Information เรื่องเมลามีน

4 5

ถามตอบ เรื่องเมลามีน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา   กระทรวงสาธารณสุข

อะไรคือเมลามีน

เมลามีน (Melamine) เป็นสารอินทรีย์เคมี โดยทั่วไปพบในรูปของผลึกสีขาว ละลายน้ำได้เล็กน้อย มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบถึง ร้อยละ 66 มีชื่อทางเคมีคือ 1,3,5-triazine-2,4,6-triamine   ในปัจจุบันการผลิตสารเมลามีนจะใช้ยูเรีย (Urea) เป็นวัตถุดิบ ซึ่งยูเรียจะแตกตัวออกได้เป็นสารเมลามีน แอมโมเนีย และกาซคาร์บอนไดออกไซด์

มีการใช้เมลามีนในเรื่องใดบ้าง

เมื่อเอาเมลามีนมาผสมกับฟอร์มาลดีไฮด์ จะได้เป็นเมลามีนเรซิน (Melamine resin) เป็นพลาสติกที่ขึ้นรูปด้วยความร้อน มีความทนทาน  มีการนำมาใช้ในผลิตโฟมทำความสะอาดพื้นผิว   แผ่นฟอร์ไมกา กาว จานชาม ไวท์บอร์ด เป็นต้น

ทำไมจึงมีการเติมเมลามีนในนมและอาหารสูตรทารก

 เหตุการณ์เกิดขึ้นที่จีน  เนื่องจากมีการเติมน้ำลงในน้ำนมดิบที่ส่งขายให้กับโรงงานที่ผลิตอาหารต่าง ๆ เช่น นมผง อาหารทารก เป็นผลให้ปริมาณโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐาน บริษัทที่ใช้น้ำนมดิบในการผลิตอาหารนั้น จะมีการตรวจสอบปริมาณโปรตีนในน้ำนมดิบก่อน ดังนั้นน้ำนมดิบที่มีการเติมน้ำจึงถูกปฏิเสธ ผู้ผลิตน้ำนมดิบจึงนำเมลามีนซึ่งมีปริมาณไนโตรเจนสูงมาเติมเพื่อเพิ่มปริมาณไนโตรเจนในนมเพื่อให้ผลวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนออกมาได้ตามมาตรฐาน โดยไม่ได้คำนึงว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ทำให้เด็กทารกเจ็บป่วยนับหมื่นคนจากนิ่วในไต  และมีเด็กทารกเสียชีวิตจากอาการไตวาย 4 คน

องค์การอนามัยโลก หรือไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ๆ ไม่อนุญาตให้มีการเติมเมลามีนลงไปในอาหาร

ในอาหารอื่น ๆ มีการพบเมลามีนปนเปื้อนหรือไม่

ในปี 2550 พบมีการปนเปื้อนเมลามีนในโปรตีนข้าวสาลีและข้าวที่นำเข้ามาจากจีนเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผลให้สุนัขและแมวจำนวนมากตายเนื่องจากไตวาย ซึ่งจากการตรวจสอบในสัตว์ที่ตาย พบผลึกเมลามีนไซยานูเรต นั่นหมายความว่าในอาหารสัตว์นั้นมีการเติมทั้งเมลามีน และกรดไซยานูริก

ในสถานการณ์ปัจจุบันนอกจากพบการปนเปื้อนในนมผงสำหรับทารกแล้ว หลายประเทศพบว่ามีการปนเปื้อน   เมลามีนในผลิตภัณฑ์อื่นที่มีการนำน้ำนมดิบที่มีการปนเปื้อนเมลามีนไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วย เช่น โยเกิร์ต เครื่องดื่มกาแฟกระป๋อง คุกกี้ ช็อกโกแลต เป็นต้น

หากกินอาหารที่ปนเปื้อนเมลามีนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร

ตัวเมลามีนเดี่ยว ๆ มีความเป็นพิษต่ำมาก ไม่เป็นพิษต่อสารก่อพันธุกรรม แต่เมื่อให้ในปริมาณสูง ก็ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะในหนูทดลอง เนื่องจากเมลามีนทำให้เกิดก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ตัวก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา กระตุ้นให้เกิดก้อนมะเร็ง ตัวเมลามีนเองไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะโดยตรง แต่ก็ถือเป็นตัวการทางอ้อม แต่ถ้าเมลามีนเกิดไปเจอกับกรดไซยานูริก (Cyanuric acid) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ผลิตจากยูเรียเช่นเดียวกับเมลามีน และอาจมีการปนเปื้อนมากับ เมลามีน หรือมีการผสมไปกับอาหารหรืออาหารสัตว์เพื่อเพิ่มโปรตีน ก็จะเกิดผลึกเมลามีนไซยานูเรต (Melamine cyanurate) ซึ่งเป็นผลึกที่ไม่ละลายน้ำ ส่งผลให้เกิดนิ่วในไต ก้อนผลึกเล็ก ๆ จะอุดตันท่อในไต ทำให้ไม่สามารถผลิตปัสสาวะได้ ส่งผลให้ไตวายและทำให้เสียชีวิตได้  ในบางโอกาส เมลามีนยังก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในคน  แม้ยังไม่เคยมีการศึกษาโดยตรงในคน แต่การศึกษาในสัตว์ทดลองก็พอจะคาดการณ์ถึงอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน

