊บเดียวเข้ามาถึงเดือน มี.ค. ใครยังไม่ได้ยื่นภาษีก็ต้องรีบแล้วล่ะค่ะ เพราะเข้าโค้งสุดท้ายสำหรับการยื่นภาษีปี 2559 กันแล้ว และเพื่อความชัวร์ ก่อนจะยื่นภาษีจะต้องมี 5 ข้อต่อไปนี้

1. มีรายการลดหย่อนภาษี

เชื่อหรือไม่ว่า ในปี 2559 มีรายการลดหย่อนภาษีทั้งหมด 21 รายการ มากมายจนจำกันไม่ไหว โดยเฉพาะรายการลดหย่อนแบบ “เฉพาะกิจ” เป็นรายการพิเศษเฉพาะปี 2559 ไม่ว่าจะเป็น

  • ค่าบริการท่องเที่ยวในประเทศ  
  • ค่าลดหย่อนกินเที่ยวช่วงสงกรานต์   
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  
  • ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ (ช็อปช่วยชาติ)  

เพราะฉะนั้นต้องจดบันทึกรายการลดหย่อนภาษีเอาไว้กันลืม (แต่ถ้าปีที่แล้วไม่ได้ทำไว้ก็ไม่เป็นไร ปีนี้เอาใหม่ จะได้ไม่พลาดรายการลดหย่อนภาษีที่มีสิทธิ) แต่ถ้าไม่ได้จดเอาไว้ก็ใช้ “Check List รายการค่าลดหย่อนปีภาษี 2559” อันนี้ได้เลย รับรองไม่มีรายการตกหล่นแน่นอน

2. มีเอกสารและหนังสือรับรอง

แม้ว่า จะเป็นการยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต ที่ไม่ต้องแนบเอกสารหลักฐานอะไรตอนที่ทำรายการ แต่ก็ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อมไว้นะคะ เพราะว่าถ้าสรรพากรสงสัยตรงไหน รายการอะไร ก็มีสิทธิเรียกให้ส่งเอกสารไปให้เพิ่มเติม โดยมากรายการที่จะโดนเรียกเอกสารเพิ่มจะเป็นรายการที่เพิ่งจะใช้สิทธิลดหย่อนเป็นปีแรก หรือ รายการลดหย่อนที่ใช้สิทธิมากผิดปกติ หรือ รายการลดหย่อนที่ดูแล้วน่าสงสัย เช่น เงินบริจาคอีกรายการหนึ่งที่มักจะเป็นปัญหา คือ ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา (ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทในปีภาษีนั้น) เพราะพี่น้องมักจะใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำซ้อนกัน ถ้าเกิดกรณีพี่ใช้สิทธิแล้ว น้องมาใช้สิทธิซ้ำอีก สรรพากรไม่ได้ดูว่า ใครยื่นภาษีก่อนหลัง แต่จะให้สิทธิกับคนที่มีหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดามารดา (ล.ย.03) เท่านั้น (สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/tax_pdf/pit/ly03_190160.pdf)และถึงปีนี้จะไม่ถูกเรียกเอกสารเพิ่มก็ต้องเก็บไว้นานกว่า 5 ปี เพราะสรรพากรมีสิทธิประเมินภาษีย้อนหลังได้ไม่เกิน 2 ปี แต่ถ้าพบว่า มีการเลี่ยงภาษีก็สามารถขยายเวลาการประเมินไปได้ถึง 5 ปีเพราะฉะนั้นบรรดาเอกสารภาษีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุน ใบอนุโมทนาบัตร รวมทั้งใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีสำหรับรายการลดหย่อนพิเศษในปี 2559 ต้องเก็บเอาไว้อย่างดี หรือจะสแกนเก็บเป็นไฟล์เอาไว้ก็จะสะดวกดี

3. มีอินเตอร์เน็ต

นอกจากการยื่นภาษีทางอินเตอร์เน็ต สะดวกรวดเร็วแล้ว สรรพากรยังเปิดให้ยื่นได้ถึงวันที่ 10 เม.ย. 2560 จากปกติที่จะเปิดให้ยื่นแบบฯ ภายในสิ้นเดือน มี.ค. ถ้าพร้อมจะยื่นภาษีแล้วก็เข้าไปที่ www.rd.go.th จะมีหัวข้อ Hotlink คลิกเข้าไปจะไปที่หน้า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91 ยื่นด้วยตนเองถ้าไม่เคยยื่นภาษีทางอินเตอร์เน็ตก็ต้องเริ่มจากลงทะเบียนกันก่อนค่ะ หลังจากนั้นก็กรอกข้อมูลส่วนบุคคลและยืนยันการลงทะเบียน ก็จะได้หมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่าน (ปีหน้าก็ใช้รหัสนี้ได้เลยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำอีก) เรียบร้อยแล้ว เราจะยื่นแบบทันที หรือจะไว้ยื่นทีหลังก็ได้นอกจากนี้ สรรพากรมีโปรแกรมช่วยคำนวณจะดาวน์โหลดมาลองคำนวณภาษีดูก่อนก็ได้ ถึงเวลายื่นจริงจะได้ไม่งง