ทำไมข่าวที่ออกมาพบว่าเมลามีนก่อให้เกิดอันตรายเฉพาะเด็กทารก

แม้เมลามีนจะมีความเป็นพิษต่ำ แต่เนื่องจากทารกดื่มนมที่มีการจงใจเติมเมลามีนลงไป และเป็นการดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ได้รับเมลามีนในปริมาณที่สูงติดต่อกัน จึงทำให้เกิดนิ่วในไต และอาการไตวาย ตามที่เป็นข่าว สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบ หากนมนั้นมีการปนเปื้อนเมลามีน ผู้บริโภคก็จะได้รับ  เมลามีนไม่มาก เพราะส่วนประกอบที่เป็นนมมักจะมีไม่มาก และไม่ได้มีการกินเป็นอาหารหลักอย่างเช่นทารก ที่สำคัญอีกประการ คือ ระบบการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายของทารกยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าของผู้ใหญ่ จึงได้รับอันตรายได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่  นมที่มีความปลอดภัยและมีประโยชน์สูงสุดสำหรับทารก ก็คือ นมแม่ หากคุณแม่ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพจนไม่สามารถให้นมลูกได้ ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการดีที่สุด ทั้งปลอดภัย ได้ประโยชน์ แถมประหยัด

ลักษณะอาการที่เกิดกับทารกที่ได้รับอันตรายจากเมลามีนเป็นอย่างไร

จากการติดตามอาการของทารกที่เจ็บป่วยจากการบริโภคนมสูตรทารกที่ปนเปื้อนเมลามีน พบว่ามีอาการ ดังนี้ คือ ร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่มีการถ่ายปัสสาวะ หรืออาจมีอาการอาเจียน  ม่านตามีการหดตัว  ภาวะไตวายเฉียบพลัน  มีก้อนแข็งออกมาขณะที่มีการขับถ่ายปัสสาวะ  และความดันโลหิตสูง มีอาการบวมน้ำ และมีอาการปวดเมื่อมีการกระทบถูกที่บริเวณไต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกเชื่อว่า อาจจะทำให้เกิดภาวะไตวายที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยอาจมีไข้ที่ไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากทางเดินปัสสาวะอักเสบ  ติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะในขั้นต่อมา

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าได้รับพิษจากเมลามีน

อาการที่อาจบอกได้ว่าได้รับพิษจากเมลามีน คือ อาการระคายเคือง  มีเลือดในปัสสาวะ  ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย  อาการไตอักเสบ ความดันโลหิตสูง

จาน ชาม ที่ทำจากเมลามีนมีความปลอดภัยหรือไม่

การนำเมลามีนมาผลิตจาน ชาม นั้น ไม่ได้ใช้เมลามีนเดี่ยว ๆ แต่เขาเอายูเรียมาผสมกับฟอร์มาลดีไฮด์ภายใต้ความร้อนและแรงดันที่สูง ได้เป็นเมลามีนเรซิน เพื่อนำไปขึ้นรูปเป็นจาน  ชาม และผลิตภัณฑ์อื่น   ด้วยความร้อน  จาน ชาม เมลามีน จึงทนความร้อนได้สูงกว่าพลาสติกอื่น ๆ แต่หากถูกความร้อนที่สูงมาก  เช่น  เอาเข้าเตาอบ หรือเอาเข้าเตาไมโครเวฟ จะทำให้จาน ชาม เมลามีน อ่อนตัวและปล่อยฟอร์มาลดีไฮด์ออกมา เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้   ถ้าจานชามเมลามีนไม่เปลี่ยนสีชัดเจน ก็ยังใช้ได้อย่างปลอดภัย

ถ้ากินอาหารที่มีเมลามีนปนเปื้อนเล็กน้อยจะเป็นอันตรายหรือไม่

สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดค่าปนเปื้อนสูงสุดที่ร่างกายได้รับต่อวันโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือ Tolerable Daily Intake (TDI) โดยสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ 0.63 มก.ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ขณะที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ที่ 0.50 มก.ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ดังนั้น ถ้าเรามีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม เราต้องได้รับเมลามีน 25 มก.ต่อวันถึงจะเป็นอันตราย ถ้าหากนมที่เราดื่มมีการปนเปื้อน   เมลามีน 1 มก.ต่อน้ำหนักนม 1 กิโลกรัม นม 1 กล่อง มีปริมาณ 250 กรัม เราต้องกินนมถึง 100 กล่องต่อวัน ถึงจะเป็นอันตราย   แต่ถ้าเป็นเด็ก เช่น เด็กที่มีน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ก็จะต้องกินนมถึง  40  กล่อง จึงจะได้รับอันตราย    

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการปนเปื้อนเมลามีนจากธรรมชาติ

การปนเปื้อนเมลามีนในนมที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเกิดจากการจงใจใส่ลงไปเพื่อเพิ่มไนโตรเจน จึงมีปริมาณเมลามีนสูงในนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำนมที่ปนเปื้อนนั้น แต่ในธรรมชาติก็อาจมีการปนเปื้อนได้ เนื่องจากมีการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีส่วนประกอบของสารไซโรมาซีน (cyromazine) ในการกำจัดหนอนแมลง สารนี้มีสูตรโครงสร้างเหมือนกับเมลามีน เมื่อสัตว์กินเข้าไป หรือพืชดูดซึมเข้า สาร  ไซโรมาซีนจะแตกตัวได้เป็นเมลามีน จึงมีโอกาสตกค้างไปกับอาหารได้ แต่จะมีปริมาณตกค้างที่น้อยมากอยู่ในค่าเกณฑ์ความปลอดภัย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย.ได้ดำเนินการออกมาตรการดูแลอย่างไร

หลังจากที่เกิดข่าวขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาตรการต่าง ๆ ดังนี้

·    อายัดนมและผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ ที่มีการนำเข้าจากประเทศจีน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาเมลามีนก่อน หากพบว่ามีความปลอดภัยจึงจะอนุญาตให้นำเข้าได้

·    สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้ามาก่อนแล้ว ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการเก็บลงจากร้านค้าต่าง ๆ ก่อน และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ เมื่อพบว่าปลอดภัยแล้วจึงจะอนุญาตให้นำกลับมาขายได้

·    แจ้งขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง และเข้มงวดการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์นมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบทางชายแดน

·    ประชาสัมพันธ์ไม่ให้ผู้บริโภคซื้อนมผงชนิดแบ่งขาย ซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. หรือไม่ทราบแหล่งที่มา ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเมลามีน เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และให้เกิดความมั่นใจในการทำหน้าที่ของ อย. และให้ผู้บริโภคแจ้งเบาะแสหรือข้อมูล หากพบว่ามีการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อน

·    ตั้งวอร์รูม (war room) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดมาตรการในการดูแลได้อย่างทันท่วงที สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

·    จะออกประกาศห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์นม และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ ที่มีการปนเปื้อนเมลามีน โดยกำหนดนมผงมีเมลามีนปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1 ส่วนต่ออาหารล้านส่วน (ppm) หรือ 1 มิลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และอาหารอื่นที่มีนมเป็นส่วนประกอบจะพบเมลามีนได้ ไม่เกิน 2.5 ส่วนในอาหารล้านส่วน ซึ่งเป็นขนาดที่น้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และในการกำหนดค่าความปลอดภัยนี้ ก็ได้มีการพิจารณาถึงการที่ผู้บริโภคมีโอกาสที่จะได้รับสารเมลามีนจากแหล่งอื่น ๆ ไว้ด้วยแล้ว

จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบให้ปลอดภัยได้อย่างไร

อย. มีการควบคุมการผลิตและนำเข้าอาหารอย่างเข้มงวด อาหารที่ผลิตภายในประเทศต้องได้มาตรฐานตามเกณฑ์จีเอ็มพี และมีการขึ้นทะเบียน มีเครื่องหมาย อย.  อาหารที่นำเข้าก็ต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด และต้องได้รับอนุญาตมีเครื่องหมาย อย. ดังนั้น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารขอให้ดูที่ฉลากเป็นลำดับแรก ว่ามีการแสดงแหล่งประเทศที่ผลิต มีเครื่องหมาย อย. ดูความเรียบร้อยและสมบูรณ์ของภาชนะบรรจุ ว่าสะอาด ไม่มีร่องรอยรั่ว ฉีกขาด ซึ่งจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ได้ และดูสภาพการเก็บรักษา ไม่มีการวางปะปนกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย และเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม  ไม่ควรซื้อนมผงที่มีลักษณะของการตักแบ่งขาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย

 

เอกสารอ้างอิง

ข้อมูลอาหารสัตว์เลี้ยงปนเปื้อนสารเมลามีน. Available: https://www.dld.go.th/dcontrol/Advertise/datafoodanimal.pdf.v                                    
          date:October 2,2008.

เอกสารเตือนภัยฉุกเฉินด้านความปลอดภัยด้านอาหาร ฉบับที่ 2 วันที่ 18 กันยายน 2551 ขององค์การอนามัยโลก.

Cyanuric Acid. available: https://en.wikipedia.org/wiki/Melamine. date:October 2,2008.

Food Survey Information Sheet 04/08” Surveys on chemical migrants from food contact materials and articles and
          formaldehyde from melamine-ware
” available:
          https://www.foodstandards.gov.uk/science/surveillance/fsisbranch2008/chemicalmigration.date:October 2,2008.

Info and Emergency Alert Update No.2 “Melamine contaminated powdered infant formula, China” 18 September 
          2008, Department of Food Safety, Zoonoses and Foodborne diseases, WHO.

Is it safe to use melamine ware?. Available: https://wiki.answers.com/Q/Is_it_safe_to_use_melamine_ware.
         date:October 2,2008.

Melamine .available: https://en.wikipedia.org/wiki/Melamine. date:October 2,2008.


Boonie

Boonie

FULL PROFILE