4. มีพร้อมเพย์

ปกติการยื่นภาษีผ่านอินเตอร์เน็ตก็มักจะได้รับเงินภาษีคืนเร็วกว่าการยื่นแบบกระดาษอยู่แล้ว (โดยเฉพาะคนที่ยื่นตั้งแต่ช่วงแรกๆ และไม่ต้องยื่นเอกสารเพิ่ม) แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่จะได้รับเงินคืนภายใน 3 วันทำการหลังจากที่ได้รับการอนุมัติคืนเงินภาษีแล้ว ถ้าลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยหมายเลขบัตรประชาชนไว้แล้ว

เพราะฉะนั้นถ้าอยากได้เงินคืนแบบรวดเร็วทันใจก็ต้องไปสมัครใช้บริการพร้อมเพย์ให้เรียบร้อยก่อน จะเป็นพร้อมเพย์ของธนาคารไหนก็ได้ไม่จำกัด แต่ถ้าไม่มีพร้อมเพย์ สรรพากรบอกว่าอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 45 วันกว่าที่จะได้เช็คคืนภาษี 

5. มีสติ!

ใช่แล้วค่ะ สติค่ะ ท่องไว้นะคะว่า การยื่นภาษีทางอินเตอร์เน็ตต้องใช้สติมากๆ เพราะถ้าทำรายการผิดและยืนยันการยื่นแบบไปแล้ว ไม่มีสิทธิแก้ไขแล้วนะคะ เริ่มตั้งแต่เลือกประเภทรายได้ค่ะ เพราะรายได้ที่แตกต่างกันบางรายการจะมีผลกับการหักค่าใช้จ่าย  

  • ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเดียว มีรายได้จากการจ้างงานเพียงอย่างเดียวก็ง่ายหน่อย เลือกแบบ ภ.ง.ด.91 โดยหักค่าใช้จ่ายได้ 40% ของเงินได้แต่รวมกันแล้วต้อง ไม่เกิน 6 หมื่นบาท
  • แต่ถ้าทำอาชีพอิสระ หรือ มีรายได้หลายทาง ต้องยื่นด้วย ภ.ง.ด.90 และรายได้บางประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง หรือ บางประเภทไม่อนุญาตให้หักค่าใช้จ่าย 
พอถึงขั้นตอนการกรอกแบบภาษี สาวๆ ที่ไม่ค่อยชอบตัวเลขอาจจะเริ่มมึนเล็กน้อย เพราะมีแต่ตัวเลขเต็มไปหมด สูดหายใจลึกๆ และตั้งสติ ค่อยกรอกตัวเลขลงไป ขอแค่ให้ถูกช่อง และถูกต้องก็พอ

หลังจากยื่นเรียบร้อยแล้ว ถ้าได้ภาษีคืนและต้องการขอคืนภาษี อย่าลืมคลิกที่หัวข้อ “ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกิน” เช็คให้ชัวร์ก่อนจะกดปุ่มยืนยัน และถ้าเราถูกหักภาษีไว้น้อยกว่าจำนวนที่ต้องจ่ายจริง ก็สามารถเลือกได้ว่าจะไปจ่ายภาษีเพิ่มด้วยวิธีไหน หรือจะเลือกผ่อนชำระภาษีหรือไม่ (ถ้าเสียภาษีเกิน 3,000 บาท สามารถเลือกผ่อนชำระได้ 3 งวด) จะได้ไม่เป็นภาระหนักในครั้งเดียวเท่านี้ก็เรียบร้อยแล้วสำหรับการยื่นภาษีในโค้งสุดท้าย 

และถ้าได้ภาษีคืนก็อย่าเผลอใจเอาไปช็อปจนหมดนะคะ เก็บไว้เป็นเงินออม หรือ เอาไปลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก็น่าสนใจ เพราะจะได้เอาไปลดหย่อนภาษีปี 2560 ได้อีกต่อหนึ่ง แล้วกลับมาพบกัน นักสืบดอกจัน* กับเรื่องเงินๆ ทองๆ สวยและรวยด้วย กับเทคนิคการออมและใช้เงินอย่างฉลาดกันได้ใหม่ ตอนนี้ขอตัวไปยื่นภาษีก่อนค่าาา


DokChanMoney

DokChanMoney

FULL PROFILE